กสม.ยกกรณีกากสารเคมีตกค้างในโรงงานย่านบางปะกงตรวจสอบอีกครั้ง หลังพบชาวบ้านยังเดือดร้อน พร้อมห่วงโควิดกระทบต่อการเข้าถึงระบบการศึกษา-สุขภาพจิตของเด็ก แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข-ดูแล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2564 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 4/2564 โดย นางปรีดา กล่าวว่า สืบเนื่องจาก กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อปลายปี 2557 จากประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ว่าได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการโรงงานของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งมีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมลงลำรางสาธารณะ (คลองพานทอง) โดยไม่มีมาตรการควบคุมดูแลอย่างเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตและประกอบอาชีพได้อย่างปลอดภัย
กสม.พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา กรมโรงงานอุตสาหกรรม และเทศบาลตำบลท่าข้าม ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและออกคำสั่งปิดโรงงานบางส่วนและให้บริษัทแก้ไขระงับเหตุรำคาญจากกลิ่นเหม็นรบกวนตามระเบียบและขั้นตอนของกฎหมายแล้ว และประชาชนผู้ร้องได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับบริษัทในความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 แล้ว แต่กากอุตสาหกรรมที่ยังไม่มีการขนย้ายออกไปอาจรั่วซึมออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ตลอดจนสุขภาพและการดำรงชีวิตของบุคคลและชุมชนได้ กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 จึงมีข้อเสนอแนะให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดกำจัดกากอุตสาหกรรมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ
นางปรีดา กล่าวด้วยว่า กสม.ได้ติดตามผลดำเนินงานตามข้อเสนอแนะมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ได้รับทราบผลแต่อย่างใด กระทั่งล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2564 ได้รับทราบข้อมูลจากประชาชนในบริเวณใกล้เคียงโรงงานว่า ยังคงมีปัญหาเรื่องกากสารเคมีที่ตกค้างในพื้นที่โรงงาน กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากปัญหามลพิษอาจแพร่กระจายออกสู่สิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนในบริเวณโดยรอบ จึงมีมติให้หยิบยกกรณีการกำจัดกากอุตสาหกรรมในพื้นที่โรงงานดังกล่าว เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและจะได้มีข้อเสนอแนะในการจัดการปัญหาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิชุมชนและสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชนต่อไป
ทางด้าน นายวสันต์ กล่าวว่า เนื่องด้วยวันที่ 10 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันสุขภาพจิตโลก องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติหรือยูนิเซฟ และกรมสุขภาพจิต เผยแพร่ผลการประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นตลอดปีที่ผ่านมาจนถึงสิ้นเดือนกันยายน พบว่า เด็กและวัยรุ่นมีภาวะความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า 32% มีภาวะเครียดสูง 28% และมีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย 22% โดยระบุว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทุกคนจะต้องปรับตัว ต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคม และมีการปรับการเรียนรูปแบบใหม่ผ่านระบบออนไลน์จากที่บ้าน ทำให้วิถีชีวิตของเด็กและวัยรุ่นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัว พัฒนาการการเรียนรู้ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาสุขภาพจิตในบางราย
นายวสันต์ กล่าวต่อว่า ขณะที่การประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2563 พบว่า การแพร่ระบาดของโรคส่งผลกระทบต่อเด็กทั้งมิติของการศึกษาและสภาพจิตใจโดยเด็กนักเรียนจำนวนไม่น้อยเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาทางออนไลน์ เนื่องด้วยครอบครัวประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ ไม่อาจจัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตได้โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้ เด็กไทยส่วนมากยังวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเงินในครอบครัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็ก
กสม.ขอเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนร่วมกันตระหนักถึงการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของเด็กตามหลักอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยจะต้องทำให้เด็กได้รับมาตรฐานสาธารณสุขที่สูงที่สุดเท่าที่จะหาได้และประกันว่าจะไม่มีเด็กคนใดถูกลิดรอนสิทธิในการรับบริการดูแลสุขภาพ นอกจากนี้ ยังต้องประกันสิทธิของเด็กทุกคนที่จะต้องได้รับการศึกษาบนพื้นฐานของโอกาสที่เท่าเทียมกัน
นายวสันต์ กล่าวด้วยว่า กสม.จึงมีข้อเสนอเบื้องต้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาทางแก้ปัญหาและทบทวนเรื่องวิธีการเรียนการสอนออนไลน์และการเข้าถึงระบบการเรียนออนไลน์โดยควรเน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ดำเนินการเชิงรุกในการดูแลสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนด้วยกลไกที่เข้าถึงได้ง่ายและมีผู้สื่อสารกับเด็กอย่างเป็นมิตร โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage