ทีมแพทย์ 3 สถาบัน เผยโควิดคร่าชีวิต 1-2 คน จากร้อย อันตรายกว่าฉีดวัคซีน เหตุไม่เคยพบผู้เสียชีวิต ส่วนผลข้างเคียงเป็นภาวะชั่วคราว เพียง 1 วัน – 1 สัปดาห์ จะหายดี
…………………………………………………….
สำนักนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2564 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดเสวนาหัวข้อ ‘ผ่าวัคซีน COVID-19 ฟังชัด ๆ กับ ทีมแพทย์ 3 สถาบัน’ โดย ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสถานการณ์วัคซีนในขณะนี้ว่า ไทยฉีดวัคซีนได้แล้วกว่า 1.89 ล้านโดส ยังไม่เคยพบผู้เสียชีวิตจากวัคซีนมาก่อน แต่ทุกวันนี้กลับพบผู้เสียชีวิตจากโรคโควิดประมาณ 1-2% หรือ 1-2 คน ใน 100 คน ฉะนั้นจึงอยากให้กลัวโรคมากกว่าวัคซีน
“ส่วนผลข้างเคียงที่เป็นแผลจะพบ 1 ใน 100,000 ราย ขณะที่อาการมีไข้ ปวดเมื่อย บวม หรือแดง จากผู้ตอบแบบประเมินในหมอพร้อมพบมีเพียง 10% จากจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วเท่านั้น สำหรับอาการชา อ่อนแรง คล้ายอัมพฤกษ์ จะมีอาการเพียง 1-2 วันเท่านั้น หลังจากนั้นจะปกติ แต่ในบางกรณีมีภาะความเครียดร่วมด้วย อาจใช้เวลา 1 สัปดาห์ถึงจะหาย ซึ่งยืนยันว่าจะไม่มีภาวะความพิการในระยะยาว หลังจากนั้นแน่นอน” ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าว
ด้าน ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า การมีอาการข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นวัยหนุ่มสาวมากกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นเครื่องการันตีได้ว่าร่างกายมีการตอบสนองต่อการสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี จากผลการวิจัยในกลุ่มผู้มีอาการข้างเคียงจากวัคซีน พบว่า ยิ่งมีอาการมาก การสร้างภูมิคุ้มกันยิ่งมากขึ้นไปด้วย อย่างไรก็ตามอาการจะหายไป หลังจาก 1 - 2 วัน ดังนั้นถ้าหากพบว่าตนเองมีอาการข้างเคียง ขออย่าตกใจ ส่วนหากพบในผู้สูงอายุ อยากขอให้ดีใจด้วยซ้ำว่าเรายังหนุ่มยังแน่น
ส่วนความกังวลใจในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังว่าจะมีอาการข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นนั้น ผศ.นพ.กำธร ขอยืนยันว่าอย่าเป็นกังวล อัตราการเกิดอาการข้างเคียงเท่ากับบุคคลปกติ จะไม่มีการพัฒนาความรุนแรงไปตามอาการป่วยโรคเรื้อรังแน่นอน จึงยิ่งอยากให้รีบมาฉีดด้วยซ้ำ เนื่องจากอาการมีอาการป่วยอยู่แล้ว หากต้องติดโควิดขึ้นมาอีก อาการป่วยจะยิ่งรุนแรงขึ้นได้
สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วัคซีนไม่ว่าจะยี่ห้อใด ต่างมีประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของโรคได้หมด ซึ่งไม่อยากให้ประชาชนยึดติดกับผลประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิดในการศึกษาระยะที่ 3 เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างในการทดลองมีความแตกต่าง พร้อมยืนยันว่าวัคซีนต่างมีความปลอดภัย ทุกยี่ห้อมีการผ่านการศึกษาในระยะที่ 3 มาแล้วทั้งสิ้น
ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีประสิทธิภาพของวัคซีนต่อเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ จากผลการวิจัยพบว่า เชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์สายพันธ์อังกฤษที่กำลังระบาดอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ ไม่มีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน แต่ในเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์แอฟริกานั้น ยอมรับว่า มีผลบ้าง แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนยังเพียงพอต่อการลดความรุนแรงของโรค ในระดับที่มากกว่า 50% อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพต่อเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์อินเดียและเบงกอล ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าวัคซีนจะยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคอยู่ ทั้งนี้การรีบฉีดวัคซีนปูพรมจะป้องกันไม่ให้เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิดใหม่ได้
“ขอเปรียบเทียบผลการวิจัยระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส ที่มีประชากรใกล้เคียงกับประเทศไทย พบว่าอังกฤษที่มีการให้วัคซีนไฟเซอร์ในช่วงแรก และแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งในภายหลังได้ใช้เป็นหลักในช่วงหลัง ให้กับประชากรอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีการชะลอการฉีดวัคซีนจากปัญหาเกี่ยวกับลิ่มเลือดของวัคซีนเวคเตอร์แอสตร้าเซนเนก้า จนสามารถฉีดวัคซีนได้ถึง 75 โดส ต่อประชากร 100 คน ในขณะที่ฝรั่งเศส ชะลอฉีดวัคซีน ทำให้ในขณะนี้ฝรั่งเศสฉีดวัคซีนไปได้เพียง 34 โดส ต่อประชากร 100 คน ผลลัพธ์ขณะนี้ผู้ป่วยโควิดของอังกฤษอยู่ในหลัก 1,000 - 2,000 คนต่อวัน และมีการเสียชีวิตหลักหน่วยถึงหลักสิบต้นๆ ส่วนฝรั่งเศสยังมีผู้ป่วยประมาณวันละ 20,000 คน เสียชีวิต 200 - 300 คนต่อวัน หรือมากกว่ากัน 10 เท่า แสดงให้เห็นว่า การให้วัคซีนในประชากรหมู่มากมีประโยชน์อย่างเห็นได้ชัดเจนต่อระบบสาธารณสุขและชีวิตโดยรวมของประชาชน” ศ.นพ.ยง กล่าว
ศ.นพ.พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวด้วยว่า สำหรับความกังวลการเกิดภาวะลิ่มเลือด วัคซีนโควิดไม่ได้ทำให้เพิ่มอุบัติการณ์การเกิดลิ่มเลือดอุดตันทั่วไป โดยเฉพาะในประชากรไทยจะมีการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ ต่ำกว่าประชากรตะวันตกประมาณ 10 เท่า อาจจะด้วยปัจจัยทางพันธุกรรม และจากข่าวที่เผยแพร่จากในฝั่งยุโรปว่ามีการเกิดลิ่มเลือดอุดตันชนิดพิเศษ คือ นอกจากมีลิ่มเลือดอุดตันยังมีเกล็ดเลือดต่ำด้วย ซึ่งจะเจอน้อยมากในประชากร 1 ในแสนคน ถึง 1 ในล้านคน จึงไม่ต้องตกใจ เนื่องจากอาการดังกล่าวอาจจะเกิดเพราะการตอบสนองของภูมิต้านทานในร่างกายบังคับ ถ้ารุนแรงเกินไปจะไปกระตุ้นให้เกล็ดเลือดทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันขึ้นมา สามารถรักษาได้
“แต่โอกาสที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันมีมากในคนไทยหากติดโควิด ซึ่งคนไข้ที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ที่มีอาการปอดอักเสบเรื้อรัง อยู่ในไอซียู ประมาณ 20% คนไข้จะมีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ดังนั้นหากกลัวเกิดลิ่มเลือดอุดตันอยากจะแนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด ดีกว่า เพราะจากที่มีการฉีดวัคซีนในคนไทยยังไม่มีใครเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันชนิดพิเศษ” ศ.นพ.พันธุ์เทพ กล่าว
สำหรับการฉีดวัคซีนต่างยี่ห้อกันระหว่างเข็มที่ 1 และ 2 ได้หรือไม่นั้น ศ.นพ.พันธุ์เทพ กล่าวแนะนำว่า หากพบว่ามีอาการแพ้ในวัคซีนเข็มแรก แพทย์อาจพิจารณาให้เปลี่ยนยี่ห้อได้ แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่จะไม่แนะนำให้ฉีดต่างยี่ห้อ เพื่อป้องกันการเกิดอาการแพ้วัคซีนจากยี่ห้อใหม่
ขณะที่ รศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ รองหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการให้บริการฉีดวัคซีนว่า ประชาชนทุกกลุ่มสามารถฉีดวัคซีนได้ ซึ่งจะยกเว้นการฉีดไว้เพียง 3 กรณี คือ 1. มีอาการป่วยขณะจะเดินทางไปฉีดวัคซีน ซึ่งแพทย์แนะนำว่าควรฉีดหลังจากหายป่วยดีแล้ว 2. มีโรคประจำตัว ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ต้องให้แพทย์ประจำตัว พิจารณาว่าสามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่ และ 3. หญิงตั้งครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ เนื่องจากเป็นช่วงระยะเวลาที่จะมีความเซนซิทีฟมาก
ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนในเด็กนั้น ยังไม่แนะนำ เนื่องจากยังไม่มีผลการวิจัยมารองรับมากนัก ขณะเดียวกันการติดเชื้อโควิด ในเด็กที่มีมากขึ้น อย่างผู้ติดเชื้อเด็กที่รักษาอยู่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีมากถึงประมาณ 100 รายแล้ว ดังนั้นในระหว่างที่เด็กกำลังรอการฉีดวัคซีน คงต้องรอผู้ใหญ่ในสังคมที่จะช่วยกันฉีดวัคซีนให้ไปถึง 70% เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อไปสู่เด็ก
รศ.นพ.วินัย รัตนสุวรรณ หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า วัคซีนมีความปลอดภัย ยิ่งเร่งฉีดให้ได้มากและรวดเร็วที่สุด จะลดการระบาดได้อย่างเห็นได้ชัด และระบบการดูแลผู้ฉีดวัคซีนครั้งนี้ ยังออกแบบให้ปลอดภัยมากกว่าครั้งไหนๆ แพทย์เตรียมความพร้อมรอดูอาการแพ้วัคซีนรุนแรงถึง 30 นาที และยังมีการเตรียมยาอะดรีนาลีน รองรับสำหรับอาการแพ้รุนแรง จึงอยากให้ประชาชนเชื่อมั่นและร่วมกันมาฉีดวัคซีน เพื่อตนเอง คนรอบข้าง และสังคม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage/