ยอดติดเชื้อเพิ่ม 3,058 ราย รวมสะสม 210,782 ราย ดับอีก 22 ราย ศบค.ผ่อนคลายมาตรการ กทม.นั่งทานในร้านได้ถึง 5 ทุ่ม เริ่ม 21 มิ.ย.นี้ ถอดแมสก์จัดรายการได้ แต่เว้นระยะห่าง 2 เมตร เผยปรับแผนฉีดวัคซีน 10 ล้านโดสในเดือน ก.ค. เคาะยกเลิกกักตัวฟรี พร้อมไฟเขียวเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์
--------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2564 เวลา 12.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวัน โดยพบผู้ติดป่วยรายใหม่ 3,058 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,580 ราย เกิดจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 2,044 ราย เกิดจากการค้นหาเชิงรุกและพบการติดเชื้อในชุมชน 536 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ 459 ราย และอีก 19 รายเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ รวมผู้ป่วยสะสม 210,782 ราย หายป่วยเพิ่ม 4,094 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล 32,795 ราย โดยในจำนวนนี้มีอาการหนัก 1,360 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 378 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 22 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 1,577 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิต 22 ราย มาจาก กทม. 16 ราย และนครปฐม พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา สงขลา แพร่ เพชรบูรณ์ จังหวัดละ 1 ราย เป็นชาย 11 ราย หญิง 11 ราย อายุระหว่าง 32-95 ปี โดยปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค ส่วนใหญ่มีโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หัวใจ ไต ปอด หลอดเลือดในสมอง มะเร็ง SLE ส่วนปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อจากคนในครอบครัว คนอื่น ๆ ได้แก่ เพื่อนร่วมงาน ผู้ดูแล อาศัยหรือเดินทางเข้าไปในพื้นที่ระบาด เข้าไปในสถานที่แออัดพลุกพล่าน ได้แก่ ตลาก ห้าง เรือนจำ และประกอบอาชีพเสี่ยง ได้แก่ ดูดวง ติดป้ายโฆษณาตามที่สาธารณะ
ส่วน 10 จังหวัดที่มีอันดับผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่สูงสุด ตามลำดับ ได้แก่ กทม. 867 ราย สมุทรปราการ 239 ราย สมุทรสาคร 193 ราย สงขลา 152 ราย ชลบุรี 142 ราย นนทบุรี 138 ราย ปัตตานี 95 ราย ปทุมธานี 93 ราย นครปฐม 88 ราย และนครศรีธรรมราช 67 ราย
ด้านผู้ป่วยรายใหม่ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 19 ราย ประกอบด้วย เอธิโอเปีย 3 ราย ตุรกี 1 ราย มาเลเซีย 2 ราย และกัมพูชา 13 ราย
ขณะที่ การกระจายวัคซีนในประเทศ พบผู้ที่ได้รับผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เพิ่มเติม จำนวน 137,776 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 78,109 ราย รวมสะสมผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 7,219,668 ราย แบ่งเป็น ผู้ได้รับเข็มที่ 1 จำนวน 5,252,531 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 1,967,137 ราย
@ ปรับโซนสี คลายล็อก เริ่ม 21 มิ.ย.นี้
นพ.ทวีศิลป์ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ มีมติพิจารณาปรับพื้นที่ตามสถานการณ์การแพร่ระบาด และพิจารณามาตรการผ่อนคลายกิจกรรม สถานที่ต่างๆ โดยแบ่งเป็นโซนสี 4 ระดับ ดังนี้ โซนสีแดงเข้ม พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด มี 4 จังหวัด ได้แก่ กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ และ ปทุมธานี โซนสีแดง พื้นที่ควบคุมสูงสุด มี 11 จังหวัด ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตรัง นครปฐม ปัตตานี เพชรบุรี สงขลา สมุทรสาคร สระบุรี ยะลา และนราธิวาส โซนสีส้ม พื้นที่ควบคุม มี 9 จังหวัด ประกอบด้วย จันทบุรี นครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา ระนอง ระยอง ราชบุรี สระแก้ว และสมุทรสงคราม และโซนสีเหลือง พื้นที่เฝ้าระวังสูง มี 53 จังหวัด
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงมาตรการผ่อนคลายต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ มีสาระสำคัญ ดังนี้ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด อนุญาตให้รวมกลุ่มกิจกรรมได้ไม่เกิน 50 คน ร้านอาหารเปิดได้ไม่เกิน 23.00 น. และร้านที่ติดแอร์ นั่งได้ไม่เกิน 50% สถานศึกษา จัดรูปแบบการเรียนออนไลน์ และปิดสถานที่แข่งขันกีฬาหรือที่เล่นกีฬา ยกเว้นการเล่นกลางแจ้ง หรือที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก พื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามรวมกลุ่มทำกิจกรรมเกิน 100 คน ร้านอาหารเปิดได้ถึง 23.00 น. ห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าเปิดได้ตามปกติ สถานศึกษาเปิดเรียนได้ แต่ต้องได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด และสถานที่เล่นกีฬาเปิดได้ไม่เกิน 21.00 น. ส่วนพื้นที่ควบคุม ห้ามจัดกิจกรรมที่มีรวมกลุ่มเกิน 150 คน และพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม มากกว่า 200 ราย ทั้งนี้ ทุกพื้นที่ยังคงมาตรการใส่หน้ากากเวลาออกนอกเคหะสถาน งดนั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ร้าน และปิดสถานบริการต่างๆ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะทั่วประเทศ โดยเริ่มมาตรการตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย.64
@ จัดสรรวัคซีนให้ กทม. ปริมณฑล และภูเก็ตก่อน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงการบริหารจัดการวัคซีนในประเทศ ว่า เป้าหมายให้บริการวัคซีนจำนวน 10 ล้านโดสในเดือน ก.ค. โดยพิจารณาจัดสรรให้กับผู้ที่ได้จองวัคซีนล่วงหน้าในระบบหมอพร้อม ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง แบ่งการจัดสรรวัคซีนให้ กทม.อย่างน้อย 5 ล้านโดส ส่วนจังหวัดภูเก็ต ให้จัดสรรวัคซีนเข็มที่ 2 อย่างน้อยร้อยละ 70
ทั้งนี้ เกณฑ์การพิจารณาจัดสรรวัคซีนแต่ละพื้นที่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยแบ่งเป็น พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 4 จังหวัด และพื้นที่ภูเก็ตที่มีแผนเปิดการท่องเที่ยว ต่อมาคือจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน พื้นที่คสบคุมสูงสุด หรือมีความเร่งด่วนในการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์การระบาด และจังหวัดที่เหลือของประเทศ
@ เตรียมจัดหาวัคซีนเพิ่มอีก 50 ล้านโดส
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงแผนการจัดหาวัคซีน ว่า ที่ประชุมได้มีการเสนอเพิ่มกรอบการจัดหาวัคซีนจากเดิม 100 ล้านโดส ภายในปี 2564 เป็น 150 ล้านโดส ภายในปี 2565 เพื่อรองรับกรณีการเพิ่มความครอบคลุมการ เพิ่มกลุ่มเป้าหมาย ให้วัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะนี้ ได้มีการจัดหาและดำเนินการเจรจาจองวัคซีนแล้ส 105.5 ล้านโดส แบ่งเป็น แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ซิโนแวค 19.5 ล้านโดส ไฟเซอร์ 20 ล้านโดส และจอห์นสัน แอน จอห์นสัน 5 ล้านโดส ทั้งนี้ ได้มีการเตรียมงบประมาณจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมให้ครบ 150 ล้านโดส แบ่งเป็น ซิโนแวค ประมาณ 28 ล้านโดส และอื่นๆ ประมาณ 22 ล้านโดส ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของวัคซีนและสถานการณ์เชื้อกลายพันธุ์
@ ยกเลิกกักตัวฟรี เดินทางเข้าประเทศต้องเสียค่าที่พักเอง
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงมาตรการจัดสถานที่กักกันโรคสำหรับผู้ที่มีและไม่มีสัญชาติไทยเข้ารับการกักตัว โดยดำเนินการมาร่วม 1 ปีกว่า จะมีการลดสถานกักกันโรคของรัฐ (State quarantine หรือ SQ) และให้เพิ่มในส่วนของสถานกักกันโรคทางเลือก (Alternative quarantine หรือ AQ) เนื่องจากพบว่า มีการใช้บริการเพิ่มมากขึ้น และมีประชาชนที่เดินทางไปต่างประเทศและขอใช้สิทธินี้ มีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก โดยสถานกักกันโรคของรัฐ (SQ) ยังมีอยู่ แต่ให้บริการสำหรับกลุ่มเปราะบาง หรือข้าราชการที่เดินทางกลับมา แต่สำหรับบุคคลทั่วไปต้องใช้สถานกักกันทางเลือก (AQ) โดยคนไทย รัฐจะช่วยในเรื่องการตรวจหาเชื้อ แต่เรื่องค่าที่พัก ค่าโรงแรม จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ค.นี้เป็นต้นไป
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในส่วนสถานกักกันโรคของหน่วยงาน (Organizational Quarantine: OQ) จะใช้รองรับ 2 กรณี คือ แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ โดยกระทรวงแรงงานจะกำหนดพื้นที่ ระยะเวลา และเรื่องต่างๆ ประสานงานร่วมกับภาคเอกชน และกลุ่มคนไทยที่อยู่ต่างประเทศแล้วต้องการกลับมา แต่ไม่มีกำลังในการจ่ายเป็นกลุ่มเปราะบาง ภาครัฐจะจัดหา OQ ให้ ส่วนกรณีทางบก เช่น จังหวัดชายแดน ยังมีสถานกักกันของรัฐ (SQ) อยู่ ซึ่งรัฐออกค่าใช้จ่ายให้ เพื่อป้องกันและควบคุมโรค ส่วนทางอากาศและทางน้ำ ใช้มาตรการเดียวกันคือ กักตัวใน AQ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายกักตัวเอง
@ ถอดแมสก์จัดรายการได้ เว้นระยะห่าง 2 เมตร
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.มีมติเห็นชอบผ่อนคลายสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ พร้อมออกแนวทางปฎิบัติให้ดำเนินการ เช่น แนวปฏิบัติในการถ่ายรายการโทรทัศน์ ละคร ภาพยนตร์ และวีดิทัศน์โดยช่วงเวลาก่อนทำการถ่ายทำรายการ จะต้องขออนุญาตใช้พื้นที่ถ่ายทำโดยปฏิบัติตามมาตรการของแต่ละระดับเขตพื้นที่ มีมาตรการคัดกรอง การซักประวัติ การจัดไทม์ไลน์ก่อนวันเข้าร่วมถ่ายทำไม่น้อยกว่า 7 วัน และควรมีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT – PCR ในระยะเวลา72 ชั่วโมง
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงแนวปฏิบัติในการถ่ายรายการโทรทัศน์ ละคร ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ว่า จำนวนผู้เข้าร่วมปฏิบัติทั้งหมดไม่เกิน 50 คน ต้องปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT โดยผู้ปฏิบัติงานและผู้ร่วมรายการทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ยกเว้นเฉพาะนักแสดงที่เข้าฉาก ส่วนรายการประกวดร้องเพลง เฉพาะผู้เข้าร่วมประกวดที่มีการจัดพื้นที่ไว้เฉพาะ รายการเกมส์โชว์เฉพาะผู้ร่วมรายการสามารถถอดหน้ากากได้คราวละ 1 คน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ประกาศข่าวจะต้องจัดให้มีฉากกั้น และเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร หรือตามความเหมาะสม กรณีในพื้นที่สาธารณะให้ผู้ปฏิบัติงาน และผู้ร่วมรายการสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาทุกกรณี ส่วนมาตรการหลังการถ่ายทำติดตาม รายงานของบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ที่มีการติดเชื้อ เพื่อกำหนดระดับความเสี่ยงของบุคคลที่เกี่ยวข้องท้ังหมดโดยละเอียด ย้อนหลังไม่น้อยกว่า 7 วัน
@ จ่ออนุมัติลูกเรือบินไทยกักตัวที่บ้าน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงข้อเสนอพิจารณาการปรับระยะเวลาการกักตัวของลูกเรือ บริษัท การบินไทย ว่า การปรับมาตรการกักตัวสำหรับลูกเรือการบินไทยที่เสนอเข้ามาใน ศบค. เนื่องจากบริษัทต้องรับภาระค่าใช้จ่ายสูง เช่น กรณีบินระยะสั้นๆ แล้วต้องมากักตัว ขณะเดียวกันก็มีวัคซีนป้องกันโควิด ดังนั้นพนักงานลูกเรือที่ได้รับวัคซีนครบตามกำหนดอย่างน้อย 14 วัน แบ่งเป็น 2 กรณี คือ ไม่ได้ลงจากเครื่องบิน หรือลงไม่เกิน 12 ชั่วโมง โดยสวมชุด PPE ให้คุมไว้สังเกตอาการในที่พำนักของผู้เดินทาง เมื่อมีอาการให้แจ้งสายการบิน และอีกกรณีคือที่ไม่ได้ลงเครื่องบิน หรือลงมาไม่เกิน 12 ชั่วโมง แต่ไม่ได้สวมชุด PPE ต้องเข้ารับการกักกันที่บ้านได้ เพื่อลดค่าใช้จ่าย
@ เปิดภูเก็ต 1 ก.ค.นี้ สธ.เผยหากติดเชื้อ 90 รายต่อสัปดาห์ จ่อเตรียมยุติ
นพ.ทวีศิลป์ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ได้เห็นชอบหลักการเปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.64 และจังหวัดสุราษฎร์ธานี เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่าในลำดับถัดไป ตามการนำเสนอของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (ททท.) โดยพล.อ.ประยุทธฺ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.ชุดใหญ่ ได้มอบนโยบายต่อทิศทางการเปิดประเทศว่า จะต้องค่อยๆ เปิด และจัดความสมดุลระหว่างการป้องกันการติดเชื้อในประเทศ กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงข้อกำหนดในการเปิดรับนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องพำนักในภูเก็ตอย่างน้อย 14 วัน กรณีอยู่น้อยกว่า 14 วันต้องเป็นการกลับประเทศต้นทางเท่านั้น กรณีเกาะสมุยเกาะพะงัน และเกาะเต่า โดยในวันที่ 1-3 นักท่องเที่ยวสามารถออกนอกห้องพัก และใช้บริการในบริเวณที่พัก วันที่ 4-7 นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวในระบบปิด ตามเส้นทางที่กำหนด ในพื้นที่เกาะสมุย และวันที่ 8-14 เดินทางท่องเที่ยวได้ที่หมู่เกาะทะเลใต้ เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า ไม่กักตัวแบบมีเงื่อนไข ทั้งนี้ ผอ.ศบค.ได้เน้นย้ำว่าที่เลือกพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากเป็นเกาะและสามารถควบคุมได้
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า โดยนักท่องเที่ยวจะต้องมาจากประเทศที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดว่าเป็นกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำและเสี่ยงปานกลาง และได้รับการฉีดวัคซีนครบสองเข็มโดยวัคซีนจะต้องผ่านการอนุมัติขององค์การอนามัยโลก (WHO) อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขมีข้อห่วงใยโดยจะต้องมีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการ โควิดเพื่อดูเรื่องของข้อมูล มีการเตรียมความพร้อมประชาชน เพื่อให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยรองนายกรัฐมนตรีระบุว่าให้จังหวัดพูดคุยกับประชาชนผู้ประกอบการและภาครัฐเพื่อให้เกิดการทำงานและมองทุกมุม เพื่อให้แต่ละจังหวัดมีความเห็นตั้งแต่ต้นและเกิดการยอมรับ แทนที่ ศบค.จะสั่งการ แต่เกิดจากความพร้อมของพื้นที่เอง และมีการเตรียมความพร้อมมาตรการการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค แต่หากพบว่ามีการติดเชื้อและจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 90 ราย ต่อสัปดาห์ หรือมีลักษณะการกระจายโรคในจังหวัดทั้ง 3 อำเภอและมากกว่า 6 ตำบลหรือมีการระบาดเกิน 3 คลัสเตอร์ หรือมีการระบาดในวงกว้างหาสาเหตุหรือความเชื่อมโยงไม่ได้และควบคุมไม่ได้จะมีการปรับลดมาตรการลงและทำให้เป็นระบบปิดและทบทวนหรือยุติภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หลายคนคงมีข้อสงสัยว่าทำไมเมื่อยังมีคนติดเชื้อเป็นพันคนอย่างนี้แล้วยังจะเปิดประเทศ ทำไมไม่มีความกังวลใจ อย่างที่ว่ากันไม่ใช่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวที่มีการติดเชื้อโควิด ประเทศอื่นที่ติดเชื้ออันดับสูงกว่า ก็มีความขยับและมีการนำไปสู่การใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Noemal) กันแล้ว ดังนั้นจะต้องเรียนรู้เพื่อที่จะกลับไปมีชีวิตแบบเดิม โดยทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการป้องกันโรค ลดการสูญเสียให้ได้มากที่สุด ตามที่นายกรัฐมนตรีบอกว่ามีความเสี่ยง ฉะนั้นจึงต้องร่วมด้วยช่วยกันเป็นการกำหนดทิศทางเป็นเป้าหมายไปข้างหน้า เป็นหน้าที่ของทุกคน เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ เป็นฟันเฟืองนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
@ ทั่วโลกป่วย 385,601 ราย สะสม 178.19 ล้านราย
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกพบผู้ป่วยเพิ่ม 385,601 ราย รวม 178,195,929 ราย อาการหนัก 82,510 ราย หายป่วย 162,692,754 ราย เสียชีวิต 3,857,794 ราย โดยสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยเพิ่ม 11,230 ราย รวม 34,377,592 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 291 ราย รวม 616,440 ราย อินเดีย พบเพิ่ม 62,409 ราย รวม 29,761,964 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1,310 ราย รวม 383,521 ราย บราซิล พบเพิ่ม 74,327 ราย รวม 17,704,041 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2,335 ราย รวม 495,172 ราย ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 78 ของโลก
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage