ป.ป.ช. มติข้างมาก 7:2 ชี้มูล ‘กิตติรัตน์-จนท.พาณิชย์-อคส.’ คดีปรับปรุงข้าวบูล็อคไปอินโดนีเซียปี 54 เหตุเอื้อให้ บ.สยามอินดิก้า ได้เป็นคู่สัญญา – กัน จนท.ระดับล่างไว้เป็นพยาน
..........................................................
จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนขึ้นมารับผิดชอบคดีการระบายข้าวจำนวน 3 แสนตัน ให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ปรับปรุงข้าวเพื่อส่งมอบให้แก่ประเทศ อินโดนีเซีย (BULOG) จำนวน 30,000 ตัน ตามสัญญาการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เมื่อเดือน ธ.ค. 2564 หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าคดีข้าวบูล็อค โดยปรากฎรายชื่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ขณะนั้น พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ เจ้าหน้าที่กรมการค้าต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้ถูกกล่าวหานั้น (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.เพิ่มชื่อจนท."พาณิชย์-อคส.-คต."พ่วง"กิตติรัตน์"คดีข้าวอินโดฯ3 แสนตัน)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 7 ต่อ 2 เสียง ชี้มูลความผิดนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ กับพวก ในคดีดังกล่าวแล้ว
โดยกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมาก 7 ราย ได้แก่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ นายณรงค์ รัฐอมฤต นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข และ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ส่วนกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างน้อย 2 ราย ได้แก่ นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา และ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง
ทั้งนี้ในส่วนของนายกิตติรัตน์ ถูกชี้มูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ส่วนอดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ เจ้าหน้าที่กรมการค้าต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า อีกประมาณ 10 ราย ถูกชี้มูลความผิดตามกฎหมายอื่น
คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า หลังจากมีการประมูลการปรับปรุงข้าวบูล็อค โดยบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เป็นผู้ชนะนั้น มีเอกชนร้องเรียนต่อกระทรวงพาณิชย์ว่าอาจมีการฮั้วประมูลเกิดขึ้น อย่างไรก็ดีกระทรวงพาณิชย์อ้างว่า สาเหตุที่เลือกบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เนื่องจากประเทศอินโดนีเซีย ต้องการบริษัทนี้ เลยไม่มีการดำเนินแก้ไข ขณะที่นายกิตติรัตน์ อ้างว่า มอบอำนาจให้นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ ขณะนั้น กำกับดูแล แต่พยานหลักฐานรับฟังได้ว่า นายกิตติรัตน์ คือผู้ดำเนินการ ดังนั้นนายกิตติรัตน์ ในฐานะ รมว.พาณิชย์ จึงเข้าข่ายเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
นอกจากนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังกันเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติอีกจำนวนหนึ่งกันไว้เป็นพยานในคดีนี้ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีดังกล่าวมีการกล่าวหาว่ามีการทุจริตเปิดประมูลให้เอกชนดำเนินการปรับปรุงข้าวเพื่อส่งมอบให้แก่ประเทศอินโดนีเซีย (BULOG) ตามสัญญา การซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) จำนวน 300,000 ตัน เมื่อเดือน ธ.ค. 2554โดยเอื้อประโยชน์ให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล ทั้งที่ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงในลักษณะนอมินีของ บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด ของนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร ที่ถูกศาลล้มละลายพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ ล.18747/2552 รวมทั้งเคยเป็นคู่สัญญาการค้าขายข้าวกับรัฐบาลในโครงการ รับจำนำข้าวเปลือกปี 2544/2545 และปี 2546/2547 จำนวน 1.9 ล้านตัน และไม่สามารถส่งมอบข้าวได้ตามสัญญา ผลประโยชน์ที่รัฐควรได้จึงตกไปเป็นของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด กับพวกพ้องที่เป็นนักการเมือง ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ เอื้อประโยชน์แก่กันและกันต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายกิตติรัตน์ จาก https://ptp.or.th/
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.เพิ่มชื่อจนท."พาณิชย์-อคส.-คต."พ่วง"กิตติรัตน์"คดีข้าวอินโดฯ3 แสนตัน
ป.ป.ช.ลุยสอบ"สยามอินดิก้า" ปรับปรุงข้าวส่งอินโดฯ -"กิตติรัตน์" โดนด้วย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage