โฆษกรัฐบาล เผยไทยฉีดวัคซีนต้านโควิดแล้ว มากกว่า 2 ล้านโดส เตรียมกระจายวัคซีนซิโนแวคเพิ่มอีก 3.5 ล้านโดส ที่จะเข้ามาภายในเดือน พ.ค. 2564 เร่งฉีดให้ประชาชนทั่วประเทศ
...............................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดเผยว่า ตั้งแต่ประเทศไทยได้เริ่มทำการฉีดวัคซีนเข็มแรกเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2564 จนถึงวันที่ 13 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้บริการฉีดวัคซีนโควิด ให้ประชาชนแล้วมากกว่า 2,124,732 โดส ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ
นายอนุชา กล่าวอีกว่า โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้วมีจำนวน 1,416,732 ราย แบ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 869,860 ราย ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 411,706 ราย และผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปและบุคคลที่มีโรคประจำตัว 134,866 ราย
สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม มีจำนวน 708,300 ราย เป็นบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 435,092 ราย ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 232,362 ราย และผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปและบุคคลที่มีโรคประจำตัว 40,846 ราย
ทั้งนี้ นายอนุชา กล่าวด้วยว่า หากคิดเป็นจำนวนโดสที่เข้ามาในประเทศไทยและได้รับการจัดสรรแล้ว บุคลากรการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด แล้วจำนวน 1,304,952 โดส คิดเป็น 61.42% ของจำนวนโดสทั้งหมดที่เข้ามา ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 644,068โดส คิดเป็น 30.31% ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปและบุคคลที่มีโรคประจำตัวได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 175,712 โดส คิดเป็น 8.27%
"จนถึงวันนี้พบผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน ที่ได้รับการยืนยันจากคณะผู้เชี่ยวชาญแล้วเพียง 14 ราย ซึ่งทุกรายอาการหายเป็นปกติแล้ว และยังไม่พบผู้เสียชีวิตที่มีสาเหตุจากวัคซีนแต่อย่างใด" นายอนุชา กล่าว
นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่วัคซีนโควิดล็อตแรกที่เข้าถึงไทยเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2564 นั้น ปัจจุบันได้มีการจัดสรรวัคซีนไปแล้ว 2,454,496 โดส ขณะที่วัคซีนซิโนแวค จะทยอยเข้ามาอีกในเดือน พ.ค. 2564 นี้ โดยได้เข้ามาแล้วเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2564 จำนวน 1 ล้านโดส วันที่ 14 พ.ค. มาถึงไทยแล้ว 5 แสนโดส วันที่ 15 พ.ค. อีก 5 แสนโดส และก่อนสิ้นเดือน พ.ค. อีก 1.5 ล้านโดส รวมเดือนพ.ค. นี้ จะมีวัคซีนซิโนแวคเข้ามาทั้งสิ้น 3.5 ล้านโดส ซึ่งพร้อมจะกระจายไปทั้ง 77 จังหวัด
ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีนโยบายจัดหาวัคซีนให้เพียงพอกับประชาชนทุกคน จึงได้มีการปรับเพิ่มการจัดหาวัคซีนจาก 100 ล้านโดส เป็น 150 ล้านโดส ส่วนรูปแบบการกระจายวัคซีนนั้น จะดำเนินการผ่าน 3 รูปแบบ คือ 1. การนัดผ่านไลน์ หรือแอปพลิเคชัน หมอพร้อม 2. นัดเป็นกลุ่ม เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือผ่านทางองค์กรภาครัฐและเอกชนที่จะรวบรวมสมาชิก และ 3. การวอล์กอิน (Walk-In) โดยสัดส่วนการจัดสรรทั้ง 3 รูปแบบนี้ จะปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเห็นสมควร ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละพื้นที่ด้วย ซึ่งจะต้องพิจารณาทั้งประเด็นของปริมาณวัคซีนและสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่นั้นๆ โดยเฉพาะรูปแบบการวอล์กอิน จะสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2564 นี้เป็นต้นไป
"ขอเชิญชวนประชาชนลงทะเบียนรับบริการฉีดวัคซีนโควิด ผ่านระบบหมอพร้อม ผ่านองค์กรต่างๆ ที่จะนำบุคลากรมาฉีดเป็นกลุ่ม และระบบวอล์กอิน ที่จะเริ่มดำเนินการในเดือนมิถุนายน นี้ และขอให้ประชาชนแต่ละจังหวัด ติดตามการประกาศของจังหวัดในรายละเอียด ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะยึดแนวนโยบายของที่รัฐบาลกำหนด” นายอนุชา กล่าว
@ จีพีโอรับวัคซีนซิโนแวคมาอีก 5 แสนโดส ปลายเดือน พ.ค. 64 เข้ามาอีก 1.5 ล้านโดส
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2564 องค์การเภสัชกรรม (อภ.) รับมอบวัคซีนโควิด ของซิโนแวค จำนวน 5 แสนโดส จากประเทศจีน โดยนางศิรินุช ชีวันพิศาลนุกูล รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า สำหรับการรับมอบวัคซีนโควิดของซิโนแวค จากประเทศจีนในครั้งนี้ เพิ่มอีกจำนวน 5 แสนโดส จำนวน 14 พาเลท ที่มีการบรรจุภายในตู้ควบคุมอุณหภูมิไว้ไม่เกิน 2 – 8 องศาเซลเซียส ตลอดการขนส่งเพื่อรักษาคุณภาพ
"หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้มีการนำเข้าวัคซีนซิโนแวคของไทย ไปแล้วเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2564 ล็อตแรก จำนวน 2 แสนโดส วันที่ 22 มี.ค. 2564 จำนวน 8 แสนโดส วันที่ 10 เม.ย. 2564 จำนวน 1 ล้านโดส วันที่ 24 เม.ย. 2564 จำนวน 5 แสนโดส วันที่ 6 พ.ค. 2564 จำนวน 1 ล้านโดส วันที่ 14 พ.ค. 2564 เป็นวัคซีนที่ทางประเทศจีนบริจาค จำนวน 5 แสนโดส และในวันนี้ จำนวน 5 แสนโดส รวมเข้ามาแล้ว 4.5 โดส และในปลายเดือน พ.ค. 2564 จะเข้ามาอีกจำนวน 1.5 ล้านโดส จะรวมเป็นทั้งสิ้น 6 ล้านโดส ทั้งนี้องค์การเภสัชกรรมจะทำการจัดหาวัคซีนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยวัคซีนทุกล็อตที่รับเข้ามาจะมีการควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ระหว่าง 2-8 องศา ตลอดเวลาการจัดส่งและจัดเก็บ" นางศิรินุช กล่าว
นางศิรินุช กล่าวอีกว่า วัคซีนจะทำการจัดเก็บยังคลังสำรองวัคซีน ที่ศูนย์กระจายสินค้าของ บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นคลังที่มีคุณภาพ มาตรฐาน จากนั้นองค์การเภสัชกรรมจะตรวจรับและส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อทำการตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐาน และเอกสารต่างๆ เมื่อผ่านการตรวจสอบทุกขั้นตอนแล้ว จะส่งให้กรมควบคุมโรคตรวจรับวัคซีนและกระจายไปยังหน่วยบริการ และสถานพยาบาลต่างๆ เพื่อฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายตามแผนที่ทางกรมควบคุมโรคกำหนดต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/