กรมวิทย์ฯ เผยพบโควิดสายพันธุ์เดลต้ารวม 661 ราย ด้าน'หมอยง' ประเมินหากไม่รีบชะลอการระบาด อีกราว 4-5 เดือน ไทยอาจพบการระบาดสายพันธุ์เดลต้าเป็นหลัก ชี้ฉีดวัคซีนเข็ม 3 ทำภูมิเพิ่มสูง 10 เท่า ช่วยสกัดสายพันธุ์เดลต้าได้
.....................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวในงานแถลงข่าวอัพเดทการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) และผลกระทบต่อการได้รับวัคซีนโควิด ว่า ปัจจุบันมีการเฝ้าระวังทุกสัปดาห์ ตั้งแต่เดือนเม.ย. - 20 มิ.ย.64 พบสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) จำนวน 5,641 ตัวอย่าง สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) จำนวน 661 ตัวอย่าง ซึ่งสัปดาห์นี้พบเพิ่มขึ้น 170 ราย และสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) จำนวน 38 ตัวอย่าง เพิ่มขึ้น 7 ราย
สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) พบเพิ่มในเขตสุขภาพที่ 4 จำนวน 65 ราย และเขตสุขภาพ 13 กรุงเทพมหานคร พบเพิ่ม 87 ราย ทำให้ยอดสะสมสุ่มตรวจตั้งแต่การระบาดระลอกเดือนเมษายนจนถึงปัจจุบัน พบสายพันธุ์เดลต้า 661 ราย
ส่วนสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) จากข้อมูลการเฝ้าระวังของกรมวิทย์ฯ ขณะนี้พบเพิ่ม 7 ราย ในพื้นที่ภาคใต้ แบ่งเป็น 2 ราย ที่ จ.ภูเก็ต เป็นนักเรียนที่กลับมาจากโรงเรียนมัรกัสจังหวัดยะลา จ.ปัตตานี 4 ราย จ.ยะลา 1 ราย รวมยอดสะสม 38 ราย ทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการรักษาเป็นที่เรียบร้อย โดยที่พบเพิ่มส่วนใหญ่มาจากชุมชน จ.ยะลา แต่จะมีความเชื่อมโยงจากจ.นราธิวาส หรือไม่ ตอนนี้ยังตอบไม่ได้อยู่ระหว่างการถอดรหัสพันธุกรรม เพื่อหาความเชื่อมโยงที่แน่ชัดต่อไป
ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สายพันธุ์เดลต้า เราพบเริ่มต้นจากคนวัยทำงานในแคมป์คนงานแถวหลักสี่ สายพันธุ์เดลต้าแพร่ง่ายกว่าอัลฟ่า (อังกฤษ) 1.4 เท่า ซึ่งตามวัฎจักร จะต้องพยายามต่อสู้กับสายพันธุ์เดลต้าให้ได้ ไม่เช่นนั้นหากพยากรณ์อีก 4-5 เดือนข้างหน้า สายพันธุ์ที่จะระบาดในประเทศไทยจะค่อยๆเป็นสายพันธุ์เดลต้า และในที่สุดทั่วโลกสายพันธุ์เดลต้าจะกลบสายพันธุ์อัลฟ่าต่อไป ซึ่งวัฎจักรจะไม่สิ้นสุดแค่สายพันธุ์เดลต้า จะมีสายพันธุ์อื่น ทั้งนี้ขอย้ำว่า ไม่ว่าจะสายพันธุ์เดลต้า หรืออัลฟ่า ความรุนแรงไม่ได้เปลี่ยนแปลง
ในความกังวลแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์เดลต้า พบว่าหากฉีดวัคซีนทั้งไฟเซอร์ หรือแอสตร้าเซนเนก้า ฉีดเข็มเดียว ภูมิคุ้มกันจะสูงไม่พอ ได้แค่ 20-30% สายพันธุ์เดลต้า จะต้องใช้ภูมิคุ้มกันที่สูงถึงจะป้องกันโรคได้
ดังนั้นขณะนี้เราจะต้องชะลอการระบาดสายพันธุ์เดลต้าให้มากที่สุด ซึ่งหากลดการระบาดลงได้ อาทิตย์ละ 1% ต้องใช้เวลานานกว่าจะให้โควิดลงไประดับหนึ่ง ถึงตอนนี้ถ้าเดลต้าอาจจะมากขึ้น ดังนั้น จึงต้องทำให้คนมีภูมิคุ้มกันสูงมากพอ และจากการศึกษาพบว่า การฉีดวัคซีนเข็ม 2 ของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนฟาร์ม ที่ ภูมิคุ้มกันยังต่ำ จำเป็นต้องฉีดเข็มที่ 3 และการฉีดเข็มที่ 3 ถ้าฉีดในเวลาที่เหมาะสม จะกระตุ้นภูมิเพิ่มขึ้น 10 เท่า
สำหรับการฉีดเข็มที่ 3 อาจข้ามวัคซีน หรือใช้วัคซีนตัวเดิมก็ได้ เช่น ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม เข็มที่ 3 อาจเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยขณะนี้กำลังศึกษาการให้เข็มที่ 3 ที่เหมาะสมว่า หลังจากให้ 2 เข็มแล้ว ควรให้ 3 เดือน หรือ 6 เดือน ภูมิต้านทานถึงจะเพิ่มขึ้น 10 เท่า ซึ่งคาดว่าข้อมูลจะออกมาเร็วๆนี้ และคิดว่าน่าจะทันกับการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่กำลังเพิ่มขึ้น
ส่วนจะสามารถชะลอสายพันธุ์เดลต้า ทันก่อนเปิดประเทศ 120 วันได้หรือไม่นั้น ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ตอนนี้คงตอบไม่ได้ ขึ้นอยู่กับเราทุกคนต้องช่วยกัน ต้องลดการระบาด คุมให้ได้วันละหลักสิบ หรือหลักหน่วย และเสียชีวิตแค่วันละ 1-2 คน ถึงเวลานั้นอาจเปิดประเทศได้
"แต่ถ้าเปิดประเทศในช่วงที่ยังมีคนติดเชื้อหลักพันคน ถึงเปิดไปคงไม่มีใครมา ดังนั้นเราต้องช่วยกัน ลดตัวเลข ประชาชนต้องช่วย และฉีดวัคซีน สองอย่างต้องช่วยกัน" ศ.นพ.ยง กล่าว
ศ.นพ.ยง กล่าวย้ำอีกว่า เราไม่จำเป็นต้องตรวจภูมิหลังรับวัคซีน เพราะแต่ละโรงพบาลจะมีวิธีตรวจที่แตกต่างกัน ตัวเลขวัดไม่เหมือนกันและผลไม่มีค่าอ้างอิง และไม่รู้ว่าตัวเลขนั้นแปลความอย่างไร เรื่องการตรจภูมิคุ้มกันว่าขึ้นหรือไม่ ขณะนี้ รากำลังวิจัย ที่เปรียบเทียบแต่ละวิธี ของการวัดภูมิ โดยนำโควิดละสายพันธุ์ มาตรวจซีรัมในเลือด เพื่อหาภูมิคุ้มกัน ถ้าตรวจจะเสียเงินเปล่าๆ อย่าเชื่อโฆษณาชวนเชื่อ เช่น ค่าตรวจ 350 บาท จะเสียเงินเปล่า
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage