สปสช.กางรายชื่อ 10 อันดับหน่วยบริการที่มีการเบิกจ่ายค่าบริการตรวจคัดกรองและรักษาโควิด-19 สูงสุด สปคม.นำโด่งเบิกค่าตรวจคัดกรอง 710 ล้านบาท รองลงมาคือโรงพยาบาลเกษมราษฎร์อินเตอร์เนชั่นแนล 668 ล้าน อันดับ 3 โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 620 ล้าน ย้ำเป็นการเบิกจ่ายตามผลงานการให้บริการจริง-มีการยืนยันตัวตนผู้รับบริการป้องกันการสวมสิทธิ
——————————————————————————————
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ย.2564 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. เปิดเผยว่า หน่วยบริการที่มีการเบิกจ่ายค่าบริการตรวจคัดกรองและดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 สิบอันดับแรก นับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2563 -15 ส.ค. 2564 ประกอบด้วย
อันดับ 1 สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) เบิกค่าใช้จ่ายทั้งหมด 710 ล้านบาท โดยกว่า 99% เป็นค่าบริการตรวจคัดกรองโควิด-19 และมีค่าบริการดูแลผู้ป่วยในระบบ Home Isolation อีก 3.4 แสนบาท
อันดับ 2 โรงพยาบาลเกษมราษฎร์อินเตอร์เนชั่นแนล มีการเบิกจ่ายทั้งหมด 668 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าบริการตรวจคัดกรอง 307 ล้านบาท ค่าบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตโรคโควิด-19 แก่ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 148 ล้านบาท ค่าบริการฉีดวัคซีนประมาณ 8 หมื่นบาท และค่าบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตโรคโควิด-19 ซึ่งใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคมอีก 212 ล้านบาท
อันดับ 3 โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เบิกค่าบริการทั้งหมด 620 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าบริการตรวจคัดกรอง 235 ล้านบาท ค่ารักษาผู้ป่วย 381 ล้านบาท ค่าบริการฉีดวัคซีน 2.5 ล้านบาท
อันดับ 4 โรงพยาบาลชลบุรี เบิกค่าบริการ 472 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าบริการตรวจคัดกรอง 234 ล้านบาท ค่ารักษาผู้ป่วย 236ล้านบาท ค่าบริการดูแลผู้ป่วยในระบบ Home Isolation 2.5 แสนบาท และค่าบริการฉีดวัคซีน 1.2 ล้านบาท
อันดับ 5 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 สระบุรี เบิกค่าบริการ 443 ล้านบาท เป็นค่าบริการตรวจคัดกรองโควิด-19 ทั้งหมด
อันดับ 6 โรงพยาบาลสมุทรปราการ เบิกค่าใช้จ่าย 398 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าบริการตรวจคัดกรอง 265 ล้านบาทและค่ารักษาผู้ป่วย 138 ล้านบาท ค่าดูแลผู้ป่วยในระบบ Home Isolation 2.5 แสนบาท และค่าบริการฉีดวัคซีน 1.2 ล้านบาท
อันดับ 7 โรงพยาบาลวิภาราม เบิกค่าใช้จ่าย 390 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าบริการตรวจคัดกรอง 24.9 ล้านบาท ค่ารักษาผู้ป่วย 6.8 แสนบาท ค่าบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตโรคโควิด-19 แก่ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 115 ล้านบาท ค่าบริการฉีดวัคซีน 4 แสนบาท และค่าบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตโรคโควิด-19 แก่ผู้ใช้สิทธิข้าราชการและประกันสังคมอีก 249 ล้านบาท
อันดับ 8 โรงพยาบาลระยอง เบิกค่าบริการทั้งหมด 370 ล้านบาท แบ่งเป็นการตรวจคัดกรอง 274 ล้านบาท ค่ารักษาผู้ป่วย 93 ล้านบาท ค่าบริการผู้ป่วยในระบบ Home Isolation 1.2 ล้านบาท และค่าบริการฉีดวัคซีน 7 แสนบาท
อันดับ 9 โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ประชาชื่น เบิกค่าใช้จ่าย 362 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าบริการตรวจคัดกรอง 97 ล้านบาท ค่าดูแลรักษา 7.8 แสนบาท ค่าบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตโรคโควิด-19 แก่ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 96 ล้านบาท ค่าบริการฉีดวัคซีน 1.3 แสนบาท และค่าบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตโรคโควิด-19 แก่ผู้ใช้สิทธิข้าราชการและประกันสังคม 168 ล้านบาท
อันดับ 10. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย มีการเบิกจ่ายทั้งหมด 351 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าบริการตรวจคัดกรอง 113 ล้านบาท ค่ารักษาผู้ป่วย 235 ล้านบาท ค่าบริการดูแลผู้ป่วยในระบบ Home Isolation 5.1 หมื่นบาท และค่าบริการฉีดวัคซีน 2.2 ล้านบาท
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า การเบิกจ่ายค่าบริการในการคัดกรองและรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 นั้น สปสช.จ่ายตามผลงานที่ได้มีการให้บริการจริง ดังนั้นหากหน่วยบริการไหนมีการตรวจคัดกรองและรักษาผู้ป่วยมาก ก็จะได้รับเงินค่าบริการมากตามไปด้วย ซึ่งจากข้อมูลข้างต้นก็จะเห็นว่าแต่ละโรงพยาบาลมีการเบิกจ่ายที่แตกต่างกันออกไปบางหน่วยเบิกจ่ายค่าบริการตรวจคัดกรองเป็นหลัก บางโรงพยาบาลเบิกจ่ายทั้งค่าตรวจคัดกรองและค่ารักษาผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญคือผู้รับบริการแต่ละรายจะต้องมีการยืนยันตัวตนก่อนเข้ารับบริการ เพื่อป้องกันการนำบุคคลอื่นมาสวมสิทธิโดยไม่ได้ให้บริการจริง
ขณะเดียวกัน สปสช.ยังมีระบบตรวจสอบอื่นๆ เช่น การโทรสอบถามผู้ป่วยว่าได้รับบริการจริงหรือไม่ การสุ่มตรวจรายการค่าใช้จ่ายที่มีการเบิกจ่ายจำนวนมาก หากมีรายการไหนที่หน่วยบริการไม่ได้ให้บริการจริงก็จะไม่จ่ายเงินให้ ดังนั้น ขอให้มั่นใจว่าการจ่ายเงินค่าบริการให้แก่โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการแต่ละแห่ง มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้เพราะข้อมูลเหล่านี้ สปสช.เผยแพร่เป็นการทั่วไปอยู่แล้วและเป็นการจ่ายตามผลการทำงานจริงตามจำนวนการให้บริการแก่ประชาชน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage