ศธ.เปิดแพล็ตฟอร์ม 'ครูพร้อม' เตรียมความพร้อมให้นักเรียนก่อนเปิดเรียน เน้นเรียนรู้ด้วยตนเองบนพื้นฐานความสมัครใจ พร้อมแจงแผนฉีดวัคซีนให้ครูในพื้นที่เสี่ยง เบื้องต้นเร่งส่งรายชื่อให้กรมควบคุมโรค
.............................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2564 กระทรวงศึกษาธิการจัดการแถลงข่าวการเตรียมความพร้อมรับเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการประกาศเลื่อนการเปิดภาคเรียน เป็นวันที่ 1 มิ.ย. 2564 นั้น เพื่อไม่ให้นักเรียนเสียโอกาสในการเรียนรู้ ศธ. ได้เตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนในเวลา 11 วัน อาจเป็นช่วงสั้นสั้นแต่มีความหมาย และในช่วงเวลา 11 วันนี้ได้การเตรียมความพร้อมคุณครู 2 รูปแบบ คือ การเรียนแบบออนไลน์ (online) และ ออฟไลน์ (offline)
น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า โดยในส่วนการเรียนออนไลน์ ทาง ศธ.ได้เปิดเว็บไซต์ 'ครูพร้อม' ขึ้น เป็นเว็บไซต์กลางเพื่อเสริมแพลตฟอร์มต่างๆ ที่หน่วยงานในสังกัด ศธ.มีอยู่ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยจะเป็นคลังสื่อ ข้อมูลการเรียนรู้ ตลอดจนรูปแบบการจัดกิจกรรม แบ่งเป็นหัวข้อ-หมวดหมู่ตามความสนใจ เป็นการบูรณาการเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการใช้งาน ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียน ครู ผู้ปกครอง หรือผู้ที่สนใจ โดยจะเปิดให้ใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 พ.ค. 2564
น.ส.ตรีนุช กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนการเรียนออฟไลน์ ทางสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จะเป็นผู้ออกแบบกิจกรรมร่วมกับ ศบค.ของแต่ละจังหวัด ทั้งนี้การเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน 11 วันจะไม่เป็นการบังคับหรือจะนำไปใช้ในการวัดและประเมินผลแต่อย่างใด โดยผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรู้ได้ตามความถนัดและความสนใจของแต่ละคน เพราะสิ่งที่ตนต้องการเตรียมความพร้อมนั้นมาจากเราเลื่อนเปิดภาคเรียน แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาที่สั้น แต่ก็ถือว่ามีคุณค่าต่อการเรียนรู้ของนักเรียน จึงอยากสร้างทางเลือกให้นักเรียนได้เข้าถึงกระบวนการเรียนรู้อย่างเต็มที่ ดังนั้นโรงเรียนหยุดแต่การเรียนรู้ของนักเรียนต้องไม่หยุดนิ่ง
น.ส.ตรีนุช กล่าวอีกว่า สำหรับวิธีการจัดการเรียนการสอน จะใช้การเรียนการสอน 5 รูปแบบเหมือนที่เคยทดลองมาในช่วงการแพร่ระบาดเมื่อปีที่ผ่านมา คือ On-Site คือการเรียนที่โรงเรียน จะใช้ในโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนที่ไม่มีการระบาดของโรค Online การเรียนผ่านระบบออนไลน์ On Air คือการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) On Demand การเรียนผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ และ On Hand การจัดใบงานหรือแบบฝึกหัดเป็นชุดให้นักเรียนนำไปเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้าน โดยมีครูคอยติดตามผลเป็นระยะ หากโรงเรียนใดสามารถจัดการเรียนในห้องเรียนปกติได้ ให้ใช้การเรียนที่โรงเรียนเป็นฐาน (On Site) แต่หากไม่สามารถสอนในห้องเรียนได้ ให้ดูความพร้อมและความต้องการของนักเรียนเป็นสำคัญ
น.ส.ตรีนุช กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนและครู ความพร้อมของนักเรียนและผู้ปกครอง ความพร้อมของอุปกรณ์ ความสมัครใจของนักเรียนและผู้ปกครอง หากจัดรูปแบบใดแล้ว นักเรียนไม่สมัครใจเรียน ให้โรงเรียนจัดวิธีอื่นๆให้นักเรียนได้เรียน โรงเรียนต้องแสวงหาความร่วมมือ จากชุมชนหรือหน่วยงานอื่นมาช่วยในการจัดการเรียนการสอน เช่น อสม. มาช่วยคัดกรองนักเรียน ก่อนเข้าโรงเรียน และโรงเรียนควรสนับสนุนความร่วมมือระหว่างครูกับผู้ปกครองในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
สำหรับกรณีการวิพากษ์วิจารณ์ในการนำติวเตอร์มาอบรมครู น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน ตนเข้าใจในความเป็นห่วงในเรื่องนี้ แต่การนำภาคเอกชนเข้ามาช่วยเสริมการเรียนรู้นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการดำเนินการมาตั้งแต่โควิดระบาดในรอบแรกแล้ว
ด้าน นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. กล่าวถึงความพร้อมการเตรียมฉีดวัคซีนให้กับครู ว่า การเปิดภาคเรียนที่จะถึงนี้ จะมีนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เป็นโรงเรียนในระบบกว่า 8 ล้านราย รวมทั้งครูและบุคลาการทางการศึกษาต้องเดินทางมาโรงเรียน ถือว่าเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ จากสถิติการสำรวจการแพร่ระบาดของโควิด ตั้งแต่ปี 2563 พบว่า นักเรียนมีการติดเชื้อจากผู้ปกครองและครู
นายสุภัทร กล่าวต่อว่า ศธ.จึงได้เสนอมาตรการให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มแรกเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ให้ ศบค.ชุดเล็กได้พิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาในระบบ จำนวนกว่า 600,000 ราย ได้รับการฉีดวัคซีนก่อนวันเปิดภาคเรียน โดยแบ่งการฉีดวัคซีนตามลำดับพื้นที่เสี่ยง เช่น กทม. และปริมณฑล
นายสุภัทร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้ขอให้ ศธ.จัดทำรายชื่อครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นรายจังหวัด ขณะนี้ได้ทำข้อมูลรายชื่อแยกเป็นโรงเรียนรายอำเภอแล้ว เพื่อนำเข้าระบบจัดลำดับการฉีดวัคซีนให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage