ป่วยโควิด 3,759 ราย รวมสะสม 144,976ราย เสียชีวิตอีก 34 ราย ศบค.แจงปรับแผนจัดสรรวัคซีนตามสถานการณ์ ย้ำหากลงทะเบียน 'หมอพร้อม' ไม่ต้องลงทะเบียนเพิ่ม ด้าน กทม. พบคลัสเตอร์ใหม่อีก 3 แห่ง ที่เขตทุ่งครุ บางแค และวัฒนา
------------------------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2564 เวลา 12.30 น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวัน โดยพบผู้ติดป่วยรายใหม่ 3,759 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,447 ราย เกิดจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 1,374 ราย เกิดจากการค้นหาเชิงรุกและพบการติดเชื้อในชุมชน 1,073 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ 1,294 ราย และอีก 18 รายเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ รวมผู้ป่วยสะสม 144,976 ราย หายป่วยเพิ่ม 4,044 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล 46,150 ราย โดยในจำนวนนี้มีอาการหนัก 1,226 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 405 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 34 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 860 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิต 34 ราย มาจาก กทม. 24 ราย สมุทรปราการ 3 ราย นครศรีธรรมราช 2 ราย ชลบุรี นครราชสีมา ตาก นครสวรรค์ และร้อยเอ็ด จังหวัดละ 1 ราย เป็นชาย 18 ราย หญิง 16 ราย อายุระหว่าง 33-92 ปี โดยปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค ส่วนใหญ่มีโรคความดันโลหิตสูงสุด 20 ราย เบาหวาน 16 ราย ไขมันในเลือดสูง หัวใจ 5 ราย ไตเรื้อรัง หลอดเลือดสมอง 3 ราย ผู้ป่วยติดเตียง มะเร็ง 1 ราย ตั้งครรภ์ 1 ราย ไม่มีโรคประจำตัว 5 ราย โดยปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อสูงสุดยังมาจากคนในครอบครัว 13 ราย เพื่อน เพื่อนบ้าน ผู้ดูแลนักเรียน คนในงานศพ อาศัยหรือเดินทางเข้าไปในพื้นที่ระบาด ไปในที่คนหนาแน่น อาชีพเสี่ยง เช่น ค้าขาย รปภ. นักดนตรี
โดย 10 จังหวัดที่มีอันดับผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่สูงสุด ตามลำดับ ได้แก่ กทม. 973 ราย เพชรบุรี 658 ราย สมุทรปราการ 221 ราย นนทบุรี 102 ราย สมุทรสาคร 55 ราย ชลบุรี 42 ราย ปทุมธานี 29 ราย สงขลา 39 ราย นครปฐม 36 ราย และพรพนครศรีอยุธยา 32 ราย
ด้านผู้ป่วยรายใหม่ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 18 ราย ประกอบด้วย อินเดีย 4 ราย โอมาน 1 ราย อินโดนีเซีย 1 ราย มาเลซีย 1 ราย และกัมพูชา 11 ราย
ขณะที่ การกระจายวัคซีนในประเทศ พบผู้ที่ได้รับผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เพิ่มเติม จำนวน 104,583 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 33,585 ราย รวมสะสมผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 3,347,050 ราย แบ่งเป็น ผู้ได้รับเข็มที่ 1 จำนวน 2,319,304 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 1,027,746 ราย
@ ระลอกที่ 3 เสียชีวิต 54 รายในวันที่พบเชื้อ
พญ.อภิสมัย เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรคได้สรุปและวิเคราะห์ข้อมูลอัตราการเสียชีวิต พบว่า ระบาดระลอกแรก อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 1.42 ระยะเวลาการพบเชื้อจนถึงเสียชีวิตอยู่ที่ 15 วัน ส่วนระระลอก 2 อยู่ที่ร้อยละ 0.14 ระยะเวลาการพบเชื้อจนถึงเสียชีวิตอยู่ที่ 12 วัน และการระบาดระลอก เม.ย. อยู่ที่ร้อยละ 1.23 ระยะเวลาการพบเชื้อจนถึงเสียชีวิตอยู่ที่ 12 วัน
พญ.อภิสมัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการระบาดระลอกที่ 3 มีผู้เสียชีวิตง 54 รายที่เสียชีวิตในวันเดียวกับที่พบเชื้อ หรือก่อนการพบเชื้อ โดยพบว่าเป็นผู้ป่วยติดเตียงเสียชีวิตมากขึ้น เนื่องจากญาติจะอาจจะไม่ได้สังเกตเห็นจึงกว่าจะได้รับรักษาจึงมีอาการรุนแรงแล้ว อีกส่วนหนึ่งคือ ผู้ที่ไม่ทราบว่าตัวเองมีประวัติเสี่ยง บางส่วนไม่ทราบว่าติดเชื้อ ซื้อยามารับประทานเอง กักตัวเองอยู่ที่บ้าน ทำให้เมื่อได้รับการรักษาในขณะที่มีอาการรุนแรง เมื่ออาการหนักนำส่ง รพ. แต่แพทย์ไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้ ดังนั้น ขอให้สถานพยาบาลทั่วประเทศส่งตรวจหาเชื้อโควิดในผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ ในกลุ่มผู้มีโรคประจำตัวแม้ไม่มีประวัติสัมผัสผู้ใกล้ชิดหรือไปในสาถานที่เสี่ยง โดยให้ตรวจหาเชื้อโควิดทุกคน
@ กทม.พบคลัสเตอร์ใหม่ 3 แห่ง
พญ.อภิสมัย กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ราดในพื้นที่ กทม. ว่า กทม.มีรายงานตัวเลข พบผู้ติดเชื้อ 973 ราย โดยยังมีลักษณะกราฟที่ลอยสูงอยู่ และมีการรายงานคลัสเตอร์ใหม่ที่ตลาดมีน เขตทุ่งครุ ตรวจพบผู้ติดเชื้อ 30 ราย โดยได้มีคำสั่งปิดตลาดไปแล้ว 3 วัน และในวันพรุ่งนี้ (29พ.ค.) จะมีการตรวจคัดกรองเชิงรุก ส่วนบริษัทเอกชน เขตบางแค ตรวจพบผู้ติดเชื้อ 89 ราย และสถานเอกอัครราชทูต เขตวัฒนา ตรวจพบผู้ติดเชื้อ 5 ราย ทั้งหมดนี้ทางสำนักงานเขตได้ลงพื้นที่ สอบสวนโรค เพื่อไม่ให้แพร่กระจายเชื้อแล้ว
พญ.อภิสมัย กล่าวต่ออีกว่า พื้นที่ กทม.ยังมีมีคลัสเตอร์ที่ยังต้องเฝ้าระวัง 39 คลัสเตอร์ แต่ยังต้องเฝ้าระวังสูงสุดอีก 30 คลัสเตอร์ และมีรายงานว่า 4 คลัสตอร์สามารถควบคุมได้ดีพอสมควร ได้แก่ เขตสวนหลวง ทวีวัฒนา สาทร และจตุจักร แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องเฝ้าระวัง ถ้าการ์ดตก ยอดผู้ติดเชื้ออาจจะกลับมาสูงอีกได้
@ ปรับแผนการะจายวัคซีนตามสถานการณ์
พญ.อภิสมัย กล่าวถึงกรณีการปรับเปลี่ยนแผนการกระจายวัคซีน ว่า การฉีดวัคซีนมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต โดยกลุ่มเป้าหมายแรกจึงมุ่งไปที่ประชากรที่มีความเสี่ยงสูง คือ ผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป และมีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และเพื่อปกป้องระบบสาธารณสุข จึงมุ่งไปที่บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ด่านหน้า และพื้นที่ระบาดหนัก ภายใต้วัคซีนมีจำนวนจำกัด แต่เมื่อมีวัคซีนมากขึ้น จะมีการระดมฉีดวัคซีนให้กับประชากร คิดเป็นร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 50 ล้านคน โดยจะต้องจัดหาวัคซีนอย่างน้อย 100 ล้านโดส แบ่งเป็น เข็มแรกจพต้องได้รับภายใน ก.ย. 64 และเข็มที่สองต้องได้รับภายใน ธ.ค. 64 เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ดังนั้น กรมควบคุมโรคจึงใช้หลักการจัดสรรวัคซีนร้อยละ 70 ของประชากรแต่ละจังหวัด แต่มีหลายจังหวัดเสนอความเห็น เช่น พื้นที่ที่มีการระบาดหนัก ตั้งข้อสงสัยการกระจายวัคซีนที่เท่ากับพื้นที่ที่มีระบาดน้อย จึงจะขอโควต้าวัคซีนมาช่วยพื้นที่เสี่ยงก่อนได้หรือไม่ ส่วนในมุมมองของพื้นที่ระบาดน้อยคิดว่าควรได้รับจัดสรรอย่างเท่าเทียมเพราะทุกคนทำงานหนักเช่นกัน ทั้งนี้ ศบค.พร้อมรับฟังทุกข้อเสนอแนะ และแต่ละพื้นที่ก็มีเหตุผลแตกต่างกัน ดังนั้นจะมีการประชุมปรับเปลี่ยนแผนตามสถานการณ์มากขึ้น จึงเห็นว่าการดูแลหรือการจัดสรรตามบุคคลกลุ่มเสี่ยง ศบค.รับฟัง โดยแผนจะปรับตามกลุ่มผู้เข้าใจพื้นที่ ตามลักษณะงานและความเสี่ยง
@ ยึดตาม 'หมอพร้อม' ไม่ต้องลงทะเบียนเพิ่ม
พญ.อภิสมัย กล่าวถึงสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนจองวัคซีนผ่านระบบ 'หมอพร้อม' และต้องการจะลงทะเบียนผ่านระบบอื่นๆ เพื่อที่อาจจะได้รับวัคซีนเร็วขึ้น ว่า ขอให้ยึดระบบนี้เป็นอันดับแรก หากได้รับการยืนยันวันฉีดที่แน่นอน ขอให้ไปรับการฉีดได้ โดยไม่ต้องลงทะเบียนผ่านระบบอื่นอีก และยืนยันว่า ระบบ 'หมอพร้อม' ไม่ได้มีการยกเลิก เพียงแต่เพิ่มให้มีการจองวัคซีนตามบริบทของพื้นที่ ส่วนกลุ่มคนมีอายุเกิน 60 ปี และกลุ่มมีโรคประจำตัว 7 โรคเรื้อรัง ที่มีการลงทะเบียนไว้ตั้งแต่แรก จะได้ฉีดวัคซีนตามที่ได้นัดหมายตามสถานที่ได้ลงทะเบียนไว้
@ ทั่วโลกป่วย 169,623,481 ราย สะสม 169.62 ล้านราย
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกพบผู้ป่วยเพิ่ม 169,623,481 ราย รวม 169,623,481 ราย อาการหนัก 97,905 ราย หายป่วย 151,331,012 ราย เสียชีวิต 3,525,023 ราย โดยสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยเพิ่ม 24,393 ราย รวม 33,999,680 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 630 ราย รวม 607,726 ราย อินเดีย พบเพิ่ม 179,770 ราย รวม 27,547,705 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 3,558 ราย รวม 318,812 ราย บราซิล พบเพิ่ม 66,722 ราย รวม 16,342,162 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2,130 ราย รวม 456,753 ราย ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 84 ของโลก
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/