ปธ.-กรรมการ ป.ป.ช. ประชุมร่วม ผบ.ตร.-ตำรวจ ร่วมมือป้องกันปราบปรามการทุจริต จ่อเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันเพื่อทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เตรียมอบรมด้านไต่สวนเพิ่มเติม-ตั้งอนุฯร่วมไว้ปฏิบัติงานตามกฎหมาย
.............................................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2564 เวลา 09.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี สำนักงาน ป.ป.ช. จัดประชุมประสานความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 โดยมี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นประธานการประชุมร่วมกัน โดยผู้บริหารของสำนักงาน ป.ป.ช. และ ตร. ดำเนินการหารือร่วมกันเกี่ยวกับการประสานความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนบรรลุวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของกฎหมาย
นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกันว่า เป็นการประชุมเพื่อหารือถึงความร่วมมือของสองหน่วยงาน เช่น การดำเนินการตามหมายจับ การส่งสำนวนให้กับพนักงานสอบสวน ระบบข้อมูลสารสนเทศ การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง ป.ป.ช. และ ตร. การร่วมมือกันในการติดตามผู้ต้องหาตามหมายจับที่ ป.ป.ช. ขอให้ตำรวจออกหมายจับ อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาเรื่องที่ ป.ป.ช. ส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อตามกฎหมาย จะต้องส่งกลับมาให้ ป.ป.ช. เพื่อดูว่าการทำงานต่าง ๆ เป็นไปตามความเหมาะสมหรือไม่ และต้องมาลงในรายละเอียดกันว่า ป.ป.ช. มอบพนักงานสอบสวนไปแล้วในส่วนของจังหวัดใด อำเภอใด ภาคไหน หรือสถานีตำรวจภูธรใด ต้องมีระบบในการติดตามกรณีกล่าวหาต่าง ๆ
นายนิวัติไชย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังหารือกันถึงเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรรม จะต้องมีการสร้างระบบเชื่อมโยงข้อมูลภายในของทั้ง 2 หน่วยงาน เหมือนในปัจจุบันที่ ป.ป.ช. เชื่อมโยงข้อมูลกับอัยการ และศาล แต่ต้องเพิ่มความเชื่อมโยงข้อมูลกับตำรวจเพื่อให้ครบวงจรของการส่งเรื่องให้ตำรวจ หรือตำรวจส่งกลับมา ป.ป.ช. หรือตำรวจมีความเห็นส่งอัยการฟ้อง หรืออัยการส่งฟ้องศาล เป็นต้น หากครบวงจรแล้วจะสามารถติดตามข้อมูลการทุจริตได้อย่างเป็นระบบ สามารถนำข้อมูลต่าง ๆ มาประมวลได้ เช่น เรื่องที่ ป.ป.ช. ไต่สวนเสร็จแล้ว หรือพนักงานสอบสวนสอบสวนแล้วเสร็จ ได้ส่งฟ้อง และสั่งฟ้องกี่เรื่อง อัยการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องกี่เรื่อง ศาลตัดสินและยกฟ้องกี่เรื่อง จะได้มีข้อมูลทั้งระบบ
โฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวว่า ผบ.ตร. เสนอแนะกับ ป.ป.ช. ว่า จะร่วมฝึกอบรมในเรื่องการสอบสวน เพิ่มเติมประสิทธิภาพและเทคนิคของพนักงาน เช่น การแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ไปฝึกอบรมการสอบสวน หรือ ป.ป.ช. ให้พนักงานสอบสวนมาร่วมฝึกเรื่องการไต่สวนในคดีทุจริต เพื่อจะได้รู้ว่าเรื่องคดีทุจริตนั้น การไต่สวนจะต้องไต่สวนใคร อย่างไร เป็นการเพิ่มองค์ความรู้ รวมไปถึงเรื่องระเบียบพัสดุ จัดซื้อจัดจ้าง ระเบียบวิธีปฏิบัติ กฎหมายปราบปรามการทุจริต โดย ป.ป.ช. สามารถถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ให้ได้ ส่วนเรื่องการสอบสวน พนักงานสอบสวนจะได้อบรมการสอบสวนให้แก่พนักงาน ป.ป.ช. เป็นการแลกเปลี่ยนกันในเชิงเทคนิค เพื่อพัฒนาบุคลากรของทั้ง 2 หน่วยงาน
“ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เห็นชอบในการประสานความร่วมมือของทั้ง 2 หน่วยงาน โดย ตร. ยินดีที่จะให้ความอนุเคราะห์ตามที่ ป.ป.ช. เสนอ เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานในการเชื่อมโยงการทำงาน เช่น การควบคุมตัว การฝากขัง และจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานความร่วมมือระหว่าง ป.ป.ช. กับ ตร. ในการปฏิบัติงานให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.” โฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/