คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา ชี้ปฏิรูปตำรวจล้มเหลว เหตุรัฐไม่จริงจัง เป็นวาทกรรมที่ถูกใช้เป็นข้ออ้างเพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมืองอย่างเดียว ขณะที่ 'สมชาย หอมลออ - อุดม รัฐอมฤต' ประสานเสียงจี้ปฏิรูปตั้งแต่วัฒนธรรมองค์กร ยกเลิกระบบพรรคพวก ลดแรงกดดันต่อตำรวจชั้นผู้น้อย
……………………………….
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2564 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การดำเนินงานของนักศึกษาปริญญาโท วิชากฎหมายบริหารงานยุติธรรม ได้จัดเสวนาวิชาการเรื่องปฏิรูปตำรวจ ต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรม โดย พ.ต.อ.มานะ เผาะช่วย เลขาธิการสมาคมพนักงานสอบสวน กล่าวว่า จากประสบการณ์ เป็นคณะทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการดำเนินคดีอาญาของผู้กระทำผิดในช่วงการประท้วงของกลุ่มพันธมิตร กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และกลุ่มกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ทำให้เห็นว่ากลุ่มการเมืองเหล่านี้ เมื่อต้องการเปลี่ยนรัฐบาล จะมีการบุกยึดสถานที่ หรือปิดถนน ตำรวจเป็นองค์กรเดียวที่จะบังคับใช้กฎหมาย เมื่อต้องไปเผชิญกับกลุ่มการเมืองนี้ ทุกครั้งจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ หรือมี Hate Speech ต่อองค์กรตำรวจ เพื่อแสดงให้เห็นว่าตำรวจอยู่ภายใต้ของรัฐบาลนี้ เป็นจิตวิทยาเพื่อให้ประชาชนเกิดความชิงชัง หรือความฮึกเหิมที่จะบุกเข้าไป ส่งผลให้เกิดการเรียกร้องการปฏิรูปตำรวจขึ้นทุกครั้ง
พ.ต.อ.มานะ กล่าวอีกว่า กลุ่มที่เรียกร้องการปฏิรูปตำรวจ ไม่มีความรู้ความเข้าใจปัญหาและแนวทางการพัฒนาตำรวจอย่างแท้จริง ไม่มีการศึกษาวิจัย ตรวจสอบ หรือรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับองค์กรตำรวจ การปฏิรูปตำรวจจึงเป็นเพียงวาทกรรม เป็นข้ออ้างเพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมืองเท่านั้น ทำให้ขณะนี้การปฏิรูปจึงยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ
นอกจากนั้น รัฐบาลยังไม่มีความจริงใจ และจริงจังต่อการปฏิรูปตำรวจ ตามมาตรา 258 (4) ที่ระบุว่า ต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานตำรวจ การปฏิรูปตำรวจ และในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้ระบุไว้ว่า ต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมา ซึ่งได้ตั้งขึ้นมาโดยมี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นหัวขบวนในการปฏิรูป เพื่อให้มีแผนการบริหารงานได้ใช้ภายใน 6 เม.ย. 2561 ทั้งนี้ได้ทำสำเร็จแล้ว เมื่อช่วงกลางเดือน มี.ค.2561 แต่หลังจากนั้นไม่ทราบว่าหายไปไหนต่อ
ขณะที่ นายสมชาย หอมลออ อดีตกรรมการคณะปฏิรูปกฎหมาย กล่าวเพิ่มเติมว่า การปฏิบัติงานของตำรวจยังขาดประสิทธิภาพ มาจากสาเหตุหลายปัจจัย อาทิ การถูกใช้ให้ไปปฏิบัติหน้าที่อื่นแทนการรักษาความปลอดภัยของราษฎร การไม่มีงบประมาณเพียงพอต่อการจัดฝึกอบรม หรือแม้แต่การเพิ่มเงินเดือน เนื่องจากตำรวจเป็นองค์กรที่ใหญ่ มีผู้ปฏิบัติงานกว่า 200,000 คน ดังนั้นการจะขอเพิ่มงบประมาณ ย่อมใช้เงินมหาศาล จึงมักไม่ได้รับการจัดสรรเพิ่ม ส่งผลกระทบให้เกิดความหมดกำลังใจ หรือขาดอุปกรณ์เทคโนโลยีที่จะช่วยพัฒนาระบบการทำงานให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น ยังมีวัฒนธรรมองค์กรที่ผู้บังคับบัญชาเหมือนนาย ทำให้มีปัญหา และสร้างความกดดันต่อตำรวจชั้นผู้น้อย ส่งผลให้มีตำรวจหลายรายฆ่าตัวตาย หรือการมีระบบอุปถัมภ์ ทุจริต คอรัปชั่น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ปัญหาเหล่านี้เป็นไปได้ยาก
นายสมชาย กล่าวอีกว่า ดังนั้นถ้าจะปฏิรูปตำรวจ ควรจะปฏิรูปวัฒนธรรมองค์กร โดยลดความเป็นทหาร และสร้างความเป็นพลเรือนมากขึ้น สร้างตำรวจชุมชน เพื่อป้องกันอาชญากรรม ส่งเสริมและให้อำนาจตำรวจในการใช้ดุลยพินิจเพื่อหันเหคดี เพื่อลดจำนวนคดีที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก
"นอกจากนั้น สิ่งที่สำคัญอีกอย่าง คือ ต้องให้หน่วยงานสนับสนุนการสอบสวนคดีอาญาเป็นอิสระ เนื่องจากปัจจุบันมักถูกแทรกแซงจากฝ่ายฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้ตำรวจไม่ได้รับความเชื่อถือ ถ้าไม่มีการบริหาร จัดการเรื่องอำนาจในการสอบสวนและสั่งคดีแล้ว ผมคิดว่าการปฏิรูปตำรวจนั้นไปไม่ได้" นายสมชาย กล่าว
ขณะที่ นายอุดม รัฐอมฤต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ทำได้ยาก เพราะสังคมไทยเป็นระบบพรรคพวก จำเป็นจะต้องปฏิรูปหรือสร้างวัฒนธรรมขึ้นมาใหม่ นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องกระบวนการบริหารจัดการ ที่ยังไม่รวดเร็วไม่ตอบโจทย์ประชาชน และการบริหารที่ล่าช้านั้น ส่งผลให้เกิดการเพิ่มจำนวนบุคลากร และการสูญเสียต้นทุนในการบริหารจัดการล่าช้า จึงเป็นสาเหตุให้ปัจจุบันต้องมีการปฏิรูปตำรวจ ด้วยการยกร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … และ ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. … เพื่อให้การปฏิบัติงานในการสอบสวนมีการปรับเปลี่ยนได้เร็ว
"หากไม่ปฏิรูป ตำรวจจะมีปัญหาภายใน ดังนั้นการจะแก้ปัญหาหรือให้บริการประชาชนคงเป็นไปได้ยาก จึงต้องมีการปฏิรูปขึ้นมา เพื่อให้ตำรวจสามารถดำเนินงานได้อย่างอิสระ ปราศจากการแทรกแซง มีหลักประกันที่จะได้รับความก้าวหน้าทางอาชีพภายใต้จากประเมินจากประชาชน และสามารถทำประโยชน์ให้กับประชาชนได้อย่างสูงสุด” นายอุดม กล่าว
ซึ่งขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/