เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ จี้รัฐบาลลาออกทั้งคณะ หลังตีตกกฎหมายบำนาญแห่งชาติ ชี้รัฐเมิน ไม่สนับสนุนสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ซ้ำ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ยังลดงบสวัสดิการประชาชน
..........................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2564 นายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ We Fair กล่าวถึงการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 พบว่ากรอบงบประมาณปี 65 อยู่ที่ประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท หรือลดลงประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดสรรงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนภายใต้สถานการณ์โควิด อีกทั้งยังไม่พบว่ามีนโยบายด้านรัฐสวัสดิการปรากฏใน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเลย
นายนิติรัตน์ กล่าวถึงข้อสังเกตว่า งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการสังคมของประชาชนโดยรวม ถูกลดลงทั้งหมดประมาณ 36,000 ล้านบาท เช่น งบประกันสังคมลดลงไปประมาณ 30% งบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐลดลงประมาณ 40% งบ กองทุนการออมแห่งชาติลดลงประมาณ 50.5% งบการเคหะลดลงประมาณ 53.2% รวมถึงงบกองทุน สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ก็ถูกปรับลดไปประมาณ 2 พันล้านบาท
ส่วนกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการของประชาชน เช่น กระทรวงแรงงานถูกลดงบมากที่สุดเกือบ 30% งบจังหวัดและกลุ่มจังหวัดลดลง 24% งบกระทรวงศึกษาลดลง 6.7% งบของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นลดลง 6.6% งบประทรวงอุดมศึกษาลดลง 3% ส่วนงบของกระทรวงสาธารณสุขลดลงเกือบ 3% เรียกได้ว่างบถูกลดเกือบทุกกระทรวง
ที่สำคัญเงินอุดหนุนเด็กเล็กที่ให้เฉพาะครอบครัวที่ยากจน ไม่ปรับเพิ่มเป็นแบบถ้วนหน้า และงบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแม้ปรับเพิ่มขึ้นไปแต่เป็นไปตามจำนวนผู้สูงอายุ ซึ่งไม่ได้สะท้อนหลักคิดของการจัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้าที่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แต่อย่างใด
ขณะที่สวัสดิการของข้าราชการกลับเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 2% เป็นงบบำนาญข้าราชการที่อยู่ในงบกลางปรับสูงขึ้นจากปีที่แล้ว 3 แสนล้าน เป็น 316,000 ล้านบาท หรือเทียบง่ายๆ เงิน 100 บาทเป็นสวัสดิการของข้าราชการ 15 บาท เป็นเงินเดือนข้าราชการอีก 25 บาท รวมแล้วเป็นค่าใช้จ่ายเฉพาะส่วนข้าราชการรวม 40 บาท
ประเด็นสุดท้าย งบกระทรวงกลาโหมแม้จำนวนจะลดลงจาก 6.8% เหลือ 6.6% แต่ถือว่างบลดลงไม่มาก คือยังอยู่ในช่วงที่ได้งบปีละประมาณ 2 แสนล้านบาทมาโดยตลอดตั้งแต่มีรัฐประหารเป็นเงินติดล้อรถถัง และในงบ 2 แสนล้านบาทนั้น เป็นเงินเดือนนายพลไปแล้วกว่า 100,000 ล้านบาท หรือประมาณ 51% ของงบกลาโหมทั้งหมด และเมื่อเทียบงบของกลาโหมได้มากกว่ากระทรวงแรงงาน 4 เท่า มากกว่ากระทรวงอุดมศึกษา 1.6 เท่า มากกว่า สปสช. 1.44 เท่า และมากกว่ากระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กว่า 8 เท่า
"เราจึงไม่อาจไว้วางใจตัวร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 65 นี้ได้เลย จึงขอเรียกร้องให้ ส.ส. คว่ำร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะชัดเจนว่ามีแนวคิดที่ไม่ได้มองเรื่องรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า แต่เป็นสวัสดิการแบบอภิสิทธิ์ชน และถ้าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 65 ถูกคว่ำ หมายความว่ารัฐบาลต้องยุบสภา หรือนายกฯ ต้องลาออกซึ่งเป็นสิ่งสมควรทำอย่างยิ่ง" นายนิติรัตน์ กล่าว
ด้าน นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลที่มาจากการสืบทอดอำนาจ แปลงร่างมาเป็นรัฐราชการ ในปัจจุบันมีวิธีคิดการจัดสรรงบประมาณปี 2565 ที่ทำให้เราเห็นได้ว่ารัฐบาลไม่ได้สนใจการสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนเลยแต่กลับช้ำเติมประชาชนด้วยการตัดงบประมาณที่จะเป็นสิทธิและสวัสดิการที่ประชาชนเข้าถึงได้โดยตรง เช่น งบระบบหลักประกันสุขภาพ งบอุดหนุนเด็กแบบถ้วนหน้า งบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
ที่ผ่านมานโยบายของรัฐบาลหลายอย่าง ไม่เคยก้าวข้ามเรื่องการช่วยเหลือแบบสงเคราะห์ เป็นเพียงนโยบายชั่วคราว ไม่สนใจความยั่งยืน มีมุมมองที่เห็นประชาชนเป็นภาระให้แบบชิงโชคสงเคราะห์ไปวันๆ ในขณะที่ภาคประชาชนอย่างพวกเรา พยายามผลักดันให้เกิดรัฐสวัสดิการที่ยั่งยืน โดยใช้ช่องทางที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ เช่น การรวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 ชื่อ เพื่อเสนอ พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ที่พวกเรามุ่งหมายจะเปลี่ยนเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญถ้วนหน้าแต่นายกรัฐมนตรี กลับปัดตกไป โดยไม่ฟังเสียงประชาชน
ยิ่งไปกว่านั้น ในการประชุมสภาฯ พิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 65 เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้อภิปราย ดูถูกประชาชนว่าเสนอร่างกฎหมายเหมือนลอกกันมา โดยไม่สนใจสาระของกฎหมายไม่เคยเห็นหัวประชาชน เคยชินแต่การทำให้ประชาชนวนเวียนอยู่กับความยากจน และรัฐช่วยเหลือแบบสงเคราะห์ ส่งเสริมระบบอุปถัมภ์ที่เป็นอยู่มายาวนาน เราประชาชนไม่อยากได้ระบบแบบนี้เราต้องการ รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าไม่ใช่สงเคราะห์จากรัฐ
"นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า ขณะที่ประชาชนอยากมีสังคมที่ดีกว่านี้เป็นสังคมแห่งรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า แต่ชนชั้นนำต้องการเพียงการสงเคราะห์เท่านั้นจากการจัดสรรงบประมาณของปี 65 ชัดเจนว่ารัฐบาลมีวิธีคิดกับประชาชนแบบไหน" นายอภิวัฒน์ กล่าว
นายอภิวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด มีคนต้องตกงาน ครอบครัวชุมชนเปราะบางลง เพราะเราไม่มีหลักประกันในชีวิตที่ดีพอ รัฐบาลที่ไร้ความสามารถสมควรต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก ไม่ควรมาทำหน้าที่แทนประชาชนในยามวิกฤติแบบนี้
ขณะเดียวกัน นางหนูเกณ อินทจันทร์ ตัวแทนจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่ารัฐบาลแก้ไขปัญหาของผู้สูงอายุแบบเกาไม่ถูกที่คัน งบด้านกลาโหมกับงบสวัสดิการข้าราชการไม่มีใครไปแตะต้องแต่งบประมาณที่ใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนกลับโดนตัด
นางหนูเกณ กล่าวอีกว่า เราอยากได้สวัสดิการที่ดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคนอย่างยั่งยืน เราก็ช่วยกันทำร่างกฎหมายบำนาญถ้วนหน้าขึ้นมา เรามีการไปพูดคุยกับพรรคการเมืองเพื่อขอให้ช่วยสนับสนุนกฎหมาย เราทำการสำรวจข้อมูลความต้องการของประชาชนเกี่ยวกับประโยชน์ของการมีบำนาญแห่งชาติ เรายังต้องทำงานร่วมกับนักวิชาการให้ช่วยสนับสนุนข้อมูลและสร้างความมั่นใจว่ารัฐสวัสดิการทำได้ กฎหมายของเราจึงมาจากทุกฝ่ายช่วยกันทำ ไม่ได้ลอกใครมา
ถ้าประชาชนมีบำนาญผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท เฉลี่ยวันละ 100 บาท หรือเทียบกับมื้ออาหารมื้อละไม่ถึง 35 บาท ก็ยังทำให้คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุขั้นพื้นฐานดีขึ้น ในขณะที่ลูกหลานเองจะได้มีเวลามาดูแลครอบครัวไม่ต้องออกไปทำโอทีเพื่อให้เงินมาให้พ่อแม่อีก เพราะพ่อแม่เขาสามารถดูแลตัวเองได้
อยากติงรัฐบาลอีกเรื่องหนึ่งที่ทำบ้านให้ผู้สูงอายุและคนจนเช่า ขนาดบ้านเอื้ออาทรที่ทำออกมาไม่กี่ล้านยูนิตก็ยังขายไม่ออก ยังจะมาสร้างบ้านเช่าให้มันเปลืองงบ จึงอยากบอกรัฐบาลว่าเลิกคิดว่าจะทำบ้านเช่าให้ผู้สูงอายุหรือคนจนไปอยู่นอกเมืองแล้วให้คนจนต้องเดินทางเข้ามาทำมาหากิน ทำงานในเมือง ถ้ารัฐบาลมีความคิดแบบก้าวหน้า มีความฉลาดในการบริหารจัดการ และสนใจอยากให้คนจนมีที่อยู่อาศัยจริงๆ ก็เอาที่ดินของรัฐ เช่น ที่การรถไฟ ที่ราชพัสดุ ที่การท่าเรือที่อยู่ในเมืองมาจัดสรรให้คนจนเช่าในระยะยาวจะดีกว่าเป็นการแก้ไขปัญหาได้ถูกจุด
