กรมควบคุมโรค เผยคำแนะนำการฉีดวัคซีนในผู้ป่วยเอดส์ได้ ไม่ต้องคำนึงถึงปริมาณเม็ดเลือดขาว-หยุดยาต้านเอชไอวี ย้ำยังไม่มีข้อบ่งชี้ต่อความเสี่ยงเกิดหลอดเลือดดำอุดตัน ส่วนคนกินยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนทุกชนิด แจงไม่ต้องหยุดใช้ยา แต่หากกังวลการเกิดหลอดเลือดดำอุดตัน ให้คุมกำเนิดรูปแบบอื่นแทน ยันวัคซีนมีประโยชน์มากกว่าโทษ
............................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2564 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดประชุมวิชาการออนไลน์ เรื่องการฉีดวัคซีนโควิดในผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือเอดส์ ผ่านเฟซบุ๊ก กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค โดย พญ.ชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ ผู้อำนวยการกองโรคเอส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวี เป็นกลุ่มผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ถือเป็นผู้ป่วยกลุ่มอีกกลุ่มโรคเรื้อรังที่สำคัญ ที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงหากติดเชื้อโควิด
ซึ่งหากไม่ได้รับการฉีดโควิดอาจมีความเสี่ยงถึงเสียชีวิตได้ สถาบันทางการแพทย์ต่างๆ จึงมีคำแนะนำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิดได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึง CD4 หรือปริมาณเม็ดเลือดขาว แต่ขอให้คำนึงถึงอาการการติดเชื้อฉวยโอกาส ที่ต้องได้รับการพิจารณาจากแพทย์ผู้ดูแลประจำว่าสามารถรับการฉีดวัคซีนได้หรือไม่ หากอาการคงที่แล้ว แพทย์อาจพิจารณาให้รับวัคซีนได้ แต่หากยังไม่คงที่ อาจจะเลื่อนระยะเวลาในการรับวัคซีนออกไปก่อน อย่างไรก็ตามขอให้อยู่ภายใต้วิจารณญาณของแพทย์ผู้ดูแลประจำ
สำหรับการจัดสรรวัคซีนโควิดในประเทศ พญ.สุชาดา เจียมศิริ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า แผนกำหนดการจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายแบ่งออกเป็น 2 ระยะ แบ่งเป็น ระยะที่ 1 วัคซีนยังมีปริมาณจำกัด และระยะที่ 2 วัคซีนมีมากขึ้น และเพียงพอ
"ในช่วงระยะที่ 1 วัคซีนยังมีจำกัด เพื่อลดอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต และรักษาระบบสุขภาพของประเทศ กลุ่มเป้าหมายระยะที่ 1 ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน บุคคลากรที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ กลุ่ม 7 โรคเรื้อรังที่เคยประกาศไว้ และอีก 3 กลุ่มโรค ที่กรมควบคุมโรคเพิ่งประกาศไปช่วงเดือน มิ.ย. หลังจากพบว่ากลุ่มดังกล่าวมีโอกาสป่วยรุนแรง และเสียชีวิตได้เช่นเดียวกัน ประกอบด้วย ผู้ป่วยเอชไอวี ผู้ป่วยจิตเวช ออทิสติก และผู้ที่ดูแลตัวเองไม่ได้ รวมถึงผู้ดูแล นอกจากนั้นยังมีผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย" พญ.สุชาดา กล่าว
ส่วนในช่วงระยะที่ 2 วัคซีนมีปริมาณมากขึ้น และเพียงพอแล้วนั้น จะกระจายให้กับกลุ่มอื่นๆ เพื่อรักษาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันนระดับประชากรและฟื้นฟูให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ประกอบด้วย กลุ่มเป้าหมายในระยะที่ 1 บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขอื่นๆ ที่นอกเหยือจากด่านหน้า ผู้ประกอบอาชีพภาคการท่องเที่ยว ผู้เดินทางระหว่างประเทศ ประชาชนทั่วไป นักการฑูต เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ นักธุรกิจต่างชาติ คนต่างชาติพำนักระยะยาว และแรงงานในภาคอุตสาหกรรม
@ ทั่วโลกฉีดวัคซีนแล้วกว่า 2.4 พันล้านโดส ยันมีความปลอดภัย
พญ.สุชาดา กล่าวอีกว่า ข้อมูล ณ วันที่ 17 มิ.ย.2564 แสดงให้เห็นว่าภาพรวมของการฉีดวัคซีนทั่วโลก ฉีดไปแล้วกว่า 2.4 พันล้านโดส คิดเป็น 16% ของประชากรทั้งหมด ถือว่าสูงมาก ดังนั้นแล้วโอกาสที่จะพบอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนอาจสูงขึ้นตาม แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่บังคับให้วัคซีนยี่ห้อใดหยุดการผลิตหรือจำหน่ายในตลาดโลก แสดงว่าวัคซีนโควิดมีความปลอดภัย
"อาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน สามารถเกิดขึ้นได้เนื่องจากเป็นวัคซีนที่อนุญาตให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินเท่านั้น ซึ่งโดยส่วนมากอาการไม่พึงประสงค์ที่พบ จะปวดบริเวณที่ฉีด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือมีไข้ ส่วนอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง จะต้องมีการสอบสวนโรค ซึ่งไม่สามารถด่วนสรุปได้ว่ามีสาเหตุจากวัคซีน เนื่องจากหากไม่มีวัคซีน ทุกๆวันโดยปกติจะมีผู้เสียชีวิตจากภาวะร่างการของเขา อย่างไรก็ตามเนื่องจากเราให้วัคซีนเยอะ แน่นอนว่าอาจเกิดเหตุร่วม ที่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ ด้วยภาวะร่างกายหรือโรคประจำตัวของเขา" พญ.สุชาดา กล่าว
@ 'ผู้ป่วยเอดส์' ฉีดวัคซีนโควิดได้ ไร้ข้อบ่งชี้เกิดหลอดเลือดดำอุดตัน
ด้าน ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการฉีดวัคซีนในผู้ป่วยโรคเอดส์ด้วยว่า แม้ว่าผลการวิจัยในปัจจุบันจะยังไม่มีประสิทธิภาพในผู้ติดเชื้อเอชไอวีมากพอ แต่วัคซีนโควิดทุกยี่ห้อสามารถป้องกันโควิดที่รุนแรงได้ แต่การเกิดภูมิคุ้มกันจากวัคซีน จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระดับ CD4 หรือปริมาณเม็ดเลือดขาว และปัจจัยทางสุขภาพของผู้รับวัคซีน
อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนโควิดครบโดส ยังมีโอกาสติดโควิดได้ ดังนั้นขอให้ทุกคนป้องกันตัวเองร่วมด้วย เช่น ใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ล้างมือ เว้นระยะห่าง และให้รักษาด้วยยาต้านเอชไอวีอย่างต่อเนื่อง
"สำหรับการเกิดหลอดเลือดดำอุดตันต่อฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เป็นอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นได้น้อยในกลุ่มประชาชนทั่วไป ส่วนในกลุ่มผู้ป่วยเอชไอวีนั้น ผลการวิจัยขณะนี้ยังไม่พบว่าการฉีดวัคซีนจะทำให้เกิดหลอดเลือดดำอุดตันเพิ่มมากขึ้น จึงขอให้ผู้ป่วยเอชไปวีไม่ต้องกังวลว่ารับวัคซีนแล้วจะเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดดำอุดตันมากกว่าปกติ ประกอบกับกรรมพันธุ์ของคนไทยที่มีความเสี่ยงน้อยต่อการเกิดหลอดเลือดดำอุดตัน ยิ่งทำให้มั่นใจได้ว่าโอกาสจะเกิดหลอดเลือดดำอุดตันเป็นไปได้ยาก" ผศ.นพ.โอภาส กล่าว
@ ยันไม่ต้องหยุดยาคุม ก่อนฉีดวัคซีนโควิด
สำหรับการฉีดวัคซีนในผู้ที่มีการใช้ยาคุมกำเนิด ผศ.พญ.อรวิน วัลลิภากร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยเอชไอวีจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดดำอุดตัน (Venous Thromboembolism: VTE) เพิ่มขึ้น 2-10 เท่า แต่ทั้งนี้ต่างขึ้นอยู่กับอายุ การติดเชื้อฉวยโอกาส และการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ หรือการไม่ออกกำลังกายด้วย
ขณะเดียวกันผู้กินยาฮอร์โมนเพศ อาจทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดดำอุดตันขึ้นได้เช่นเดียวกันประมาณ 1.5 - 2 เท่า อย่างไรก็ตามผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนทุกชนิดสามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ โดยไม่จำเป็นต้องหยุดใช้ เนื่องจากความเสี่ยงการเกิดหลอดเลือดดำอุดตันที่มีเอสโตรเจนเป็นส่วนประกอบ อยู่ในระดับที่พบได้น้อยในหญิงไทย และยังพบฮอร์โมนดังกล่าวได้มากกว่าในคนตั้งครรภ์ ซึ่งมีระดับเอสโตรเจนสูงมากตามธรรมชาติ
แต่หากกังวลต่อการเกิดหลอดเลือดดำอุดตัน อาจเปลี่ยนการกินยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนมาเป็นในรูปแบบอื่นนอกเหนือจากการรับประทานแทน (์Non-Oral Contraceptive Methods) อาทิ การใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด วงแหวนช่องคลอดคุมกำเนิด การฉีดยาคุมกำเนิด การฝังยาคุมกำเนิด และการใช้ห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตเจน ซึ่งจะช่วยตัดการกระตุ้นภาวะหลอดเลือดดำอุดตันในกระบวนการเมแทบอลิซึมจากการกินได้
ภาพจาก: Freepik
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage