ตำรวจทลาย'แก๊งโกงกู้' รวบ 14 ผู้ต้องหาหลอกชาวบ้านกู้เงินออนไลน์ แต่หักหัวคิว 75% พบก่อเหตุหลายพื้นที่ มูลค่าความเสียหายกว่า 223 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรานงานว่า เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2564 พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) นำทีมตำรวจร่วมกันแถลงข่าวผลการจับกุมแก๊งโกงเงินกู้ ตามยุทธการสอบสวนกลาง ปราบแก๊งโกงกู้ โดยจับกุมผู้ต้องหา 14 ราย ประกอบด้วย
- นางสาวณัฐกฤตา สุดสน อายุ 46 ปี
- นางสาวพรพรรณ ลำพา อายุ 38 ปี
- นายวิโรจน์ เลิศกิจลักษณ์ อายุ 50 ปี
- นางสาวคฑามาส กิ่งเงิน อายุ 22 ปี
- นายศราวุธ เผ่านักรบ อายุ 28 ปี
- นายจักรณรงค์ พลทะรักษา อายุ 35 ปี
- นายยศวริศ เลิศกิจลักษณ์ อายุ 23 ปี
- นางสาวชุติกาญจน์ เลิศกิจลักษณ์ อายุ 24 ปี
- นางสาวกมลทรรศน์ คำโสดดา อายุ 31 ปี
- นายก้องเกียรติ ทาชมภู อายุ 24 ปี
- นางศศิธร พลทะรักษา อายุ 35 ปี
- นางสาวพวงเพ็ญ ลำพา อายุ 40 ปี
- น.ส.สุพัตรา สุริยา อายุ 31 ปี
- นางสาวศิริลาวัลย์ พึ่งเกษม อายุ 32 ปี
ทั้งหมดเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 2138-2151/2564 ลงวันที่ 27 ธ.ค. 2564 พร้อมของกลาง บัญชีธนาคาร 65 รายการ, โทรศัพท์มือถือ 78 เครื่อง, เอกสารเกี่ยวกับการทำธุรกรรม 16 รายการ, เอกสารเกี่ยวกับคดี 14 รายการ, บัตรอิเล็กทรอนิกส์ 9 ใบ, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 1 รายการและของกลางอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 207 รายการ รวมมูลค่ากว่า 2,383,600 บาท
พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด ที่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ เป็นเหตุให้การดำรงชีพของประชาชนเป็นด้วยความยากลำบาก ขาดสภาพคล่องและเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก ประกอบกับที่ผ่านมาประสบปัญหาจากหนี้นอกระบบ ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแก๊งหมวกกันน็อค, แอปพลิเคชันเงินกู้เถื่อนผิดกฎหมาย ฯลฯ
รัฐบาลจึงมีนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์ออกมาตรการที่ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ต่อมาธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ได้ออกผลิตภัณฑ์ให้สินเชื่อในรูปแบบออนไลน์ โดยประชาชนสามารถขอสินเชื่อผ่านสมาร์ทโฟนได้ตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด ซึ่งหากเอกสารครบถ้วนตามหลักเกณฑ์จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อภายใน 30 นาที ทำให้ประชาชนได้รับอนุมัติวงเงินกู้เร็วขึ้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบในรูปแบบต่าง ๆ
ต่อมากลุ่มมิจฉาชีพ เห็นช่องโอกาสจากมาตรการดังกล่าว จึงหลอกลวงประชาชนที่ขาดรายได้และต้องการเข้าถึงแหล่งทุน โดยออกกลอุบายชักชวนว่าสามารถหาแหล่งเงินทุนให้ได้ เพียงแค่นำบัตรประชาชนใบเดียวมาให้ ก็สามารถกู้เงินได้
จนกระทั่งเมื่อประมาณ ต้นเดือน ส.ค.2564 ได้มีประชาชนในพื้นที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนว่า เมื่อประมาณกลางเดือน ก.ค. 2564 ถูกกลุ่มมิจฉาชีพซึ่งเป็นนายหน้าอ้างว่าสามารถหาเงินกู้ให้ได้ จึงหลงเชื่อและมอบบัตรประชาชนให้ไป หลังจากนั้นกลุ่มมิจฉาชีพพาไปสแกนใบหน้ากลางป่าในพื้นที่ อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว โดยอ้างว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งของการยื่นกู้ จากนั้นประมาณ 1 เดือน กลุ่มมิจฉาชีพได้นำโทรศัพท์สมาร์ทโฟนมามอบให้ พร้อมกับเงินประมาณ 4 หมื่นกว่าบาท ซึ่งอยู่ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ต่อมาประชาชนกลับได้รับใบแจ้งหนี้จากธนาคารว่าตนเองเป็นหนี้ 160,000 บาท จึงได้พากันมาร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน จากกรณีดังกล่าวทำให้พี่น้องประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน ตกเป็นลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์โดยไม่รู้ตัว แต่ได้รับเงินจริงเพียง 1 ใน 4 ของยอดเงินกู้ โดยคนร้ายได้เงินไปจำนวนมาก แต่ภาระหนี้สินตกอยู่กับพี่น้องประชาชนที่ถูกหลอกลวง
พล.ต.ท.จิรภพ จึงสั่งการให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวน จากการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ทำให้ทราบเครือข่ายผู้ที่ร่วมกระทำความผิดในคดีนี้ จนนำไปสู่การขออนุมัติออกหมายจับผู้ต้องหาจำนวน 14 ราย กระทั่งช่วงเช้าที่ผ่านมาได้ปิดล้อมตรวจค้น จับกุมผู้ต้องหาในคดีนี้ ใน10 จุด ในพื้นที่ กบินทร์บุรี, ปราจีนบุรี, พัทยา, สระแก้ว, นครราชสีมา, สมุทรสงคราม และฉะเชิงเทรา เพื่อทำการจับกุมผู้ต้องหา
จากการสอบสวนผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ 13 ราย และให้การปฎิเสธ 1 ราย ทั้งนี้จากแนวทางการสืบสวนพบว่ามีการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยมีการกลุ่มนายหน้ารับผลประโยชน์ ทำหน้าที่ชักชวนและสมัครบัญชีออนไลน์ เพื่อยื่นกู้บัญชีออนไลน์ จากนั้นเมื่อมีการอนุมัติเงินก็จะโอนเงินให้ผู้เสียหาย 25% ส่วนขบวนการนี้จะได้เงิน 75% เมื่อได้เงินมาแล้วก็จะยักย้ายถ่ายเทออกไป อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่ามีการถ่ายเทไปตลอดเส้นทางของขบวนการ และมีบัญชีต้องสงสัยกว่า 40 บัญชี รวมมูลค่าความเสียหายตอนนี้ 223 ล้านบาท ภายในเวลา 3 เดือนที่ก่อเหตุ
เบื้องต้นตำรวจแจ้งข้อหาร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม ร่วมกันฉ้อโกง,เอาไปซึ่งเอกสารของผู้อื่น โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหาย,ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหาย และนำเข้าซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ก่อนจะนำตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อกลุ่มมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอให้ระมัดระวังในการใช้บัตรประชาชนซึ่งเป็นเอกสารสำคัญทางราชการ คนร้ายอาจนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเจ้าของบัตรได้ และขอฝากพิจารณาให้รอบคอบว่าไม่มีสิ่งใดที่จะได้มาโดยง่ายเกินกว่าความเป็นจริงที่ควรจะเป็น ในกรณีที่ท่านประสงค์จะกู้เงิน แต่ไม่สามารถดำเนินการเองได้ ขอให้ติดต่อธนาคารสาขาใกล้บ้านท่านได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องผ่านตัวกลางหรือนายหน้าแต่อย่างใด