บ้านสมเด็จโพลล์ พบข่าวปลอมเพิ่มขึ้นช่วงโควิดระบาด 66.8% แจงประชาชนอยากให้ภาครัฐปราบปราบถึง 78.7% เผยกังวลทำให้เกิดความเข้าใจผิด-นำไปสู่ความขัดแย้ง
----------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ส.ค.2564 ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาข่าวปลอมในสถานการณ์โควิด โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ กทม. จำนวนทั้งสิ้น 1,119 กลุ่มตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 17 - 23 ก.ค.2564 ในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คน ต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ซึ่งต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง
ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ เปิดเผยว่า การสำรวจครั้งนี้เพื่อสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาข่าวปลอมในสถานการณ์โควิด เนื่องจากปัญหาข่าวปลอม (Fake News) ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด เป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติทำให้เกิดข่าวลือ ข่าวปลอม เพิ่มมากขึ้นโดยการส่งต่อๆกันนั้นทำให้เกิดการแพร่กระจายข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างได้
ปัญหาข่าวปลอม เป็นปัญหาที่ทางภาครัฐได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวในการกำกับดูแลและควบคุมข่าวปลอม จากข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 29 ข้อ 1 ห้ามผู้ใดเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
ข้อ 2 ในกรณีมีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารตามข้อ 1 ในอินเทอร์เน็ต ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แจ้งผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ตตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจำยเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทุกรายทราบและให้ผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวทุกรายมีหน้าที่ตรวจสอบว่าข้อความหรือข่าวสารดังกล่าวมีที่มาจากเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ใด หากเป็นเลขที่อยู่ไอพีที่ตนเป็นผู้ให้บริการ ให้แจ้งรายละเอียดตำมที่สำนักงาน กสทช.กำหนดให้สำนักงาน กสทช. ทราบ และให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ไอพีนั้นทันที ทำให้เห็นว่าภาครัฐให้ความสำคัญกับการการกำกับดูแลและควบคุมข่าวปลอม โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลข่าวปลอมผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต
ผศ.ดร.สิงห์ กล่าวด้วยว่า จากผลการสำรวจ พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่พบเห็นข่าวปลอมในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด เพิ่มมากขึ้น 66.8% และสามารถแยกแยะข่าวปลอมได้ 71.1% โดยพบเห็นข่าวปลอผ่านสื่อเฟซบุ๊กมากที่สุด 53.4% อันดับที่ 2 คือ ไลน์ 14.7% และอันดับที่ 3 คือ มีคนเล่าให้ฟัง 10.3% อันดับที่ 4 คือ ทวิตเตอร์ 9.7% และอันดับที่ห้า คือ เว็บไซต์ 9.6% โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่คิดว่าเป็นข่าวปลอมที่ได้รับผ่านทางสื่อต่างๆ 64.5% และคิดว่า ข่าวปลอมจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดและนำไปสู่ความขัดแย้ง 78.3% สำหรับวิธีการในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่คิดว่าเป็นข่าวปลอม ผ่านการค้นหาจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ 66.6% และอยากให้ภาครัฐมีมาตรการในการป้องกันและปราบปราบ ข่าวปลอม 78.7%
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage