ป.ป.ท.เขต 6 ลุยสอบโครงการขุดลอกแหล่งน้ำ อ.พบพระ-วังเจ้า จ.ตาก ปี 62-63 ใช้งบกว่า 29.7 ล้าน แต่ไม่มีการติดตั้งแผ่นป้ายแสดงรายละเอียดงาน-บางแห่งขุดไม่ตรงตามทีโออาร์ ส่อเข้าข่ายเอื้อประโยชน์พวกพ้องด้วย
....................................................
จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เขต 6 จ.พิษณุโลก ร่วมกับคณะทำงานศูนย์ประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมในการต่อต้านการทุจริต จ.ตาก สุ่มตรวจสอบการดำเนินโครงการแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ในโครงการใช้จ่ายงบประมาณแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในการขุดสระ ขุดลอกแหล่งน้ำของ อ.พบพระ และ อ.วังเจ้า จ.ตาก ตามนโยบาย ‘มหาดไทยใสสะอาด’ ของกระทรวงมหาดไทย พบว่า มีความบกพร่องหลายประการ และถูกรายงานต่อศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เป็นไปตามขั้นตอนการไต่สวนของ ป.ป.ท.
รายงานข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ท.เขต 6 ระบุว่า อ.พบพระ ได้รับการจัดสรรงบประมาณขุดสระเก็บน้ำ ปี 2562 จำนวน 19 โครงการ วงเงิน 21,048,000 บาท และปี 2563 จำนวน 12 โครงการ วงเงิน 2,539,000 บาท และ อ.วังเจ้า ได้รับการจัดสรรงบประมาณขุดลอกคลองและขุดสระเก็บน้ำ จำนวน 13 โครงการ วงเงิน 6,184,000 บาท รวมทั้งสิ้น 44 โครงการ วงเงิน 29,771,000 บาท
จากการตรวจสอบเอกสารบ่งชี้ถึงความไม่ชอบมาพากลของ 2 หน่วยงานดังกล่าว เนื่องจากไม่พบว่ามีการติดตั้งแผ่นป้ายแสดงรายละเอียดโครงการเกี่ยวกับการก่อสร้างของทางราชการ ตามข้อสั่งการของกระทรวงมหาดไทยเมื่อปี 2560 ที่กำหนดให้หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีงานก่อสร้างทุกประเภทต้องติดป้ายแสดงรายละเอียดโครงการ โดยให้ถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2551
รายงานข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ท.เขต 6 ระบุอีกว่า ตรวจสอบพบหลักฐานเอกสารบางโครงการอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องในบริเวณพื้นที่ของบุคคลที่ใกล้ชิด ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำที่ใช้งบประมาณราชการ และไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ราชการกำหนด ทั้งนี้การขุดดินจากโครงการนำไปขายหรือถมที่ดินของเอกชน หรือพื้นที่ส่วนบุคคล ไม่สามารถกระทำได้ แต่ต้องนำไปถมในพื้นที่ของราชการ และสาธารณประโยชน์เท่านั้น ขณะเดียวกันการดำเนินโครงการดังกล่าวบางแห่งอาจไม่เป็นไปตามทีโออาร์ เพราะบางแห่งการขุดความกว้าง ความยาว ความลึกอาจไม่ได้มาตรฐานตามที่ระบุไว้ในสัญญา
นอกจากนี้สำนักงาน ป.ป.ท.เขต 6 ยังพบว่า มีบางโครงการขุดสระในพื้นที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากอยู่ภายในป่าเขาเนินสูง มีความห่างไกลจากบ้านเรือน และพื้นที่เกษตรกรรม ขณะเดียวกันไม่ได้มีการขออนุญาตกรมป่าไม้ และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ด้วย
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage