กระทรวงสาธารณสุขเผยปรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยใหม่ กรณีอาการดีขึ้น แพทย์เห็นว่าไม่มีอาการ 24-48 ชั่วโมง ให้อยู่รพ. 10 วัน และต้องกลับไปกักตัวที่บ้านต่ออีก 4 วัน จนครบ 14 วัน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ
.............................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2564 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงแนวทางการจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลว่า โดยหลักการอยากให้ผู้ป่วยทุกคนได้พักในโรงพยาบาลหรือสถานที่รัฐจัดให้เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน แต่ในกรณีที่พื้นที่ไหนมีปัญหาในการบริหารจัดการเตียง ซึ่งขณะนี้พบหลายจังหวัดแล้ว ถ้าแพทย์ดูแล้วผู้ป่วยไม่มีอาการอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ ตั้งแต่วันที่ 10 ของการรักษาเป็นต้นไป แต่ขอให้ไปกักตัวเองที่บ้านอีก 4 วัน จนครบ 14 วัน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ
"แนวทางนี้ เป็นการบริหารตามสถานการณ์ที่จำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่คงที่เท่าไหร่ และเป็นการเปิดช่องให้แพทย์หรือหน่วยงานผู้ดูแล สามารถปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ครองเตียงตรงนั้นได้" นพ.สมศักดิ์ กล่าว
@ ปรับแนวทางการให้ยาฟาวิพิราเวียร์เร็วขึ้นเฉพาะกลุ่ม
นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับแนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด ด้วยยาต้านไวรัสอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด โรคติดเชื้อ จากหลายสถาบันได้ร่วมระดมความคิดถึงแนวทางการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์รักษาผู้ป่วย โดยได้มีความเห็นชอบร่วมกันว่าจะปรับแนวทางใหม่ จะให้กลุ่มผู้ติดเชื้อยืนยันไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย แต่มีโรคร่วมหรือปัจจัยเสี่ยง แพทย์สามารถรักษาตามอาการและให้ยาฟาวิพิราเวียร์ได้ ทั้งนี้การปรับให้ยาฟาวิพิราเวียร์จะเร็วขึ้น แต่สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ และไม่มีปัจจัยเสี่ยง จะยังไม่ให้ยารักษาเฉพาะ เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มากกว่า 80% ไม่พบการเปลี่ยนสีไปเป็นกลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง หรือสีแดง ดังนั้นกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องทานยา
ขณะที่ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย มีความเสี่ยง และมีปอดอักเสบเล็กน้อยร่วมด้วย จะมีการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ และสำหรับรายที่เริ่มมีอาการรุนแรงแพทย์จะสามารถให้ยาสเตรียรอยด์ (Corticosteriod) ร่วมด้วยได้เลย เพื่อช่วยลดความรุนแรงในการใส่ท่อช่วยหายใจได้
นอกเหนือจากนั้น จะมีแนวทางการให้ยาเหมือนเดิม คือ กรณีผู้ป่วยมีอาการปอดอักเสบ มีความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดที่อุณหภูมิห้องน้อยกว่า 96% หรือมีปอดอักเสบรุนแรง แพทย์จะสามารถให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ยาโลพินาเวียร์ (Lopinavir) / ริโทนาเวียร์ (Ritonavir) และยาสเตรียรอยด์ (Corticosteroid) สำหรับรายที่รุนแรงได้
"แนวทางใหม่การให้ยาฟาร์วิพิราเวียร์จะให้เร็วขึ้น แต่ยังไม่ถึงกับให้ทุกคน ซึ่งสาเหตุที่ไม่หว่านแห เนื่องจาก ส่วนหนึ่งคือ ยาฟาร์วิพิราเวียร์ มีอาการข้างเคียง บางรายมีอาการตับอักเสบ และการหว่านแหทั้งหมดอาจเกิดภาวะเชื้อดื้อยาได้ ขณะที่ยาต้านไวรัสตัวอื่นที่จะใช้แทน ยังอยู่ในระหว่างการทดสอบ และยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน จึงยังนำมาใช่ไม่ได้ จึงต้องเก็บยาฟาร์วิพิราเวียร์ไว้เป็นอาวุธสำคัญ" นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ส่วนการกระจายยาฟาวิพิราเวียร์ ขณะนี้กระจายไปทั่วประเทศแล้ว 2 ล้านเม็ด และอีก 3 ล้านเม็ดจะเข้ามาในช่วงวันที่ 10 กว่าๆ ของเดือนนี้ โดยในปัจจุบันมีการใช้ยาวันละ 50,000 เม็ด ซึ่งยาจำนวน 5 ล้านเม็ดที่เราจะมี จะสามารถใช้ได้ประมาณ 3 เดือน ดังนั้นขอให้ประชาชนมั่นใจ
ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้องค์การเภสัชกรรมจัดให้มียาฟาวิพิราเวียร์ในสต็อกอย่างน้อย 2 ล้านเม็ดอยู่ตลอด และได้สั่งการให้แจกยาฟาวิพิราเวียร์ไปยังเครือข่ายต่างๆให้ทั่วถึง ได้แก่ โรงพยาบาลลูกข่ายทั้งในกทม. และส่วนภูมิภาคในกทม. โรงยาบาลเอกชนหรือโรงพยาบาลเครือข่ายทั้งหมด รวมถึงโรงพยาบาลสนามและฮอสพิเทลด้วย เพื่อให้การเบิกจ่ายยาเป็นไปด้วยความสะดวก
@ ย้ำประสิทธิภาพวัคซีนโควิดทุกยี่ห้อ ลดความรุนแรงโรคได้ไม่ต่างกัน
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ กล่าวว่า วัคซีนเป็นอาวุธที่สำคัญ แต่ต้องเข้าใจว่าวัคซีนที่จะสมบูรณ์แบบทุกอย่างนั้นไม่มี กรณีของวัคซีนต้านโควิดเช่นเดียวกัน จะมีบางดีและบางอย่างด้อยเป็นเรื่องปกติ
ดังนั้นจึงอยากให้ประชาชนชั่งน้ำหนักโดยเทียบประโยชน์และโทษ ด้านไหนมีมากกว่ากัน ซึ่งแน่นอนว่า วัคซีนมีประโยชน์มากกว่าโทษแน่นอน โดยประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละยี่ห้อ ได้แก่ ไฟเซอร์ 95% โมเดอร์น่า 94% สปุตนิกไฟท์ 92% นาโนแวค 89% แอสตร้าเซนเนกา 67% และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 66% ซึ่งข้อมูลนี้ยังไม่มีซิโนแวค เนื่องจากข้อมูลออกทีหลัง
"อย่างไรก็ดี ไม่อยากหลายคนยึดติดกับตัวเลข และตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพ ซึ่งตัวเลขเหล่านี้จะแตกต่างกันไปตามปัจจัยอื่นๆ เพราะการวิจัย จะวิจัยในประเทศเดียวกันไม่ได้ ต้องกระจายกัน วิจัยเวลาเดียวกันก็ไม่ได้ วิจัยในหลายเผ่าพันธุ์ก็ไม่ได้ และบางการวิจัยอาจไปวัดผลในช่วงที่มีเชื้อกลายพันธุ์ ทำให้ตัวเลขของประสิทธิภาพออกมาไม่เหมือนกัน ดังนั้นการจะดูเฉพาะตัวเลขอย่างเดียวจึงไม่ได้"
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวอีกว่า แต่สำหรับการลดความรุนแรงของโรคนั้น วัคซีนเกือบทุกยี่ห้อสามารถป้องกันการเสียชีวิต 100% ทั้งหมด ป้องกันการนอนโรงพยาบาล และป้องกันอาการรุนแรงได้ สำหรับกรณีที่มีอาการน้อยๆ ชนิดไม่ต้องกินยา ไม่รุนแรง ประชาชนจะไม่ต้องกังวลสามารถกินยาพักอยู่บ้านได้เลย
สำหรับวัคซีนซิโนแวคนั้น ป้องกันอาการรุนแรงได้ 100% ป้องกันอาการปานกลาง เช่น ป่วยไข้ต้องนอนโรงพยาบาล แต่ไม่ถึงอาการรุนแรง พบว่าป้องกันได้ถึง 83.7% และในกลุ่มที่ไม่มีอาการ ป้องกันการติดเชื้อได้อีก 50.7% อย่างไรก็ตาม บราซิลได้มีการฉีดวัคซีนซิโนแวคกับบุคลากรการแพทย์กว่า 60,000 คน มีผลพบว่า เมื่อฉีดไปแล้ว 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยลดลง
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวอีกว่า หากเปรียบเทียบว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากับวัคซีนไฟเซอร์ ตัวไหนดีกว่ากัน จากผลการฉีดวัคซีนจากประเทศสก็อตแลนด์พบว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไม่ด้อยไปกว่าไฟเซอร์ อาจดีกว่าในการตอบสนองของภูมิด้วยซ้ำ โดยจากการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้วัคซีนดังกล่าวในทุกกลุ่มอายุ พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ภายในสัปดาห์ที่ 4 หลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรก วัคซีนแอสตร้าเซเนกาสามารถลดความเสี่ยงในการเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาโควิด ได้มากถึง 94% ขณะที่วัคซีนไฟเซอร์ลดความเสี่ยงในการเข้าโรงพยาบาลได้ 85% ตามหลังแอสตร้าเซนเนกาอยู่บ้าง
"สำหรับประเด็นการใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแล้วเกิดปัญหาลิ่มเลือดอุดตันนั้น องค์การอนามัยโลก เปิดเผยข้อมูลการเกิดลิ่มเลือดในกลุ่มที่ใช้วัคซีนชนิดอะดีโนไวรัสเวกเตอร์ (Adenovirus Vector) เช่น แอสตร้าเซนเนกา จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน จะพบเคสลิ่มเลือดอุดตันประมาณ 4 คนใน 1 ล้านและมีโอกาสเสียชีวิตแค่ 1 ใน 4 ราย หรือ 1 ในล้านเข็ม แต่หากเมื่อเทียบกับการเสียชีวิตจากโควิด พบว่าเกิดลิ่มเลือดขึ้น 2 ใน 100 คน" รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาวัคซีนไฟเซอร์และแอสตร้าเซเนก้าพบว่า วัคซีนทั้งสองยี่ห้อสามารถป้องกันการติดเชื้อในครอบครัวได้ครึ่งหนึ่งเหมือน ๆ กัน เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ฉีด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/