'ตรีนุช' สั่งเพิ่มความเข้มงวดเรื่องมาตรการการป้องกันโควิดในสถานศึกษา กำชับปฏิบัติตามมาตรการ สธ.อย่างเคร่งครัด หลังพบนักเรียนติดเชื้อ จากการเปิดเรียนมา 1 สัปดาห์ ยันโรงเรียนไม่ใช่กลุ่มคลัสเตอร์แพร่ระบาดใหม่ นักเรียนติดเชื้อจากผู้ปกครอง-ชุมชน
.....................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า หลังจากเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด ตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้ติดตามการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาทั่วประเทศ และพบว่าเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 การเปิดเรียนแบบ On-site จำเป็นต้องเพิ่มความเข้มงวดเรื่องมาตรการความปลอดภัย การปฏิบัติตามมาตรการคัดกรองของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เช่น เคร่งครัดให้เด็กสวมใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง เป็นต้น
“เพื่อเป็นการสกัดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิดในสถานศึกษา ดิฉันจึงออกนโยบายเร่งด่วนให้หน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เข้มข้นเรื่องการตรวจสอบมาตรการรักษาความปลอดภัยของสถานศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศ ทั้งของรัฐและเอกชน ว่าได้ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงศึกษาธิการ ศบค.และกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่” น.ส.ตรีนุชกล่าว
น.ส.ตรีนุช กล่าวต่ออีกว่า ได้มอบหมายให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทุกจังหวัด ตั้งคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งกรรมการประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และผู้ปกครอง ขึ้นมาทำหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของสถานศึกษา จัดให้มีการนิเทศตรวจติดตามทุกแห่งเป็นประจำ และจะมีการตั้งคณะกรรมการชุดย่อยจำนวนหลายคณะ ซึ่งเป็นตัวแทนของไตรภาคีในพื้นที่ ลงสแกนสถานศึกษาในพื้นที่ของตนเอง เพื่อตรวจสอบหาช่องโหว่ และปรับปรุงพัฒนาอุดรอยรั่วในส่วนนั้น รวมถึงเฝ้าระวังไม่ให้เกิดความหย่อนยานเรื่องมาตรการความปลอดภัย
“ดิฉันมั่นใจว่า การที่มีคณะกรรมการชุดย่อย ซึ่งเป็นคนในพื้นที่จำนวนหลายชุด จะทำให้สามารถสแกนสถานศึกษาทุกแห่งแล้วเสร็จโดยเร็ว และได้ข้อมูลจริง สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด และรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้มั่นใจว่าสถานศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากโควิด” น.ส.ตรีนุช กล่าว
น.ส.ตรีนุช กล่าวด้วยว่า หากสถานศึกษาแห่งใดไม่เป็นไปตามมาตรการ ให้เร่งปรับปรุงทันที และหากทำไม่ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ต้องหยุดเรียนแบบ On-site แล้วเลือกใช้รูปแบบอื่นในการจัดการเรียนการสอนแทน เพื่อปรับปรุงในส่วนของสถานศึกษาให้ได้ตามมาตรฐานตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ เพื่อความความปลอดภัยสูงสุดของนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนผู้ปกครอง และประชาชนทุกคน ส่วนในกรณีที่มีนักเรียนในโรงเรียนนั้น ๆ ติดเชื้อเพียงคนเดียว หรือในชุมชนที่เป็นเขตบริการมีชาวบ้านติดเชื้อ ให้สถานศึกษาขอความเห็นชอบกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปิดเรียนแบบ On-site เพื่อทำความสะอาด แล้วเลือกใช้การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบอื่นในระหว่างที่ปิดสถานศึกษา เช่น การเรียนผ่านอินเทอร์เน็ต (Online) หรือการเรียนแบบจัดส่งหนังสือ แบบเรียน แบบฝึกหัด หรือใบงานให้นักเรียนทำที่บ้าน (On-hand) เป็นต้น
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และคณะผู้บริหาร ศธ.กำหนดรายละเอียดของโครงสร้าง องค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่พร้อมแนวปฏิบัติที่ชัดเจนของคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ล่าสุด น.ส.ตรีนุช กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมให้กำลังใจการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ของนักเรียนและครูในพื้นที่เขตดินแดงและห้วยขวาง กทม. พร้อมมอบอุปกรณ์สู้ภัยโควิด ว่า จากการสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศไทย การตรวจเยี่ยมความพร้อมการจัดการเรียนการสอนโรงเรียนในพื้นที่ กทม. พื้นที่สีแดงเข้มที่ต้องจัดการเรียนการสอนผ่านรูปแบบ Online, On Air และ On Demand เท่านั้น ดังนั้น ภาพรวมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในเขต กทม.นั้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และไม่มีเด็กตกหล่นจากการเรียนผ่านระบบดังกล่าว เพราะมีการบริหารจัดการได้ดีเยี่ยม เช่น ในกรณีที่เด็กคนใดไม่มีอุปกรณ์ใช้เรียน โรงเรียนก็จะจัดให้เด็กมาเรียนที่ออนไลน์ที่โรงเรียนแทน 1 คนต่อห้อง 1 ห้องเรียน เป็นต้น เพื่อให้เด็กไม่ขาดการเรียนรู้
น.ส.ตรีนุช กล่าวถึงการจัดการเรียนการสอนของเด็กระดับปฐมวัยนั้นว่า ได้มีการจัดนวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ เป็นช่องทางการเรียนโดยให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอนด้วย สำหรับการเปิดภาคเรียนด้วยการมาเรียนที่โรงเรียนนั้น ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดสีแดงเข้มจะต้องเปิดเรียนตาม ศบค.จังหวัดเป็นผู้กำหนดและประเมินความพร้อมการเปิดเรียน เนื่องจากสภาพสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน โดยก่อนหน้านี้ก็ได้มีโรงเรียนในบางจังหวัดเปิดการเรียนการสอนแบบ On site ไปแล้ว ซึ่ง ศธ.จะต้องยึดมาตรการความปลอดภัยด้านสุขภาพของผู้เรียนเป็นหลัก ทั้งนี้ตนขอยืนยันว่าโรงเรียนยังไม่ใช่กลุ่มคลัสเตอร์แพร่ระบาดใหม่ เพราะจากการสำรวจข้อมูลว่านักเรียนติดเชื้อจากผู้ปกครอง และจากชุมชนโดยรอบ ดังนั้นมาตรการของโรงเรียนเมื่อพบนักเรียนคนใดติดเชื้อจะสั่งปิดโรงเรียน พร้อมกับประสานกับสาธารณสุขจังหวัดในการดูแลสอบสวนโรคทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ไปเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2564 มีโรงเรียนหลายแห่งประกาศปิดชั่วคราว และปรับรูปแบบการเรียนการสอนเป็นออนไลน์แทน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มรุนแรงและยอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้น โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ประกาศของปิดโรงเรียนชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 22-25 มิ.ย.64, ให้มีการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ หลังพบครูติดเชื้อ โรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา เขตพื้นที่อำเภอเมือง จำนวน 2 แห่ง ประกาศปิดการเรียนออกไปก่อนชั่วคราว คือ โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย โดยได้มีการออกประกาศ ปิดเรียนระหว่างวันที่ 23 มิ.ย.-2 ก.ค.64 และที่โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา ได้มีการออกประกาศ ปิดเรียนระหว่างวันที่ 23-30 มิ.ย. 64 และในเขตพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว จำนวน 1 แห่ง คือ โรงเรียนวังน้ำเขียวพิทยาคม ได้ออกประกาศปิดเรียนตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย.64 เป็นต้น ไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปิด
ขณะที่ จังหวัดนครสวรรค์ โรงเรียนนครสวรรค์ ประกาศไม่ให้นักเรียนมาเรียนที่โรงเรียน เพราะจากการสำรวจความคิดเห็นของนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และบุคลากร ส่วนใหญ่ต้องการให้จัดการเรียนการสอน 2 แบบ คือ Online การเรียนการสอนแบบถ่ายทอดสด (live) ระหว่างครู-นักเรียน และ On demand คือ แบบสื่อผสมในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น รับชมวิดีโอการสอนย้อนหลัง หรือศึกษาใบความรู้การจัดทำใบงาน หรือแอปพลิเคชั่นอื่น ๆ โดยจะใช้การเรียนการสอนทั้ง 2 รูปแบบ ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 9 ก.ค. 2564 และจังหวัดเพชรบูรณ์ มีคำสั่งงดจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาทุกแห่ง ให้ปรับใช้รูปแบบอื่นตามความเหมาะสม ตั้งแต่วันที่ 21-30 มิ.ย. 2564 และจังหวัดแพร่ โรงเรียนนารีรัตน์ ได้ประกาศ งดการเรียนการสอนรูปแบบ On-Site ตั้งแต่วันที่ 18 - 30 มิ.ย. 2564 เพื่อประเมินความเสี่ยงของการแพร่ระบาด หลังพบแม่ค้าร้านยำหลังโรงเรียนเสียชีวิตจากโควิด และให้นักเรียนเรียนอยู่ที่บ้านและปรับแผนการเรียนเป็นรูปแบบออนไลน์
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage