'ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์' ออกแถลงการณ์เรื่องวัคซีนโควิดสำหรับเด็ก แนะนำให้เด็กที่มีโรคประจำตัวสามารถฉีดได้ แต่ยังไม่แนะนำให้เด็กทั่วไปที่แข็งแรงฉีด จนกว่าจะมีวัคซีนและข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพ-ความปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากส่วนใหญ่ป่วยจะมีอาการน้อย
...............................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2564 ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์โรคโควิดในเด็ก ฉบับที่ 2/2564 เรื่อง วัคซีนป้องกันโรคโควิด สำหรับเด็ก ระบุว่า ในสถานการณ์การระบาดของโควิด และการกลายพันธุ์ของไวรัส ทำให้มีการแพร่ระบาดในระลอกหนึ่งและระลอกสองอย่างมาก จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ 1 เม.ย.-15 มิ.ย.2564 พบรายงานผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ติดโควิดสะสม 13,608 ราย จากผู้ป่วยติดเชื้อทุกช่วงวัย 173,401 ราย คิดเป็น 7.8% ของผู้ติดเชื้อทุกกลุ่มอายุ และมีเด็กเสียชีวิต 4 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 0.03 ทั้งหมดเป็นผู้มีโรคประจำตัว
และเมื่อติดตามข้อมูลจนถึง 13 ก.ค.2564 พบผู้ป่วยเด็กติดเชื้อเพิ่มอย่างรวดเร็วเป็น 33,020 ราย โดยมีอัตราส่วนของเด็กติดเชื้อสูงขึ้นเป็น 13.2% ของผู้ติดเชื้อทุกกลุ่มอายุ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะ 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนถึงการระบาดในชุมชนและครอบครัวที่ยังควบคุมไม่ได้และมีแนวโน้มที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่ติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย
ในขณะนี้วัคซีนป้องกันโควิด ที่มีข้อมูลรองรับถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป มีเพียงชนิดเดียว ได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA ของบริษัทไฟเซอร์ ซึ่งได้รับการรับรองให้ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค.2564 อย่างไรก็ตามมีรายงานเกิดภาวะกล้ามเนื้อหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบภายหลังการฉีดในอัตราที่ต่ำมาก (8 ต่อ 1,000,000 คนที่ฉีด) ภายหลังการรับวัคซีนไม่กี่วัน ซึ่งพบในเพศชายอายุน้อยกว่า 30 ปี และพบหลังการฉีดเข็มสองมากกว่าเข็มแรก ผู้ป่วยส่วนใหญ่หายกลับคืนมาใช้ชีวิตปกติได้ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์นี้และติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่องใกล้ชิด
ทั้งนี้วัคซีนนี้ ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยองค์การอาหารและยาประเทศไทยให้ใช้ในอายุ 12 ปี ขึ้นไป เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2564 ส่วนการนำเข้าอยู่ระหว่างการดำเนินการ
สำหรับวัคซีนซิโนแวค แม่จะมีการใช้ในประเทศจีน ในเด็กอายุ 3-17 ปี จากการศึกษาวิจัยในระยะ 1/2 พบว่ากระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี แต่ยังไม้มีข้อมูลเรื่องของประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิดในเด็กกลุ่มนี้
ในขณะนี้ยังมีการศึกษาวิจัยวัคซีนอีกหลายชนิดในผู้ป่วยเด็กในกลุ่มอายุต่างๆ ลงไปจนถึงอายุหกเดือน ซึ่งน่าจะมีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยออกมาเพิ่มเติมอีกไม่นาน
ในภาพรวมยังพบการติดเชื้อในเด็กน้อยกว่าผู้ใหญ่ และผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อมักไม่รุนแรง ดังนั้นราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยจึงมีความเห็นสอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก โดยที่ยังไม่จัดให้เด็กที่มีสุขภาพดีเป็นกลุ่มที่มีลำดับความสำคัญเป็นอันดับตั้นในการฉีดวัคซีนโควิดขณะนี้
คำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย มีดังต่อไปนี้
- ยังไม่แนะนำวัคซีนโควิด สำหรับเด็กทั่วไปที่แข็งแรงดีในขณะนี้ จนกว่าจะมีวัคซีนมากขึ้น และมีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพและความปลิดภัยของวัคซีนป้องกันโรคในเด็กเพิ่มเติม
- แนะนำให้ฉีดวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขรองรับให้ใช้ในเด็ก ในกรณีเด็กมีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงของโรคโควิด เช่น โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และโรคเบาหวาน เป็นต้น
- แนะนำให้ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดรับวัคซีน
- แนะนำให้สร้างวินัยในการป้องกันตัวเอง เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือเว้นระยะห่างให้แก่เด็กในทุกวัยและหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศไม่ถ่ายเท
- แนะนำให้ผู้ปกครองทำงานที่บ้าน งดการเยี่ยมเยียนจากบุคคลภายนอก
ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยกุมานแพทย์แห่งประเทศไทย ขอสนับสนุนให้มีการใช้มาตรการควบคุมโรคระบาดในชุมชนอย่างเข้มงวด และการให้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงแก่ผู้ใหญ่ เพื่อคุ้มครองเด็กซึ่งยังไม่ได้รับวัคซีนในขณะนี้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage