ป่วยโควิด 3,382 ราย เป็นคลัสเตอร์เรือนจำ 460 ราย ยอดรวมสะสมจากการระบาดระลอกใหม่ 100,637 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 17 ราย ด้านศบค.เผยคลัสเตอร์อำเภอตากใบ จ.นราธิวาส ระบาดเป็นกลุ่มก้อน 83 ราย เป็นผู้ติดเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ 3 ราย ย้ำทุกคนถูกกักกันตัวแล้ว วัคซีนทุกชนิดยังสู้ได้
------------------------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2564 เวลา 12.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวัน โดยพบผู้ติดป่วยรายใหม่ 3,382 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,917 ราย เกิดจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 1,325 ราย เกิดจากการค้นหาเชิงรุกและพบการติดเชื้อในชุมชน 1,592 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ 460 ราย และอีก 5 รายเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ รวมผู้ป่วยสะสม 129,500 ราย หายป่วยเพิ่ม 2,131 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล 44,189 ราย โดยในจำนวนนี้มีอาการหนัก 1,210 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 412 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 17 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 682 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิต 17 ราย มาจาก กทม. 15 ราย สงขลา เชียงใหม่ จังหวัดละ 1 ราย มีอายุระหว่าง 38-85 ปี โดยปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ไตเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคปอดเรื้อรัง มะเร็ง และปฏิเสธโรคประจำตัว 2 ราย ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ มาจากคนในครอบครัว คนอื่นๆ ได้แก่ เพื่อน คนในชุมชน ทานอาหารร่วมกัน พนักงงานรักษาความปลอดภัย และการไปในที่คนหนาแน่น ได้แก่ ขายของในตลาดนัด
โดย 10 จังหวัดที่มีอันดับผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่สูงสุด ตามลำดับ ได้แก่ กทม. 983 ราย เพชรบุรี 968 ราย สมุทรปราการ 181 ราย
นนทบุรี 107 ราย ฉะเชิงเทรา 103 ราย ชลบุรี 91 ราย ปทุมธานี 66 ราย สงขลา 59 ราย สมุทรสาคร 38 ราย และสุราษฎร์ธานี 30 ราย
ด้านผู้ป่วยรายใหม่ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 5 ราย ประกอบด้วย กัมพูชา 1 ราย เดินทางผ่านด่านข้ามแดนถาวรทางบก อย่างถูกกฎหมาย ส่วนมาเลเซีย 4 ราย เดินเข้ามาผ่านเส้นทางธรรมชาติ ซึ่งถือว่าไม่ถูกกฎหมาย จึงอยากขอเน้นย้ำให้เข้ามากันอย่างถูกต้อง
ทั้งนี้ในวันนี้มียอดผู้ลักลอบเข้ามา 241 ราย ซึ่งพบว่าตัวเลขการสกัดกั้นการลักลอบเข้ามาได้พุ่งสูงกว่า 200 ราย มาเป็นเวลา 2 วันที่ประชุมจึงจะเพิ่มมาตรการ 2 ระดับ คือ 1. ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายมั่นคงเพิ่มกำลัง และใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เช่น โดรน ตรวจสอบให้มากขึ้นและถี่ขึ้น หรือให้มีการตั้งด่านในลักษณะ 2-3 ชั้นแนวชายแดน และ 2. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในสังกัดกระทรวงมหาดไทยที่มีรายล้อมอยู่ทั่วประเทศ ช่วยดูแลตรวจสอบพื้นที่ชั้นใน ซึ่งเป็นจุดปลายทางที่ผู้ลักลอบมักจะเข้าไปทำงาน และให้นำบทลงโทษมาลงโทษทั้งผู้ลักลอบและผู้นำพาเข้ามา ทำให้เห็นชัดเจน และเป็นตัวอย่าง
ขณะที่ การกระจายวัคซีนในประเทศ พบผู้ที่ได้รับผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เพิ่มเติม จำนวน 48,939 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 4,603 ราย รวมสะสมผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 2,865,091 ราย แบ่งเป็น ผู้ได้รับเข็มที่ 1 จำนวน 1,898,332 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 966,759 ราย
@ ศบค.คาดคุมคลัสเตอร์โรงงาน อ.เขาย้อยได้ ใน 1-2 สัปดาห์
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรงงานแห่งหนึ่ง อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี ว่า หลังจากมีการเข้าไปตรวจเชิงรุก และพบการติดเชื้อจำนวนมาก ทำให้วันนี้เป็นวันแรกที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัด แซงจำนวนผู้ติดเชื้อในกทม.และปริมณฑล
โดยให้นายแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) และรองผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด รายงาน สถานการณ์โรงงานแห่งหนึ่ง อ.เขาย้อย พื้นที่กว้างกว่า 200 ไร่ มีแรงงานกว่า 10,000 คน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ 1.พนักงานโรงงานส่วนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบนอกของโรงงาน เป็นที่น่ากังวลว่าหากพนักงานกลุ่มนี้ติดเชื้อ จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปยังบุคคลที่อยู่รายรอบติดเชื้อด้วย ทางนายแพทย์สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกำลังลงตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชน จึงอยากขอความร่วมมือประชาชนที่อยู่ใกล้โรงงานแห่งนี้ ขอให้เข้าตรวจหาเชื้อ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
และ 2. พนักงานโรงงานที่เดินทางเช้าเย็นกลับ ซึ่งจากการสอบสวนโรคพบว่า พนักงานอาศัยอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดราชบุรี 481 ราย สมุทรสาคร 43 ราย และสมุทรสงครามอีก 179 ราย รวมทั้งหมด 703 ราย ขณะนี้ทางจังหวัดเพชรบุรีได้ประสานไปยัง 3 จังหวัดดังกล่าว ให้ติดต่อไปยังพนักงาน ให้ได้รับการตรวจหาเชื้อ ณ จุดตรวจใกล้บ้านตนเอง เพื่อป้องการแพร่ระบาด
"หากได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ประชาชนจะเห็นตัวเลขนี้อีกระยะหนึ่ง แต่คาดว่าจะสามารถควบคุมได้ใน 1-2 สัปดาห์" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
@ ยันพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ 3 คน ย้ำวัคซีนทุกชนิดยังสู้ได้
สำหรับการระบาดในจังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ประจำวันที่ 22 พ.ค.2564 ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปทุมธานี เพชรบุรี ชลบุรี มหาสารคาม นราธิวาส สงขลา และฉะเชิงเทรา
โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ได้กล่าวถึงการระบาดในจังหวัดนราธิวาส ในพื้นที่อำเภอตากใบ ซึ่งระบาดเป็นกลุ่มก้อน จำนวน 83 ราย พบว่าผู้ป่วยรายแรก เป็นผู้ชายไทย อายุ 32 ปี ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว โดยมารดา ภรรยาและบุตร เดินทางกลับมาจากประเทศมาเลเซีย ผ่านช่องทางธรรมชาติเพื่อมาเยี่ยมและพักในไทย เบื้องต้นมีอาการเป็นไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดท้อง จึงไปพบแพทย์อยู่หลายแห่ง จนกระทั่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโควิด แล้วถูกส่งไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2564 ขณะนี้หายดีแล้ว
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มีการดำเนินการตามขั้นตอน ปิดพื้นที่เพื่อไม่ให้มีการเข้าออก ตรวจค้นหาเชิงรุก และสอบสวนโรค จึงทำให้ทราบว่ามีการระบาดในกลุ่มก้อน อย่างไรก็ตามจากการสุ่มตรวจค้นหาสายพันธุ์ 10 คน พบสายพันธุ์กลายพันธุ์จากแอฟริกาใต้ B.1.351.2 จำนวน 3 รายเท่านั้น ซึ่งหายป่วยแล้ว ทั้งนี้ ผู้สัมผัสเชื้อทุกรายทั้ง 83 ราย รักษาหายแล้ว 16 ราย และกำลังรักษาตัวอยู่อีก 67 ราย โดยได้รับการกักตัวอยู่ในสถานกักกันโรคของรัฐที่เรียกว่า Local quarantine
อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีนี้ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินหรือที่เรียกว่า EOC ตากใบ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขณะนี้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว และมีแนวโน้มไม่พบผู้ป่วยเพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี กรณีนี้ทำให้ทราบว่าประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านเรามีสถานการณ์การติดเชื้อที่ค่อนข้างรุนแรง และพบเชื้อในหลากหลายสายพันธุ์ จึงต้องมีความระมัดระวังในการเดินทางข้ามไปมา รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนนะที่พบผู้ที่เดินทางเข้ามาโดยผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันทีเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย
ทั้งนี้ นายแพทย์โอภาสเน้นย้ำว่า แม้การตอบสนองของวัคซีนในสายพันธุ์นี้อาจจะไม่ดีเท่ากับสายสายพันธุ์อื่นๆ ที่ผ่านมา แต่วัคซีนทุกชนิดยังสามารถลดการเกิดอาการรุนแรงของโรคได้ วัคซีนจึงยังเป็นประโยชน์และต้องใช้อย่างต่อเนื่องควบคู่กับมาตรการส่วนบุคคลต่างๆ ที่ต้องดำเนินไป อย่างเช่น การใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ และการเว้นระยะห่าง
@ กทม.ขอผู้ประกอบแคมป์ก่อสร้างดูแลพนง. หลังพบคลัสเตอร์จำนวนมาก
ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 983 ราย เป็นจากระบบเฝ้าระวัง ทางโรงพยาบาลเป็นสัญชาติไทย 483 รายแรงงานต่างด้าว 192 ราย การค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ชุมชนเป็นสัญชาติไทย 198 รายและแรงงานต่างด้าว 110 ราย โดยมีทั้งสิ้น 33 คลัสเตอร์ ซึ่งคลัสเตอร์ที่เพิ่มขึ้นมาคือบางกะปิ เป็นที่พักคนงานก่อสร้างซอยรามคำแหง 8 โดยคลัสเตอร์ส่วนใหญ่ขณะนี้อยู่ในพื้นที่ก่อสร้าง จึงขอให้ผู้ประกอบการช่วยกันดูแลคนของตัวเอง
นอกจากนี้คลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวังอีกจำนวน 30 แห่ง แบ่งเป็น กลุ่มเฝ้าระวังสูงสุด ประกอบด้วย เขตบางกะปิ ได้แก่ ตลาดบางกะปิ เขตหลักสี่ ได้แก่ แคมป์ก่อสร้าง เขตคลองเตย ได้แก่ ตลาดคลองเตย ชุมชนแออัดคลองเตย แคมป์ก่อสร้าง 2 แห่ง เขตดินแดง ได้แก่ ตลาดห้วยขวาง แฟลตดินแดง เขตห้วยขวาง ได้แก่ ชุมชนโรงปูน แคมป์ก่อสร้าง เขตบางรัก ได้แก่ แคมป์คนงานก่อสร้าง สีลม เขตสาทร ได้แก่ ชาวกินี เขตดุสิต ได้แก่ สี่แยกมหานาค/สะพานขาว/ตลาดผลไม้ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ได้แก่ คลองถมเซ็นเตอร์/เสือป่า/วงเวียน 22/วรจักร/โบ๊เบ๊ เขตพระนคร ได้แก่ ปากคลองตลาด เขตบางกอกน้อย ได้แก่ ตลาดศาลาน้ำร้อน เขตราชเทวี ได้แก่ ประตูน้ำ ชุมชนริมคลอง แฟลตรถไฟมักกะสัน เขตบางซื่อ ได้แก่ โกดังสินค้าให้เช่า เขตบางเขน ได้แก่ ตลาดยิ่งเจริญ เขตบางพลัด ได้แก่ แคมป์คนงานก่อสร้าง เขตบางคอแหลม ได้แก่ แคมป์คนงานก่อสร้าง 2 แห่ง และเขตปทุมวัน ได้แก่ แคมป์คนงานก่อสร้าง และเขตดอนเมือง ได้แก่ แคมป์คนงานก่อสร้าง
กลุ่มเฝ้าระวัง ได้แก่ เขตสวนหลวง ได้แก่ ร้านเฟอร์นิเจอร์ เขตจตุจักร ได้แก่ โรงงานน้ำแข็ง และเขตสัมพันธวงศ์ ได้แก่ สำเพ็ง
@ ทั่วโลกป่วย 571,930 ราย สะสม 167.04 ล้านราย
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกพบผู้ป่วยเพิ่ม 571,930 ราย รวม 167,041,380 ราย อาการหนัก 97,670 ราย หายป่วย 147,951,041 ราย เสียชีวิต 3,468,663 ราย โดยสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยเพิ่ม 19,639 ราย รวม 33,882,333 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 468 ราย รวม 603,876 ราย อินเดีย พบเพิ่ม 243,777 ราย รวม 26,528,846 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 3,788 ราย รวม 299,296 ราย บราซิล พบเพิ่ม 71,283 ราย รวม 16,047,439 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1,764 ราย รวม 448,291 ราย ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 88 ของโลก
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/