ไทยมียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,440 ราย พบเด็กอายุ 10 เดือนเสียชีวิต รวมเสียชีวต 38 ราย กทม.พบคลัสเตอร์ใหม่ ห้างย่านลาดพร้าว ติดเชื้อแล้ว 23 ราย ด้าน ศบค.คุมเข้มโรงงาน ขีดเส้นประเมินมาตรการกันโควิดภายใน 15 มิ.ย.นี้
------------------------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2564 เวลา 12.30 น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวัน โดยพบผู้ติดป่วยรายใหม่ 3,440 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,338 ราย เกิดจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 1,175 ราย เกิดจากการค้นหาเชิงรุกและพบการติดเชื้อในชุมชน 1,163 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ 1,087 ราย และอีก 15 รายเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ รวมผู้ป่วยสะสม 165,462 ราย หายป่วยเพิ่ม 2,843 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล 49,777 ราย โดยในจำนวนนี้มีอาการหนัก 1,247 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 381 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 38 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 1,107 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิต 38 ราย มาจาก กทม. 18 ราย สมุทรปราการ 4 ราย ชลบุรี ปทุมธานี จังหวัดละ 3 ราย ฉะเชิงเทรา นนทบุรี สุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 2 ราย และพระนครศรีอยุธยา ร้อยเอ็ด ราชบุรี อุดรธานี จังหวัดละ 1 ราย เป็นชาย 24 ราย หญิง 14 ราย อายุระหว่าง 10 เดือน - 95 ปี โดยปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคปอด โรคหลอดเลือดสมอง โรงมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไต โรคอ้วน โรคตับ SLE ส่วนปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อสูงสุดยังมาจากคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน อาศัยหรือเดินทางเข้าไปในพื้นที่ระบาด อาชีพเสี่ยง ได้แก่ ค้าขาย ขับรถประจำทาง แท็กซี่ และ รปภ. เดินทางไปในที่คนหนาแน่น ได้แก่ ตลาด และโรงพยาบาล
ส่วน 10 จังหวัดที่มีอันดับผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่สูงสุด ตามลำดับ ได้แก่ กทม. 680 ราย สมุทรปราการ 466 ราย เพชรบุรี 449 ราย ตรัง 176 ราย สมุทรสาคร 78 ราย นนทบุรี 62 ราย ปทุมธานี 39 ราย นราธิวาส 34 ราย พระครศรีอยุธยา 33 ราย และชลบุรี 29 ราย
ด้านผู้ป่วยรายใหม่ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 15 ราย ประกอบด้วย อินเดีย 2 ราย คูเวต 1 ราย จีน 1 ราย โปรตุเกส 1 ราย อเมริกา 1 ราย ญี่ปุ่น 2 ราย กัมพูชา 3 ราย เมียนมา 3 ราย และมาเลเซีย 1 ราย
ขณะที่ การกระจายวัคซีนในประเทศ พบผู้ที่ได้รับผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เพิ่มเติม จำนวน 51,881 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 36,978 ราย รวมสะสมผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 3,753,718 ราย แบ่งเป็น ผู้ได้รับเข็มที่ 1 จำนวน 2,591,372 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 1,162,346 ราย
@ ชายแดนไทย-เมียนมา ลักลอบเข้าเมืองมากที่สุด
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ไทยยังพบการลักลอบเดินทางเข้าประเทศตามแนวชายแดน รวม 211 จากลาว 30 ราย กัมพูชา 59 ราย และเมียนมา 79 ราย ส่วนใหญ่เป็นคนไทย มีทั้งนักเรียน นักพนันออนไลน์ ผู้อาชีพรับจ้าง และพบคนจีนลักลอบเข้ามาทางด่านแม่สอด โดยทั้งหมดต้องถูกดำเนินคดี
@ กทม.พบคลัสเตอร์ใหม่ ห้างย่านลาดพร้าว
พญ.อภิสมัย รายงานสถานการณ์คลัสเตอร์ใหม่ที่พบในวันนี้ ว่า ในพื้นที่ กทม.มีพื้นที่เฝ้าระวังรวม 48 คลัสเตอร์ พบคลัสเตอร์ใหม่ เป็นห้างสรรพสินค้าในย่านลาดพร้าว ติดเชื้อ 23 ราย และในวันนี้ ทาง กทม.จะได้ลงพื้นที่ลงตรวจหาผู้ติดเชื้อและผู้มีความเสี่ยง
@ แรงงานต่างด้าวติดเชื้อมากกว่า เหตุจากที่พักอาศัยแออัด
พญ.อภิสมัย เปิดเผยว่า การประชุม ศบค.ชุดเล็ก ว่า ได้มีการพูดคุยกันในรายละเอียดของโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ที่จ.สระบุรี ยังพบว่าได้กระจายไปหลายจังหวัด โดยโรงงานแรกเป็นโรงงานชำแหละไก่ มีพนักงงานค่อนข้างเยอะ เป็นชาวไทย 4,000 กว่าราย ต่างชาติ 1,000 กว่าราย ส่วนใหญ่เป็นชาวกัมพูชา และการติดเชื้อถือว่าหลากหลาย มีทั้งติดเชื้อภายในแผนกทำหน้าร้าน เป็นพนักงานแปรรูปชิ้นเนื้อไก่ พนักงานเตรียมวัตถุดิบ รวมทั้งพนักงานส่วนสนับสนุน จะเห็นได้ว่ามีการกระจายติดเชื้อทั้งโรงงาน พบว่าชาวต่างชาติติดเชื้อมากกว่าคนไทย โดยแรงงานกัมพูชา ส่วนใหญ่อาศัยในหอพัก พบอัตราการติดเชื้อสูงถึง 16.8% ขณะที่แรงงานไทย ส่วนใหญ่อาศัยที่บ้าน มีอัตราการติดเชื้อ 4.9%
@ ศบค.ทบทวนมาตรการคุมโควิดในโรงงาน
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ที่ประชุมได้ทบทวนมาตรการเกี่ยวกับการติดเชื้อในโรงงาน โดยทางสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย นำเสนอผลข้อสรุปจากการประชุมหารือร่วม เกี่ยวกับกรณีสถานประกอบการโรงงาน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ลดความรุนแรงในการระบาด ควบคุมการแพร่กระจายสู่ชมุชนในวงกว้าง และเพื่อปกป้องเศรษฐกิจ และสังคม ให้สถานประกอบการปลอดภัย และดำเนินกิจการได้ในช่วงการระบาด
พญ.อภิสมัย เผยว่ากรมอนามัยได้วิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงจากการแพร่ระบาดในโรงงาน พบว่าเกิดจากความแออัด ทั้งในที่ทำงานและที่พัก โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา สำรวจพบว่า มีการติดเชื้อใน 10 จังหวัด โดยโรงงานขนาดใหญ่ ที่มีคนงานเกิน 200 คน พบการติดเชื้อค่อนข้างสูง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ รวมถึง ความแออัด ทั้งในที่ทำงาน และที่พักคนงาน ระบบระบายอากาศไม่ดี จุดสัมผัสไม่สะอาด และพฤติกรรมที่มีกิจกรรมร่วมกัน โรงงานที่มีขนาดใหญ่ พบการติดเชื้อถึง 20% ส่วนโรงงานขนาดกลางและเล็ก รายงานติดเชื้อ 5%
@ คุมเข้มโรงงาน ต้องประเมินมาตรการกันโควิดภายใน 15 มิ.ย.
ที่ผ่านมาได้มีการรณรงค์ให้ใช้มาตรการ Thai Stop COVID+ เพื่อการประเมินตนเอง ที่ทางโรงงาน หรือสถานประกอบการ รวมทั้ง ตลาด หรือ แคมป์คนงาน สามารถเข้าไปศึกษารายลเอียด และประเมินตนเอง นอกจากนี้ การประเมินตนเอง ยังมีในส่วนของ IPHA เป็นเกณฑ์การประเมินตนเองของอุตสาหกรรม มีรายละเอียดที่เป็นชุดคำถามในเชิงรุก ที่มีการพัฒนา ให้เป็นการดำเนินงานบูรณาการของทุกภาคส่วน เรียกว่า Good Factory Practice หรือ GFP เพื่อให้โรงงาน สถานประกอบการ เรียนรู้มาตรการป้องกันโรค สอบสวนโรค และจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือจัดวางมาตรการเสริม เพื่อเตรียมรับมือกับการระบาดได้
พญ.อภิสมัย กล่าวเพิ่มเติมว่า มีโรงงาน 2,800 โรงงานเข้าทำแบบประเมิน ขณะที่โรงงานขนาดใหญ่มีเพียง 600 แห่ง ที่ให้ความร่วมมือ ดังนั้นภายใน 15 มิ.ย.นี้ โรงงานขนาดใหญ่ทั้ง 3,300 แห่ง ต้องทำแบบประเมินตนเองอย่างครบถ้วน พร้อมเน้นย้ำจังหวัด ทำการประชาสัมพันธ์ สื่อสารทำความเข้าใจ นอกจากนี้อาจต้องใช้มาตรการลงโทษหากสถานประกอบการละเลยในเรื่องนี้
@ ทั่วโลกป่วย 447,201 ราย สะสม 171.92 ล้านราย
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกพบผู้ป่วยเพิ่ม 447,201 ราย รวม 171,927,802 ราย อาการหนัก 90,672 ราย หายป่วย 154,407,182 ราย เสียชีวิต 3,575,545 ราย โดยสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยเพิ่ม 12,976 ราย รวม 34,136,738 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 287 ราย รวม 610,436 ราย อินเดีย พบเพิ่ม 133,228 ราย รวม 28,306,883ราย เสียชีวิตเพิ่ม 3,205 ราย รวม 335,114 ราย บราซิล พบเพิ่ม 77,898 ราย รวม 16,625,572 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2,346 ราย รวม 465,312 ราย ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 82 ของโลก
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage