รบ.นิวซีแลนด์แก้กฎหมายวันเดียวผ่าน หลังศาลสูงนิวซีแลนด์พิพากษา รบ.อนุมัติวัคซีนใช้งานวัคซีนไฟเซอร์ ส่อผิด กม. เพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่ ต้องใช้เฉพาะกลุ่ม ด้านสมาคมการแพทย์นิวซีแลนด์ห่วงด้านความปลอดภัย ส่วน รมต.สธ.นิวซีแลนด์แจง ไม่ต้องทดลอง-อนุมัติอย่างเข้มข้นก็ได้ ในช่วงวิกฤติโรคระบาด
.................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานสถานการณ์เกี่ยวกับการแจกจ่ายวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกว่าเมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าว Epoch Times ของนิวซีแลนด์ได้รายงานว่ารัฐบาลประเทศนิวซีแลนด์ได้มีการแก้กฎหมายอย่างเร่งด่วนในวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ในเรื่องของรายละเอียดการแจกจ่ายวัคซีนของบบริษัทไฟเซอร์และบริษัทไบโอเอ็นเทค หลังจากที่ศาลสูงของประเทศนิวซีแลนด์มีคำพิพากษาระบุว่าการเข้าถึงวัคซีนของไฟเซอร์อย่างกว้างขวางดังกล่าวนั้นมีความผิดและละเมิดต่อพระราชบัญญัติยารักษาโรคตามมาตราที่ 23(1)
โดยรายละเอียดการต่อสู้คดีในชั้นศาลนั้นเป็นคดีความระหว่างสมาคมปฏิบัติการทางการแพทย์ญาคาอิตากิฟุหรือ KTI กับกระทรวงสาธารณสุขของนิวซีแลนด์ ซึ่งทางด้านของ KTI ได้โต้แย้งว่าวัคซีนของไฟเซอร์นั้นยังไม่สำเร็จในกระบวนการทดลองทางคลินิก และไม่ควรจะให้มีการใช้งานอย่างแพร่หลายกลุ่มประชากรหมู่มาก
และเมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมาศาลสูงนิวซีแลนด์ได้มีคำพิพากษาไปในทางเป็นคุณกับ KTI โดยระบุว่าข้อโต้แย้งนั้นสมเหตุผลและรับฟังได้ เพราะการอนุมัติชั่วคราวสำหรับวัคซีนกับกลุ่มประชากรหมู่มากที่เป็นผู้ใหญ่นั้นอาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้
ซึ่งพอหลังจากที่มีคำพิพากษาออกมา นายแอนดรูว์ ลิตเติ้ล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของนิวซีแลนด์ก็ได้ประกาศว่าพระราชบัญญัติยารักษาโรคดังกล่าวนั้นจะต้องมีการแก้ไข และพระราชบัญญัติฉบับแก้ไขก็ได้มีการเสนอและได้รับความเห็นชอบภายในวันที่ 19 พ.ค. ภายในระยะเวลาวันเดียวเท่านั้น
โดยรายละเอียดของมาตรา 23 (1) ของพระราชบัญญัติยาฯ ดั้งเดิมนั้นระบุว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขนั้นมีอำนาจให้ความยินยอมชั่วคราว กับการจัดหายาที่ถือว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งอำนาจการอนุมัตินั้นจะต้องเป็นไปโดยจำกัดวงและจะต้องอยู่ในจำนวนผู้ป่วยที่มีความจำกัดเท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม วัคซีนไฟเซอร์นั้นกลับได้รับการอนุมัติให้กับประชาชนชาวนิวซีแลนด์ที่มีอายุมากกว่า 16 ปีขึ้นไป คิดเป็นจำนวนประมาณ 3.5 ล้านคน หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 2 ใน 3 ของประชาชนนิวซีแลนด์ทั้งหมด แม้ว่ากระบวนการทดลองทางคลินิกหลักของวัคซีนไฟเซอร์จะมีกำหนดที่จะเสร็จสิ้นช่วงเดือน เม.ย. ปี 2566 ก็ตาม
นี่จึงเป็นเหตุให้ทาง KTI ได้ทำจดหมายเปิดผนึกลงนามโดยผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ จำนวน 43 ราย ซึ่งแสดงความกังวลเกี่ยวกับการส่งเสริมวัคซีนโดยไม่มีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงความปลอดภัย
“ไม่มีใครรู้ว่าเทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนในช่วงเวลาระยะกลางไปจนถึงระยะยาว ซึ่ง ณ เวลานี้นั้นผู้เชี่ยวชาญด้านยาทั่วโลก หรือแม้กระทั่งผู้พัฒนาวัคซีนบางรายก็ยังได้มีการคาดการณ์ถึงปัญหาและแสดงความกังวลเกี่ยวกับวัคซีนมากขึ้นเรื่อยๆ” จดหมายระบุและเน้นย้ำว่าถ้าหากเกิดปัญหาด้านความปลอดภัยใดๆก็ตาม จะถือว่าเป็นภัยพิบัติของกลุ่มประชากรประเทศนิวซีแลนด์ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนแล้ว
ขณะที่นายลิตเติ้ลก็ได้ประกาศถึงการแก้กฎหมายพระราชบัญญัติยาดังกล่าวว่าเป็นกฎหมายที่มีอายุกว่า 40 ปีแล้วและควรมีการปรับปรุงให้ทันสมัย เพราะตัวกฎหมายนั้นขาดความชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการที่จะนำมาปรับใช้ จึงได้มีการเสนอกฎหมายตัวใหม่ที่ชื่อว่าพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์บําบัดเพื่อจะนำมาใช้แทน
นายลิตเติ้ลกล่าวต่อไปด้วยว่าวัคซีนไฟเซอร์นั้นไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการทดสอบและอนุมัติด้วยขั้นตอนอย่างเข้มงวดอันเนื่องมาจากความต้องการวัคซีนอย่างยิ่งยวดในช่วงที่มีการระบาดครั้งใหญ่
อนึ่ง สำหรับการจัดหาวัคซีนของประเทศนิวซีแลนด์นั้นมีแผนการจะจัดหาวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์จำนวนกว่า10 ล้านโดส วัคซีนจาก Janssen Pharmaceutica หรือวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันแบบฉีดโดสเดียวจำนวน 5 ล้านโดส วัคซีนโนวาแวกซ์จำนวน 10.72 ล้านโดส และวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 7.6 ล้านโดส
เรียบเรียงจาก:https://www.theepochtimes.com/new-zealand-court-rules-pfizer-vaccine-rollout-unlawful_3823348.html
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage