พม.จัดงานวันคนพิการสากล ประจำปี 2564 ตั้งเป้าพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการหลังโควิด ตามแนวทาง UN พร้อมเปิดใช้งานแอปพลิเคชันบัตรประจำตัวคนพิการเป็นวันแรกผ่านโทรศัพท์มือถือระบบ Android และ iOS อย่างเป็นทางการ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2564 นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดงานวันคนพิการสากล ประจำปี 2564 และมีการเปิดใช้งานแอปพลิเคชันบัตรประจำตัวคนพิการดิจิทัลเป็นวันแรกอย่างเป็นทางการ พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้กับคนพิการต้นแบบ 76 จังหวัด
นายจุติ กล่าวว่า วันที่ 3 ธ.ค. ของทุกปีได้กำหนดจัดงาน วันคนพิการสากล เพื่อส่งเสริมความเข้าใจถึงปัญหาความพิการและการสนับสนุนศักดิ์ศรี สิทธิ และความเป็นอยู่ที่ดีของคนพิการ ทั้งด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ซึ่ง พม. มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้สอดคล้องกับแนวทางขององค์การสหประชาชาติ (United Nation : UN) ที่กำหนดประเด็นหลัก คือ สร้างคืนสังคมให้ดีกว่า โดยมุ่งสร้างสังคมชีวิตวิถีใหม่หลังโควิด-19 ด้วยการรวมคนทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน เพื่อให้คนพิการเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ และพัฒนาศักยภาพของตนเอง นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถอยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ให้ทุกคนดำรงชีวิตอิสระอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน
นายจุติ กล่าวอีกว่า ในปี 2565 รัฐบาลได้กำหนดแนวทาง 'Next Step' คือ การก้าวไปข้างหน้าอย่างเท่าเทียม เพื่อขับเคลื่อนงานด้านคนพิการควบคู่กับการก้าวเข้าสู่ยุคหลังโควิด - 19 โดยยืนยันเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ด้วยการส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ อย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และทั่วถึง ให้กับคนพิการและครอบครัวคนพิการทั่วประเทศ พร้อมทั้งพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และสิ่งอำนวยความสะดวกในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสนับสนุนบทบาทของคนพิการไทย ให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพและร่วมสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศชาติต่อไป
ทั้งนี้ พม. โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มีการเปิดใช้งานแอปพลิเคชันบัตรประจำตัวคนพิการดิจิทัลเป็นวันแรก ผ่านโทรศัพท์มือถือระบบ Android และ iOS อย่างเป็นทางการ และแนะนำวิธีใช้แอปพลิเคชันบัตรประจำตัวคนพิการดิจิทัล ที่สามารถใช้แสดงตัวตนในการติดต่อ แทนบัตรประจำตัวคนพิการรูปแบบปกติ แอปพลิเคชันสามารถใช้งานได้ง่าย กรอกหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักพร้อมกับกรอกเลขวันเกิดจะสามารถ Log in เข้าสู่ระบบได้ ข้อมูลสำคัญของบัตรประจำตัวคนพิการดิจิทัล มีการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลทุกแหล่งมาไว้ในแอปพลิเคชัน ทำให้สามารถรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด ยังสามารถค้นหางาน โดยระบบจะรวบรวมตำแหน่งงานที่ว่างทั้งหมดทั่วประเทศ สามารถขอรับการสนับสนุนทุนในการกระกอบอาชีพผ่านกองทุนสนับสนุนคนพิการผ่านทางระบบแอปพลิเคชันได้ มีสายด่วนให้ความช่วยเหลือทั้งทั่วไปและจำเพาะสำหรับคนพิการ รวมถึงจัดทำข่าวประชาสัมพันธ์อัปเดตเข้าในตัวแอปพลิเคชันด้วย
ด้าน น.ส.สราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กล่าวด้วยว่า ความร่วมมือระหว่างสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในการพัฒนาแอปพลิเคชันประจำตัวคนพิการแบบดิจิทัล จะช่วยสร้างโอกาสและความเสมอภาคแก่คนพิการ เพื่อให้คนพิการได้รับสิทธิสวัสดิการอย่างรวดเร็ว ทั่วถึงแล้วก็เท่าเขียม ซึ่งเราก็ตระหนักว่ายังมีคนพิการอยู่จำนวนหนึ่ง ที่มีความยากลำบากในการที่จะมาจดทะเบียน เพื่อจะมีบัตรประจำตัวคนพิการ แล้วการที่คนพิการไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการนั้น จะทำให้ไม่มีสิทธิ์ ไม่สามารถที่จะเข้าถึงสิทธิ์ ที่รัฐจัดหาให้ได้ ไม่ว่าจะเป็น การรักษาพยาบาล ศึกษา สังคม อาชีพ และก็ด้านอื่น ๆ รัฐบาลก็ได้มีการบรรจุในเรื่องการปฏิรูปการขึ้นทะเบียนคนพิการ ในแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคมขึ้นมา ซึ่ง 1 ในเป้าหมายหลัก คือพัฒนาระบบเพื่อยกระดับการให้บริการคนพิการในรูปแบบดิจิทัล เพื่อจะช่วยให้คนพิการเข้าถึงสิทธิ์และสวัสดิการได้อย่างรวดเร็ว แล้วก็เท่าเทียม ซึ่งเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลง เพื่อการเข้าถึงโดยสะดวกทั่วหน้า สู่โลกใหม่หลังโควิด-19 อย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกันภายในงานจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ ‘Step Out : ก้าวที่กล้า’ มีคนพิการต้นแบบในอาชีพที่หลากหลาย เข้ามาเล่าประสบการณ์ชีวิตเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนพิการ โดย น.ส.ธันย์ ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ สาวน้อยคิดบวก กล่าวว่า เกิดจุดพลิกผันในชีวิตช่วงไปเรียนต่อที่สิงคโปร์ ขณะเดินทางกลับไทย ตนเองตกลงไปในรางรถไฟฟ้า โดนรถไฟทับขาทั้ง 2 ข้าง มันเป็นเรื่องยากแต่ต้องเรียนรู้ ที่จะใช้ชีวิต พัฒนาตนเอง จนมีความสุขมากขึ้นกับการดำเนินชีวิต และภาคภูมิใจกับการได้เป็นคนพิการ ทำให้ได้รับพระราชทานขาเทียมคู่แรกของประเทศไทย
“เมื่อได้รับพระราชทานขาเทียม สิ่งที่ตั้งใจทำอย่างแรก คือ ศึกษาข้อมูลว่าสิทธิคนพิการสามารถเข้าถึงการศึกษาด้านใดได้บ้าง ซึ่งตอนนั้นรัฐส่งเสริมการศึกษาคนพิการ และเราได้รับโอกาสได้ทุนการศึกษาจนจบปริญญาตรี ปัจจุบันตนเองศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาวิชาจิตวิทยา ได้เรียนรู้และเข้าถึงการจ้างงานของคนพิการมากขึ้น ตนเองเชื่อว่ากลุ่มคนพิการในประเทศไทยสามารถพัฒนาศักยภาพ และเข้าถึงการศึกษาได้หลาย ๆ ด้าน ที่สำคัญคนพิการสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง เป็นกระบอกเสียงสื่อสารกับใครหลาย ๆ คน ดังนั้นคำว่า คนพิการ ไม่ได้เป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องยอมรับ แต่เป็นเราเองที่ยอมรับ เปิดใจ และเห็นคุณค่าของคนพิการ” น.ส.ธันย์ กล่าว
ด้านนายยงสิทธิ์ ยงค์กมล นักดนตรีตาบอด เจ้าของรางวัลระดับโลก (VSA International Young Soloists Award 2012) กล่าวด้วยว่า ที่ก้าวมาถึงตรงนี้ได้ตนเองไม่กล้าพูดว่ากล้า เป็นเพราะสังคมช่วยกัน ครอบครัว พ่อ แม่ และครูที่ให้การศึกษา สร้างเราขึ้นมา ประกอบเป็นสังคมที่พยุง นำพา ช่วยเหลือให้ตนเองก้าวออกมาได้
ขณะที่นายภราดร รุ่งเรือง สตรีมเมอร์ไร้แขนที่มีผู้ติดตามมากกว่า 200,000 คน กล่าวอีกว่า ตอนแรกเริ่มเล่นเกม แล้วรู้สึกไม่อินกับเกม อยากทำงาน จึงไปถามน้าว่ามีงานอะไรให้ทำหรือไม่ เพราะว่าเป็นแบบนี้หางานทำยาก น้าจึงแนะนำต่อว่าให้สตรีม แรก ๆ ก็อายคนที่เข้ามาดู พอทำไปเรื่อย ๆ ก็ชินเป็นปกติ มีคนที่เข้ามาเห็นให้กำลังใจ เลยได้ทำมาถึงทุกวันนี้
และ น.ส.ศรัญญา เสนอใจ นางงามไร้เสียง (Miss Deaf Thailand 2020) กล่าวว่า ตอนที่ดูทีวีเห็นคนประกวดแล้วรู้สึกว่า ทำไมไม่มีการประกวดสำหรับคนหูหนวกบ้าง จึงรู้สึกอยากประกวด หลังจากได้เข้าประกวดได้เรียนรู้มีประสบการณ์ ได้ฝึกฝน จนได้ตำแหน่งนี้มา ตนเองรู้สึกมีความสุขมาก
ทั้งนี้ พม.ได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้กับคนพิการต้นแบบ 76 จังหวัด เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ และมอบให้กับองค์กรที่สนับสนุนงานด้านคนพิการ รวมทั้งองค์กรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานองค์กรด้านคนพิการหรือองค์กรอื่นใดที่ให้บริการแก่คนพิการในระดับดีมากด้วย