“พี่แก่แล้วอายุ 60 แล้วและสุขภาพไม่ค่อยดี ถ้าต้องไปอยู่บ้านเช่าตามที่รัฐมนตรีกระทรวง พม. สร้างไว้ให้เดือนละ 1,500 บาท ช่วงแรกๆ อาจมีเงินจ่าย แต่นานๆ ไประยะยาวจะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย ทำงานก็ทำไม่ได้เหมือนก่อน ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปหาหมอด้วย เงินออมที่มีก็ไม่เพียงพอ ถ้าไม่มีบำนาญที่เป็นรายได้ขั้นพื้นฐานให้กับผู้สูงอายุแล้วจะหาเงินที่ไหนมาใช้จ่าย ถ้าคนเป็นรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านการดูแลสวัสดิการของประชาชนไม่เข้าใจปัญหาก็ลาออกไปซะดีกว่า” นางหนูเกณ กล่าว
นอกจากนี้ นางพวงทอง ผู้แทนจากเครือข่ายหลักประกันสุขภาพภาคเหนือ ให้ข้อมูลผ่านทางโปรแกรมซูมเพิ่มเติมว่า ระหว่างทางที่เราล่ารายชื่อประชาชนเพื่อสนับสนุนร่างกฎหมายบำนาญของประชาชน เราก็ได้สำรวจความเห็นของประชาชนซึ่งพบว่า 100% ของคนที่สนับสนุนกฎหมายบำนาญในภาคเหนืออยากให้เป็นประเทศไทยเป็นรัฐสวัสดิการที่เป็นหลักประกันสร้างความมั่นคงขั้นพื้นฐานให้กับชีวิต ซึ่งไม่ใช่แค่การมีบำนาญเท่านั้น ต้องปรับระบบสุขภาพให้มีมาตรฐานเดียว ทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพด้วย ภาคประชาชนต้องรวมพลังกันให้เข้มแข็งผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการไปด้วยกัน อย่าไปหวังรัฐบาลเพราะคงทำยากอยู่มากี่ปีไม่ตอบโจทย์ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเลย
ด้าน นางศุภลักษณ์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีจากภาคอีสาน กล่าวว่า ทำเรื่องบำนาญแห่งชาติมานาน เพราะคาดหวังว่าเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีหลักประกันที่สร้างความมั่นคงในชีวิต แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีปัดตก ทำให้หมดหวังไปเลย ตนเองหวังว่าถ้าได้เงิน 3,000 บาท จะได้คุณภาพชีวิตที่มั่นคงและยังทำให้คนรุ่นหลัมีเงินออมในอนาคต เพราะไม่ต้องเอาเงินเดือนมาแบ่งให้พ่อแม่ใช้ แต่สิ่งที่รัฐทำตอนนี้ทำแบบสงเคราะห์มากกว่าและไปไม่ถึงคนจนจริงๆ ด้วย เราถึงเรียกร้องอยากมีรัฐสวัสดิการที่ดูแลคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในประเทศที่เป็นแบบครอบคลุมถ้วนหน้าเข้าถึงทุกคน
ขณะที่ นางจุฑา เครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ กล่าวด้วยว่า พอนายกรัฐมนตรีปัดตกกฎหมายบำนาญแห่งชาติถึง 5 ฉบับ รู้สึก เศร้ามาก สิ้นหวัง และผิดหวังมาก เพราะเราอยากเปลี่ยนแนวคิดการสงเคราะห์ที่จ่ายแบบเบี้ยยังชีพ 600 บาทมาเป็นสิทธิให้ประชาชนที่อายุ 60 ปีมีคุณภาพชีวิตที่ดี
อีกทั้งยังรู้สึกอายที่รัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวง พม. ที่มาจากคนใต้กลับไม่สนใจที่จะดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนเลย เห็นได้จากการอภิปรายในสภาที่มีท่าทีที่ไม่สนับสนุนกฎหมายบำนาญแห่งชาติเลย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้มีท่าทีหรือแนวคิดอย่างไรต่อการจัดสวัสดิการให้กับประชาชน แต่เรียกได้ว่าผลงานไม่เป็นที่ประทับใจ
"ถ้านายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดนี้รักประชาชนจริงต้องทำให้ประชาชนเห็นผลงานในการดูแลคุณภาพชีวิตคนให้มากกว่านี้ แต่ตอนนี้ต้องการให้มีการคว่ำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 65 ลงพร้อมทั้งร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ให้มีเรื่องรัฐสวัสดิการเข้าไปในหลักการของรัฐธรรมนูญด้วย แต่สุดท้ายก็อยากจะบอกว่าถึงแม้ว่าภาคประชาชนจะรู้สึกสิ้นหวังแต่เราพร้อมที่ติดตามประเด็นบำนาญแห่งชาติที่เราทำมากว่า 10 ปีอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องต่อไป" นางจุฑา กล่าว
ภาพจาก: บำนาญแห่งชาติ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage/