ติดเชื้อรายใหม่ 2,302 ราย รวมป่วยสะสม101,447 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 24 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัวในรพ. 35,055 ราย ด้านศบค.เผยสถานการณ์เตียงผู้ป่วยสีเหลือง-แดงยังตึงตัว ส่วนการเตรียมออกข้อกำหนดยกเว้นการสวมใส่แมสก์ ยันยังไม่มี แต่ในกรณีจำเพาะผ่อนผันให้เฉพาะผู้อภิปรายเท่านั้น
......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2664 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) แถลงความคืบหน้าสถานการณ์การระบาดของโควิดในประเทศไทย พบมียอดผู้ติดเชื้อใหม่ 2,302 คน แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,279 ราย เกิดจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 1,692 ราย เกิดจากการค้นหาเชิงรุกและพบการติดเชื้อในชุมชน 587 ราย และอีก 23 รายเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ รวมผู้ป่วยสะสม 101,447 ราย หายป่วยเพิ่ม 2,136 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล 35,055 ราย โดยในจำนวนนี้มีอาการหนัก 1,228 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 408 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 24 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 589ราย
สำหรับผู้เสียชีวิต 24 ราย มาจาก กทม. 8 ราย ชลบุรี ปทุมธานี กาญจนบุรี จังหวัดละ 2 ราย เชียงใหม่ ศรีสะเกษ ราชบุรี สมุทรปราการ ขอนแก่น นครสวรรค์ พิจิตร ระยอง นครนายก พระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 1 ราย เป็นชาย 13 ราย หญิง 11 ราย มีอายุระหว่าง 39 - 91 ปี โดยส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว และปฏิเสธโรคประจำตัว 1 ราย ขณะที่มีประวัติเสี่ยงโดยการสัมผัสหรือใกล้ชิดสมาชิกครอบครัวที่ติดเชื้อ 11 ราย ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อยืนยันอื่นๆ เช่น ร่วมงาน เพื่อน ผู้ดูแล 7 ราย และอาศัย/เดินทางเข้าไปในพื้นที่ระบาด 6 ราย
โดย 10 จังหวัดที่มีอันดับผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่สูงสุด ตามลำดับ ได้แก่ กทม. 1,218 ราย ปทุมธานี 243 ราย สมุทรปราการ 117 ราย นนทบุรี 103 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 66 ราย ชลบุรี 48 ราย สมุทรสาคร 47 ราย สงขลา 37 ราย พระนครศรีอยุธยา 37 ราย และสุราษฎร์ธานี 27 ราย
ด้านผู้ป่วยรายใหม่ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 23 ราย ประกอบด้วย สวีเดน 1 ราย สหราชอาณาจักร 1 ราย ออสเตรีย 1 ราย เยอรมนี 1 ราย ฟิลิปปินส์ 1 ราย เมียนมา 1 ราย และกัมพูชา 14 ราย และมาเลเซีย 3 ราย
"ในรายงานผู้ป่วยรายใหม่ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ มี 3 กลุ่มประเทศที่ศบค.ชุดเล็กเป็นห่วง ได้แก่ กลุ่มที่เดินทางมาจากเมียนมา กัมพูชา และมาเลเซีย ผ่านช่องทางธรรมชาติ และด่านข้ามแดนถาวรทางบก ซึ่งในที่ประชุมได้มอบให้กระทรวงแรงงานหารือกับกรมควบคุมโรคอย่างใกล้ชิด เพื่อตรวจสอบว่าจะมีชาวไทยอีกจำนวนเท่าใดที่จะประสงค์เดินทางกลับเข้ามาภายในประเทศ ก็จะมีการเตรียม Local Quarantine ดูแลผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ หากเดินทางมาอย่างถูกต้อง เราจะสามารถดูแลให้เขาเข้าสู่ระบบที่เป็นมาตรฐานได้" พญ.อภิสมัย กล่าว
ขณะที่ การกระจายวัคซีนในประเทศ พบผู้ที่ได้รับผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เพิ่มเติม จำนวน 17,334 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 6,396 ราย รวมสะสมผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 2,242,150 ราย แบ่งเป็น ผู้ได้รับเข็มที่ 1 จำนวน 1,462,762 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 779,388 ราย
@ 19 จังหวัด ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่
พญ.อภิสมัย กล่าวถึง 19 จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ได้แก่ ลำพูน อ่างทอง นครพนม ตราด ตาก น่าน สุโขทัย สมุทรสงคราม กาฬสินธุ์ ชุมพร อุตรดิตถ์ ชัยนาท หนองคาย อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน หนองบัวลำภู บึงกาฬ อุทัยธานี สตูล
@ คลัสเตอร์โรงพยาบาลบ้านโป่ง ติดโควิดแล้ว 30 ราย เสียชีวิต 4 ราย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า วันนี้มีการรายงานที่ประชุมคลัสเตอร์ในพื้นที่ต่างๆ แต่ที่มีความเป็นห่วงและพูดคุยกันในวันนี้คือที่จังหวัดราชบุรี มีรายงานการติดเชื้อในโรงพยาบาล พบว่า ผู้ป่วยยืนยันที่ได้รับการรายงานรายแรก (Index Cases) เป็นหญิงอายุ 31 ปี ทีเป็นญาติผู้ป่วย ไปเฝ้าแม่ที่อยู่ภายในโรงพยาบาล ในวอร์ดอายุรกรรมหญิง ตั้งแต่วันที่ 23 - 28 เม.ย.2564 และได้รับผลตรวจหาเชื้อเป็นบวกในวันที่ 30 เม.ย.2564 ทำให้เกิดการแพร่ระบาดเชื้อไปยังผู้ป่วยรายอื่นที่อยู่ในหอผู้ป่วยเดียวกัน 9 ราย และเจ้าหน้าที่ภายในวอร์ดดังกล่าวอีก 6 ราย รวมกลุ่มก้อนแรกติดเชื้อแล้ว 17 ราย และมีผู้เสียชีวิต 4 ราย นอกจากนั้นเมื่อตรวจคัดกรองเชิงรุกผู้สัมผัสร่วมบ้านรวมกับยอดผู้ป่วยเดิมเป็น 30 ราย
ทั้งนี้ทางโรงพยาบาลได้ปิดวอร์ดอายุรกรรมหญิงไปแล้ว จนถึงวันที่ 24 พ.ค.2564 อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดการคัดแยกผู้ป่วยทางเดินหายใจให้แยกจากกลุ่มผู้ป่วยโรคอื่น และสิ่งที่สำคัญการที่ญาติเข้ามาเฝ้าผู้ป่วย พบพฤติกรรมการพูดคุย การจับกลุ่ม รวมทั้งรับประทานอาหารร่วมกันในวอร์ด ส่วนนี้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเข้าไปดูแลและครอบคลุมให้การระบาดนั้นอยู่ในพื้นที่จำกัด และทุกโรงพยาบาลจะต้องเข้มงวดในส่วนของญาติผู้ป่วยที่เข้ามาเฝ้าดูแลในโรงพยาบาล
@ สถานการณ์เตียงผู้ป่วยสีเหลือง-แดงยังตึงตัว
พญ.อภิสมัย กล่าวถึงสถานการณ์เตียงว่า วันนี้ระดับความต้องการเตียงในระดับสีเขียวเข้มและเขียวอ่อน ยังอยู่ในเกณฑ์ที่พอรองรับได้ แต่ที่เป็นห่วงคือเตียงในระดับสีเหลืองและสีแดง ซึ่งในส่วนของเตียงสีแดงค่อนข้างจะตึงตัว
โดยสรุปตามที่กรมการแพทย์รายงานความต้องการเตียงแอดมิด 805 ราย แอดมิดแล้ว 314 ราย จัดสรรแล้วรอดำเนินการ 439 ราย ทั้งนี้มีผู้ป่วยจำนวน 52 ราย ที่ยังติดต่อไม่ได้ เนื่องจากปฏิเสธเตียง กล่าวคือได้พยายามติดต่อโรงพยาบาลด้วยตนเองจึงขอรอ หรือบางรายมีการตรวจด้วยกันหลายคนในครอบครัวจึงอยากรอผลตรวจของสมาชิกอื่นๆ
"ในส่วนนี้ทำให้ทางศูนย์เอราวัณ และกลุ่มการแพทย์มีความเป็นห่วง เพราะการที่ปฎิเสธไม่ได้เข้าสู่ระบบการจัดสรรเตียงที่เป็นมาตรฐาน อาจจะทำให้อาการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่แย่ลงได้" พญ.อภิสมัย กล่าว
@ ห่วง 5 คลัสเตอร์สำคัญใน กทม.
พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ กทม. เฝ้าระวัง 27 คลัสเตอร์ กระจายอยู่ 17 เขต ในเขตดินแดง วัฒนาคลองเตย หลักสี่ ลาดพร้าว ราชเทวี พระนคร ดุสิต ป้อมปราบ สวนหลวง ปทุมวัน สาทร จตุจักร สัมพันธวงศ์ สีลม ประเวศ และวังทองหลาง ซึ่งมี 7 คลัสเตอร์อยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ดีพอสมควร แต่ที่เป็นห่วงและได้นำเข้าหารือในที่ประชุมวันนี้มี 5 คลัสเตอร์สำคัญ ที่ยัวมีอัตราผู้ติดเชื้อเพิ่มรายวัน 1.แคมป์คนงานเขตหลักสี่ 2.แฟลตดินแดง 3.แคมป์คนงานเขตวัฒนา 4. คลองถมวงเวียน 22 ป้อมปราบศัตรูพ่าย และ 5. ตลาดห้วยขวางดินแดง
โดยเฉพาะความเป็นห่วงในส่วนของแคมป์แรงงาน ที่มีการสำรวจตั้งแต่ปลายปี 2563 พบว่ามีการกระจายตัวของแคมป์คนงานทั่วกทม. 393 แคมป์ มีแรงงานเกือบ 60,000 คน มีทั้งชาวไทยและแรงงานปรับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งวันนี้มีการพูดคุยถึงแคมป์แรงงานหลักสี่ ของบริษัทอิตาเลียนไทย มีการตรวจหาเชื้อวันที่ 15 พ.ค.2564 จำนวน 559 ราย พบติดเชื้อรายงาน 482 ราย ซึ่งสำนักงานเขตหลักสี่และตำรวจได้เข้าพื้นที่และปิดแคมป์คนงาน และมีการรายงานให้บริษัทเจ้าของและตรวจแคมป์คนงานในเครือทั้งหมด
ในส่วนของกรมควบคุมโรค รายงานการวิเคราะห์จากการสอบสวนโรค พบว่า ความเป็นอยู่ ค่อนข้างหนาแน่น ใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกันในหลายจุด เช่น ห้องน้ำจุดรับประทานอาหาร คนงานเดินทางไปตลาดในชุมชน และเดินทางข้ามพื้นที่ ที่ประชุมจึงได้มีการกำหนดมาตรการที่จะประกาศใช้และให้บริษัทของแรงงานเหล่านี้รับทราบ ในส่วนมาตรการที่บริษัทแคมป์คนงานก่อสร้างจะต้องให้ความร่วมมือ เช่น จัดที่พักอาศัยพื้นที่ส่วนกลาง จะต้องมีการทำความสะอาดมี การจัดการในเรื่องของการระบายอากาศและกำหนดความหนาแน่น ห้ามมีการเคลื่อนย้ายแรงงาน หากมีความจำเป็นต้องขออนุญาตก่อนเท่านั้น
@ แจงยังไม่มีการยกเว้นใส่แมสก์ แต่ในกรณีจำเพาะผ่อนผันให้เฉพาะผู้อภิปรายเท่านั้น
พญ.อภิสมัย กล่าวชี้แจงถึงการเตรียมออกข้อกำหนดยกเว้นการสวมใส่หน้ากากอนามัย ว่า ยังไม่มีการยกเว้นข้อกำหนด ยังใช้ข้อกำหนดที่ 22 ที่ระบุว่า ให้สวมหน้ากากผ้าหน้ากากอนามัยตลอดเวลา อย่างไรก็ตามมีการพูดคุยกันว่าในระยะเวลาอันใกล้นี้ จะมีการประชุมระดับประเทศหรือระดับท้องถิ่น ซึ่งหากมีการประชุมต้องย้ำว่าเรามีการสนับสนุนให้เกิดการประชุมออนไลน์ให้มากที่สุด
แต่กรณีที่มีความจำเป็นต้องจัดการประชุมที่มีการรวมกันจะให้ยึดที่ข้อกำหนดที่ 22 รวมถึงมีการขยายแนวปฏิบัติเพิ่มเติมในสถานการณ์จำเพาะให้มีการผ่อนผันการสวมหน้ากากได้ โดยผู้ควบคุมการประชุม ซึ่งอาจจะเป็นประธานในที่ประชุม และเน้นย้ำว่าผ่อนผันได้เฉพาะในช่วงการอภิปรายแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะผู้ที่ทำการอภิปรายเท่านั้น และที่ประชุมจะมีการกำหนดออกมาตรการต่างๆ ตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว เช่น ประธานในที่ประชุมมีการผ่อนผันการสวมหน้ากากผู้อภิปรายจะไม่สวมหน้ากากอนามัย แต่ผู้ที่อยู่ในที่ประชุมทั้งหมดจะต้องสวมหน้ากากอนามัย รวมถึงการเว้นระยะห่างตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด หากมีการผิดต่อข้อกำหนดเหล่านี้จะมีบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งหากเขาเห็นว่ามีการปฏิบัติไม่ถูกต้องจะมีการตักเตือน และหากทำผิดซ้ำ จะมีการบังคับใช้ข้อกฏหมาย
@ ฉีดวัคซีนโควิดกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้มากกว่าผู้ติดเชื้อธรรมชาติ
พญ.อภิสมัย กล่าวถึงการรายงานสรุปประสิทธิผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยวัคซีนโควิดในคนไทย ของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ว่า จากการเก็บตัวอย่าง สรุปการกระตุ้นภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนอัตราเซนเนก้าและวัคซีนซิโนแวค พบว่าทั้งสองกลุ่มมีภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน โดยผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าหลังจากฉีดเข็มแรกใน 4 สัปดาห์ มีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นถึง 97.26% ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคหลังจากฉีดเข็มที่ 2 ใน 4 สัปดหา์ มีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นถึง 99.49% ซึ่งมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นมากกว่าผู้ที่ติดเชื้อโดยธรรมชาติ ดังนั้นจึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนที่รับการจัดสรรการฉีดวัคซีนในพื้นที่เสี่ยงจะช่วยให้มีภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นและเมื่อมีการติดเชื้อจะไม่กลายเป็นผู้ที่มีอาการหนักหรือเสียชีวิต
@ ทั่วโลกป่วย 627,221 ราย สะสม 163.16 ล้านราย ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 92
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกพบผู้ป่วยเพิ่ม 627,221 ราย รวม 163,165,592 ราย อาการหนัก 102,953 ราย หายป่วย 141,462,152 ราย เสียชีวิต 3,383,231 ราย โดยสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยเพิ่ม 25,642 ราย รวม 33,695,916 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 499 ราย รวม 599,863 ราย อินเดีย พบเพิ่ม 310,822 ราย รวม 24,683,065 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 4,090 ราย รวม 270,319 ราย บราซิล พบเพิ่ม 69,300 ราย รวม 15,590,613 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2,067 ราย รวม 434,852 ราย ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 92 ของโลก
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/