ติดเชื้อเพิ่ม 4,108 ราย รวมสะสม 232,647 ราย หายป่วยเพิ่ม 3,530 ราย และเสียชีวิตอีก 31 ราย กทม.พบ 3 คลัสเตอร์ใหม่ มีเด็กติดโควิด 33 ราย ด้าน ศบค.ถกเลื่อนคิวฉีดวัคซีนเร็วขึ้น ขยายเตียงรับผู้ป่วยสีเหลือง-แดง
----------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2564 เวลา 12.30 น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวัน โดยพบผู้ติดป่วยรายใหม่ 4,108 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 3,865 ราย เกิดจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 2,835 ราย เกิดจากการค้นหาเชิงรุกและพบการติดเชื้อในชุมชน 1,030 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ 229 ราย และอีก 14 รายเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ รวมผู้ป่วยสะสม 232,647 ราย หายป่วยเพิ่ม 1,578 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล 32,795 ราย โดยในจำนวนนี้มีอาการหนัก 1,360 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 378 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 31 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 1,681 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิต 31 ราย มาจาก กทม. 28 ราย พระนครศรีอยุธยา 2 ราย และลพบุรี 1 ราย เป็นชาย 16 ราย หญิง 15 ราย อายุระหว่าง 30-93 ปี โดยปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไต ไขมันในเลือดสูง หลอดเลือดสมอง หัวใจ โรคปอด ภาระอ้วน ส่วนปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อจากคนในครอบครัว คนอื่น ๆ ได้แก่ เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน ไปในสถานที่แออัดพลุกพล่าน ประกอบอาชีพเสี่ยง เช่น ค้าขาย ขับรถรับจ้าง รปภ. และอาศัยหรือเดินทางไปในพื้นที่ระบาด
ส่วน 10 จังหวัดที่มีอันดับผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่สูงสุด ตามลำดับ ได้แก่ กทม. 1,359 ราย สมุทรปราการ 297 ราย สมุทรสาคร 259 ราย ชลบุรี 254 ราย สงขลา 216 ราย นนทบุรี 170 ราย ปทุมธานี 157 ราย ยะลา 119 ราย ระยอง 92 ราย และนครปฐม 91 ราย
ด้านผู้ป่วยรายใหม่ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 14 ราย ประกอบด้วย กัมพูชา 12 ราย โอมาน 1 ราย และโซมาเลีย 1 ราย
ขณะที่ การกระจายวัคซีนในประเทศ พบผู้ที่ได้รับผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เพิ่มเติม จำนวน 172,903 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 79,082 ราย รวมสะสมผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 8,400,320 ราย แบ่งเป็น ผู้ได้รับเข็มที่ 1 จำนวน 6,017,424 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 2,382,896 ราย
@ พบ 7 คลัสเตอร์ใหม่ กระจาย 4 จังหวัด
พญ.อภิสมัย กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ กทม. ว่า มีพื้นที่ต้องเฝ้าระวังทั้งหมด 99 คลัสเตอร์ กระจายอยู่ 42 เขต สำหรับคลัสเตอร์ใหม่ที่พบ 3 แห่ง คือ แคมป์ก่อสร้าง เขตบางกะปิ ตรวจหาเชื้อแล้ว 241 ราย พบเชื้อ 164 ราย คิดเป็น 68% แคมป์ก่อสร้าง เขตบางรัก ตรวจหาเชื้อแล้ว 257 ราย พบติดเชื้อ 126 ราย คิดเป็น 49% และบริษัทผลิตหมวกกันน็อค เขตบางขุนเทียน ตรวจหาเชื้อแล้ว 600 ราย พบติดเชื้อ 165 ราย คิดเป็น 27.50% สำหรับผู้ติดเชื้อรายแรก ไม่มีอาการ ไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ แต่ได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด เพื่อเตรียมการผ่าตัด
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับคลัสเตอร์ใหม่ที่กระจายในจังหวัดอื่นๆ ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร โรงงานผลิตภัณฑ์ยาง ติดเชื้อ 9 ราย โรงงานกุ้ง ติดเชื้อ 9 ราย จังหวัดนนทบุรี โรงงานสาหร่ายแปรรูป อำเภอปากเกร็ด พบผู้ติดเชื้อ 11 ราย และจังหวัดปทุมธานี อำเภอธัญบุรี ติดเชื้อ 39 ราย
@ คลัสเตอร์ปทุมธานี เด็ก 3-6 ขวบติดโควิดเพียบ
พญ.อภิสมัย เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กได้มีการหารือกรณีคัตเตอร์ใหม่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนรังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี พบผู้ติดเชื้อยืนยันแล้ว 164 ราย เป็นเด็กอายุ 3-6 ปี จำนวน 33 ราย มีผู้ดูแลที่ติดเชื้อจำนวน 6 ราย จากการสอบสวนโรคพบว่าผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นคนขับรถเพียงคนเดียว ทำให้เห็นได้ว่าการกระจายเชื้อเป็นกลุ่มก้อนจากการที่มีบุคคลคนแรกที่ร่วมทำงานทำให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ศปก.ศบค.ฝากเน้นย้ำกรณีสถานที่ดูแลเด็กอ่อนหรือผู้สูงอายุถือเป็นความรับผิดชอบส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลที่จะต้องมีการเฝ้าระวังตัวเองอย่างเข้มงวดและมีมาตรการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เจ้าของสถานประกอบการไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนจำเป็นที่จะต้องกำหนดมาตรการ ตรวจบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงฝากไปถึงภาครัฐ เอกชนทุกจังหวัดหากในพื้นที่มีสถานที่ดูแลเด็กอ่อนและสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ ขอให้มีการกำกับติดตามอย่างเคร่งครัด เพราะถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้จะได้รับวัคซีนแล้ว แต่ยังสามารถกลายเป็นผู้ติดเชื้อและเป็นผู้แพร่เชื้อได้
@ ถกเลื่อนคิวฉีดวัคซีน 'หมอพร้อม' เร็วขึ้น
พญ.อภิสมัย เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะให้ 2 กลุ่มเสี่ยงคือ กลุ่มผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรคเสี่ยง ที่ลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิดในระบบ 'หมอพร้อม' ได้คิวฉีดวัคซีนช่วงเดือน ก.ค. - ส.ค. หรือหลังจากนั้น จะพิจาณาเลื่อนคิวให้เร็วขึ้น จึงขอให้ติดตามการประกาศจากโรงพยาบาลที่ได้ลงทะเบียนหมอพร้อมไว้
@ เตรียมขยายเตียงใน กทม. รองรับผู้ป่วยสีเหลือง-แดง
พญ.อภิสมัย กล่าวถึงเรื่องการจัดการเตียงในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ว่า จะเร่งประสิทธิภาพการขยายเตียงมากขึ้น โดยเฉพาะเตียงรองรับผู้ป่วยสีเหลือง-สีแดง โดยมีข้อเสนอแนะยกระดับประสิทธิภาพ โรงพยาบาลบางขุนเทียน และโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ให้รองรับผู้ป่วยระดับสีแดงมากขึ้น
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการหารือกับโรงพยาบาลเอกชนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับผู้ป่วย เช่น โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โรงพยาบาลธนบุรี สำหรับปรับให้รองรับกลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรงมากขึ้น ในส่วนของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลวชิรพยาบาล จะมีการระดมบุคลากรทุกภาคส่วนเพิ่มเข้ามาในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล อาทิ แพทย์ทหาร แพทย์ที่จบใหม่ เป็นต้น
@ เผยผลสอบสวนตายหลังฉีด 103 ยันไม่เกี่ยววัคซีน 42 ราย ที่เหลือรอตรวจสอบ
นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด ข้อมูล ณ วันที่ 21 มิ.ย. เวลา 16.30 น. ว่า จำนวนผู้รับวัคซีนทั้งหมด 7,906,696 โดส ซึ่งอาจน้อยกว่าตัวเลขที่รายงานประจำวัน เพราะเป็นการตัดข้อมูลต่างกัน จำนวนที่ฉีดไปแล้วมีการเฝ้าระวังอาการผิดปกติ 1.เกณฑ์ที่ต้องสอบสวนโรค เข้ารักษาในโรงพยาบาล อย่างน้อย 3 วัน เข้ารักษาเป็นผู้ป่วยใน รวม 1,945 ราย คิดเป็น 24.60 รายต่อการฉีดแสนโดส 2.เจ็บป่วยร้ายแรงถึงชีวิต 103 ราย คิดเป็น 1.30 รายต่อการฉีดแสนโดส
สำหรับการฉีดวัคซีนซิโนแวค ฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 3,373,958 โดส พบผู้ป่วยใน 914 ราย คิดเป็น 27.09 รายต่อการฉีดแสนโดส ส่วนการเสียชีวิต 44 ราย คิดเป็น 1.30 รายต่อการฉีดแสนโดส ขณะที่ เข็มที่ 2 จำนวน 2,176,933 โดส ผู้ป่วยใน 243 ราย คิดเป็น 11.16 รายต่อการฉีดแสนโดส ซึ่งลดลงจากเข็มที่ 1 ตามอัตรา ส่วนการเสียชีวิต 7 ราย คิดเป็นอัตรา 0.32 รายต่อการฉีดแสนโดส
ส่วนการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 2,304,890 โดส พบเป็นผู้ป่วยใน 782 ราย คิดเป็น 33.93 รายต่อการฉีดแสนโดส เสียชีวิต 49 ราย คิดเป็น 2.13 รายต่อการฉีดแสนโดส ขณะที่ เข็มที่ 2 จำนวน 50,915 โดส ผู้ป่วยใน 6 ราย คิดเป็น 11.78 รายต่อการฉีดแสนโดส และเสียชีวิต 1 ราย คิดเป็น 1.96 รายต่อการฉีดแสนโดส
“ผลสรุปสุดท้ายของการเสียชีวิต อาจเป็นเหตุที่ไม่เกี่ยวกับวัคซีน แต่เมื่อมีรายงานก็ต้องเก็บข้อมูลทั้งหมด เพื่อแยกแยะหาสาเหตุที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตหลังรับวัคซีน ยังต่ำกว่าเหตุการณ์ปกติที่เราใช้ชีวิตก่อนมีวัคซีน” นพ.เฉวตสรร กล่าว
นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่าว่า การได้รับวัคซีนกว่า 7.9 ล้านโดส มีการอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง 945 ราย ผ่านการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว 327 ราย และอยู่ระหว่างติดตามข้อมูล 618 ราย สรุปผลการพิจารณาอาการที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ที่ได้รับการดูแลและไม่ถึงขั้นเสียชีวิต เป็นภาวะช็อกรุนแรง จำนวน 20 รายในผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค คิดเป็น 3.6 รายต่อการฉีดแสนโดส ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มี 1 ราย คิดเป็น 4 รายต่อการฉีดแสนโดส ส่วนปฏิกิริยาแพ้ วัคซีนซิโนแวค 21 ราย แต่ยังไม่พบในแอสตร้าเซนเนก้า ขณะที่อาการของความกังวล ISRR หลังรับวัคซีน ในซิโนแวค พบ 208 ราย และแอสตร้าเซนเนก้า 2 ราย
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตหลังรับวัคซีน 103 ราย ได้รับการพิจารณาจากคณะผู้เชี่ยวชาญแล้ว 42 ราย ยังไม่พบผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับวัคซีน อยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 18 ราย และอยู่ระหว่างการชันสูตรพลิกศพอีก 61 ราย
@ ทั่วโลกป่วย 426,328 ราย สะสม 180.36 ล้านราย
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกพบผู้ป่วยเพิ่ม 426,328 ราย รวม 180,360,606 ราย อาการหนัก 81,427 ราย หายป่วย 165,080,854 ราย เสียชีวิต 3,907,364 ราย โดยสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยเพิ่ม 12,942 ราย รวม 34,449,004 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 326 ราย รวม 618,294 ราย อินเดีย พบเพิ่ม 54,319 ราย รวม 30,082,169 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 978 ราย รวม 392,014 ราย บราซิล พบเพิ่ม 114,139 ราย รวม 18,170,778 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2,343 ราย รวม 507,240 ราย ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 76 ของโลก
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage