'เอนก' เผย อว.พร้อมเป็นกองหนุนในทุกสถานการณ์ ทุ่มกำลัง-เทคโนโลยีร่วมดูแลช่วยเหลือสถานการณ์เหตุไฟไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติกระเบิด ย่านบางพลี สมุทรปราการ
.............................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2564 ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ของ อว. ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความรุนแรงจากเหตุระเบิดที่โรงงานหมิงตี้ เคมีคอล ต.ราชเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดย อว. ได้ระดมเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาร่วมดูแลสถานการณ์นี้ เช่น ให้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมแบบทันต่อสถานการณ์ แผนที่แบบละเอียดถึงบริเวณเสี่ยง รวมทั้งทิศทางลม โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า ซึ่งล่าสุดได้เปิดเผยแผนที่ละเอียดการเปลี่ยนแปลงและการขยายตัวของชุมชนบริเวณรอบๆ โรงงาน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่และประชาชนเข้าใจ สามารถประเมินสถานการณ์ของโรงงาน ชุมชน หมู่บ้านในบริเวณใกล้เคียงได้ในเบื้องต้น หรือเตรียมการเคลื่อนย้ายได้ทันการณ์
นอกจากนี้ ยังได้ให้การสนับสนุนทีม 'Novy โดรน' สตาร์ทอัพผู้ให้บริการโดรนเพื่อการเกษตร ที่สนับสนุนโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งได้เข้ามาร่วมทีมเฉพาะกิจ โดยการปล่อยโดรนบินเพื่อหาจุดปิดวาล์วถังสารเคมีที่อยู่ใต้ดิน จนพบจุดสำคัญ ทำให้เจ้าหน้าที่ผจญเพลิงฉีดโฟมเข้าสกัด และปิดวาล์วดังกล่าวได้สำเร็จ
ขณะเดียวกัน กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ได้เข้ามาเป็นหน่วยให้ข้อมูลชนิดของสารเคมี ความเสี่ยง อันตราย ข้อควรระวังต่างๆ โดยเฉพาะการป้องกันและการทำงานสะอาดหากมีการสัมผัส สารสโตรีนโมโนเมอร์ (styrene monomer) และยังมีสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้ให้ข้อมูลความปลอดภัยทางรังสีจากการเข้าไปตรวจสอบในระบบฐานข้อมูลใบอนุญาติมีไว้ในครอบครองหรือใช้วัสดุกัมมันตรังสีของโรงงานในบริเวณนั้นแล้ว พบว่าทั้งโรงงานหมิงตี้ฯ และโรงงานที่ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยรัศมี 5 กม.โดยรอบไม่มีการครอบครองหรือใช้วัสดุกัมมันตรังสี อีกทั้งรายงานตรวจวัดปริมาณรังสีในอากาศจากสถานีเฝ้าระวังทางรังสียังพบว่าอยู่ในระดับปกติอีกด้วย
ด้าน ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. กล่าวว่า ในแง่ของการช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้น อว. ได้เตรียมการให้โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ใกล้เคียง เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินหากมีผู้ประสบภัยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จ.สมุทรปราการ มีอุปกรณ์และเครื่องมือพร้อมในการดูแลในสถานการณ์ขนาดใหญ่ รวมทั้งให้เตรียมความพร้อมรับดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยมหาวิทยาลัยและสถานศึกษาในพื้นที่ ก็ได้จัดเตรียมอาคารสถานที่ไว้รองรับ หากจำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายหรืออพยพคนในบริเวณพื้นที่เสี่ยงออกมา ในส่วนของนิสิตนักศึกษาและบุคลากรที่มีที่พักอาศัยหรือหอพักในบริเวณใกล้เคียง ทางมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี สมุทรปราการ และจุดอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้เตรียมการที่จะดูแลให้สถานที่และที่พักสำหรับผู้ได้รับผลกระทบด้วย
ส่วนทางด้าน รศ.ดร.อิทธิพล แจ้งชัด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ให้ข้อมูลว่า เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ฯ วัตถุดิบที่ติดไฟและระเบิดคือ สไตรีน (Styrene) เป็นของเหลวใส ติดไฟง่าย มีกลิ่นแรงเฉพาะตัว และมีความหนาแน่นที่น้อยกว่าน้ำ (0.906 g/mL) ละลายน้ำได้น้อยมาก (0.05 g/L) โดยควันดำที่เห็นลอยไกลๆ คือสิ่งที่เกิดจากการเผาไหม้สไตรีน คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และคาร์บอนมอนออกไซด์ (CO) รวมถึงสารในกลุ่มอะโรมาติก (Polycycllc aromatic hydrocerbons, PAHs) คล้ายการเผาไหม้เชื้อเพลิงทั่วไป จริงๆ แล้วไม่น่ากลัวเท่าไอสไตรีน โชคดีที่สไตรีนหนักกว่าอากาศ ไม่ลอยไกล อยู่ในอากาศ 7-8 ชม. ก็สลายตัว การดับไฟจากสไตรีน ใช้น้ำ โฟม ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสารเคมีแห้ง ใช้น้ำควบคุมไฟได้ แต่ต้องระวังเนื่องจากสไตรีนเบากว่าน้ำและไม่ละลายน้ำ จะลอยน้ำและนำไฟไปลุกลามจุดอื่น ยืนยันว่า ควันดำลอยไกลไม่น่ากลัว ที่น่ากลัวคือการระเบิดของถังบรรจุสไตรีน และสไตรีนตกค้างรอบๆ จุดเกิดเหตุ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage