กก.การอุดมศึกษา ตั้งอนุฯสภานิติศึกษาแห่งชาติ 20 คน ‘สุรพล นิติไกรพจน์’ ปธ.-คณะบดีนิติศาสตร์สารพัด ม.ดัง ร่วมด้วย พัฒนาบุคลากรด้านกฎหมาย-เสนอแนะหลักสูตรระดับปริญญาตรี ตอบสนองนโยบายปฏิรูปประเทศ
...................................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา ศ.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานกรรมการการอุดมศึกษา ลงนามในประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการการสภานิติศึกษาแห่งชาติ รวม 20 ราย โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 (10) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมการ พ.ศ. 2562
คณะกรรมการการอุดมศึกษาในการประชุมครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2564 จึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติชุดดังกล่าว โดยมี ศ.สุรพล นิติไกรพจน์ เป็นประธานอนุกรรมการ ส่วนที่เหลือเป็นอนุกรรมการ ประกอบด้วย รศ.สุดา วิศรุตพิชญ์ นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.พะเยา คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.อุบลราชธานี คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ทักษิณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนิติการ เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ มีเจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดกระทรวงอุดมศึกษาฯ จำนวน 2 ราย เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
สำหรับหน้าที่และอำนาจของคณะอนุกรรมการฯชุดนี้ ได้แก่ 1.กำหนดนโยบายในการพัฒนาบุคลากรด้านกฎหมาย เพื่อพัฒนาหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอนให้มีสัดส่วนภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่สามารถพัฒนาบัณฑิตด้านนิติศาสตร์ให้สามารถปฏิบัติงานและช่วยแก้ไขปัญหาในชุมชนและสังคมได้จริง และหลักเกณฑ์มาตรฐานของผู้เข้ารับการศึกษานิติศาสตร์ในระดับอุดมศึกษาที่เป็นมาตรฐาน ตอบสนองนโยบายการปฏิรูปประเทศ
2.เสนอแนะหลักสูตรการศึกษานิติศาสตร์ระดับปริญญาตรีที่เป็นมาตรฐานเพื่อนำไปใช้ในการกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนของแต่ละสถาบันการศึกษาเพื่อรองรับการผลิตบัณฑิตทางนิติศาสตร์ที่มีความรอบรู้และมีคุณธรรมจริยธรรมเพื่อเป็นนักกฎหมายที่ดี มีองค์ความรู้ทั้งทางด้านทฤษฎีและมีความเข้าใจในสภาพสังคม เพื่อให้สามารถนำกฎหมายไปปรับใช้ให้เกิดผลทางปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรม
3.เสนอแนะแนวทางส่งเสริม และสนับสนุนการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงานให้สอดคล้องกับความต้องการ และพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย เพื่อสร้างความรู้ที่ทันสมัย และสามารถนำมาประยุกต์และบังคับใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4.ปฏิบัติการอื่นตามที่คณะกรรมการการอุดมศึกษามอบหมาย
ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. 2564 เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 29 เม.ย. 2564
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage