'วิษณุ' แจง 'ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์' มีอำนาจออกประกาศสถานะดีลซื้อวัคซีน ยา เวชภัณฑ์เองได้ อุดช่องโหว่ยามขาดแคลน ยันใช้งบตัวเอง ชี้ไทยผลิตได้เมื่อไรหยุดการนำเข้า ย้ำโรงพยาบาลอื่นทำได้เช่นกัน
............................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2564 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีราชกิจนุเบกษาเผยแพร่ประกาศ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์และ การสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด และ สถานการณ์การฉุกเฉินอื่นๆ ว่าความชัดเจนได้เกิดขึ้นวันนี้ เมื่อราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ออกข้อกำหนด หรือเรียกว่าคำสั่งลูกตามมาอีกฉบับหนึ่งเพื่อขยายความ โดยมีความชัดเจนขึ้น ดังนี้
1. ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีอำนาจทางกฎหมายของที่จะออกประกาศแบบนี้ได้ เพื่อที่จะนำเข้า วัคซีน ยา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เนื่องจากหากไม่ออกประกาศ จะไม่สามารถนำเข้าได้ และการออกประกาศดังกล่าวทำไปเพื่อที่จะมีอำนาจนำเข้า แต่ไม่ใช่ว่าสามารถนำเข้ามาโดยอิสระ เนื่องจากต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่ทุกประการ เช่น ขออนุญาตสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แต่หากไม่ออกประกาศจะไม่สามารถขอยื่นอะไรได้ หรือเรียกว่าตกคุณสมบัติ
2. เป็นการใช้อำนาจในช่วงวิกฤตสถานการณ์โควิดเท่านั้น และใช้ช่วงที่วัคซีนขาดแคลน โดยข้อกำหนดที่ นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้อธิบายว่า เมื่อสถานการณ์นี้คลี่คลายอำนาจนี้ จะหมดไป หรือเมื่อผลิตวัคซีนขึ้นมาในประเทศได้อย่างเพียงพอ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะหยุดการนำเข้าทั้งหมด
3. ต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่มีอยู่ทุกประการ ดังนั้นประกาศดังกล่าวเพื่ออุดช่องว่างเท่านั้น
นายวิษณุ กล่าวชี้แจงกรณีการจัดหาซ้ำซ้อนกับสิ่งที่ สธ. ดำเนินการอยู่หรือไม่ ว่า ไม่ซ้ำซ้อน เนื่องจากต้องไปขออนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขอยู่ดี เพียงแต่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นอีกช่องทางหนึ่ง เหมือนกับเอกชน หรือบุคคลใดที่ที่ไปติดต่อแล้วกลับมาขออนุญาต
"โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีศักยภาพที่จะไปติดต่อกับหน่วยงานต่างประเทศ เช่น สปุตนิค หรือแม้แต่ ไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา เหมือนกับภาคเอกชนที่มีศักยภาพ แต่ที่ผ่านมาเอกชนไม่มีปัญหาในเรื่องของคุณสมบัติ แต่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ จึงต้องออกประกาศว่าตนเองมีคุณสมบัติ แล้ว และจะมีสถานะเทียบเท่ากับเอกชนทั้งหลาย" นายวิษณุ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ กล่าวอีกว่า การกระทำของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ดังกล่าวนอกจากการนำเข้าวัคซีนแล้ว ยังรวมทั้ง ยาฟาวิพิราเวียร์ และเวชภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าตัวใดต้องมาขอ อย. อยู่ดี โดยหลังจากนี้จะมีขีดความสามารถไปติดต่อเองได้ และเมื่อ อย. เห็นชอบ จะสามารถเอาเข้ามาได้ แต่ทั้งหมดจะใช้งบประมาณของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เอง โดยไม่ได้มาของบประมาณของรัฐ เนื่องจากไม่เช่นนั้น สธ. จะไปทำเอง
ส่วนโรงพยาบาลอื่นๆ จะสามารถดำเนินการเช่นเดียวกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า การที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ต้องทำเช่นนั้นเป็นไปตาม พ.ร.บ.ยา คนที่จะนำเวชภัณฑ์ เข้ามาได้ ถ้าเป็นราชการ คือกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมหาวิทยาลัยของรัฐเข้าข่ายในส่วนนี้อยู่แล้ว
" แต่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไม่เข้าข่าย จึงต้องออกประกาศสถานะขึ้นมา หากในกรณีเป็นโรงพยาบาลเอกชน เช่น โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ ซึ่งเป็นภาคเอกชนเขาทำได้อยู่ วันนี้เอกชนหลายเจ้าก็ทำกันอยู่ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ได้อธิบายให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้อำนวยการ ศบค. พร้อมทั้งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทราบแล้ว" นายวิษณุ กล่าว
ทั้งนี้ นายวิษณุ กล่าวชี้แจงถึงสาเหตุการดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างรวดเร็ว อีกว่า ตามพระราชบัญญัติประธานสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นผู้ลงนาม ซึ่งพระองค์ท่านเป็นประธานสภาฯ ดังนั้น คนอื่นลงนามไม่ได้ และกฎหมายได้เขียนไว้ว่า เมื่อเสร็จแล้วให้ลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อประกาศให้คนทั้งประเทศรับทราบว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ยกระดับขึ้น เพราะหากไม่มีการออกประกาศ และหากไปยื่นขอจาก อย. จะถูกตีกลับ เนื่องจากไม่มีคุณสมบัติ
ข่าวประกอบ :
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แถลงนำเข้า'ซิโนฟาร์ม' เลขาฯแจงจัดหา'วัคซีนตัวเลือก'ในภาวะฉุกเฉิน
แพร่ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่าด้วยการบริหารบริการทางการแพทย์ในสถานการณ์โควิด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/