เลขาฯ สมช.เผย รัฐบาลตั้งเป้าฉีดวัคซีน 100 ล้านโดสให้จบสิ้นปี 2564 คาด กทม.ต้องฉีดเข็มแรกให้ได้ 6 ล้านคนในช่วง 4 เดือนหลังจากนี้ หรือเฉลี่ยวันละ 60,000 คน พร้อมระบุ นายกฯสั่งพิจารณามาตรการคุมโควิดให้รอบคอบ อย่าให้กระทบประชาชน ส่วน 'ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว' ถือเป็นมาตรการสุดท้ายหากคุมสถานการณ์ไม่ได้
--------------------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2564 พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงแนวทางการทำงานในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่นายกรัฐมนตรีเพิ่งมีคำสั่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่า ตามที่เคยมีประกาศฉบับที่ 3 นายกรัฐมนตรีมีความสนใจและห่วงใยใน 8 ประเด็น เช่น หน้ากากอนามัย วัคซีน ยารักษาโรค ในคราวนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ได้ใช้เวทีคณะกรรมการชุดนี้บูรณาการและสรุปข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่นายกรัฐมนตรีสนใจและห่วงใย เพื่อกราบเรียนให้ทราบตามระยะเวลา หากมีสิ่งใดที่ได้ให้นโยบายก็จะได้รับไปดำเนินการต่อไป
เมื่อถามว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะทำงานซ้ำซ้อนกับชุดอื่นๆหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าว่า ความจริงแล้วในกรอบ ศบค.ทั้งหมด ตนเองมีส่วนเข้าร่วมในทุกกิจกรรม ฉะนั้นตนเองมีบทบาทหลักในการบูรณการงานของทุกคณะกรรมการเพื่อให้ประสานสอดคล้องไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน การที่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ใช่ว่าจะไปก้าวล่วงทุกหน่วยงานได้ หากไม่มีอำนาจหน้าที่ ฉะนั้นการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่รองรับการดำเนินการ
เมื่อถามว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ศบค.ส่งทหารมารบกับโรคระบาดแทนที่จะแพทย์ พล.อ.ณัฐพล กล่าวย้ำว่า ใน ศบค.เรามีหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานวิจัย กองบัญชาการกองทัพไทย ไม่ใช่มีแค่กระทรวงสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว งานด้านสาธารณสุขและการแพทย์จำเป็นอยู่แล้วที่ต้องอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรงสาธารณสุข แต่งานด้านอื่นต้องมีหลายหน่วยงานที่ต้องทำงานให้สอดคล้องกัน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นทหารหรือหน่วยงานใดก็ตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลและนายกัฐมนตรี เพื่อช่วยหมอในการทำงาน หากไม่มีหน่วยงานเข้ามาช่วยบูรณาการแล้ว ก็จะเป็นภาระของหมอที่จะต้องเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ เช่น การระวังป้องกันตามแนวชายแดน ไม่ให้ประเทศเพื่อนบ้านลักลอบเข้าเมือง เป็นความรับผิดชอบฝ่ายความมั่นคง ดังนั้นจะเห็นได้ว่า งานต่างๆมีมากมายก ส่วนตนเองได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี เพื่อประสานการปฏิบัติ ส่วนการรักษาโรคหรือป้องกันการแพร่ระบาดก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข
พล.อ.ณัฐพล กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ว่า หลังจากนายกรัฐมนตรีจัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาโควิดในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล เราได้ประชุม และวางโครงสร้างรองรับลงไปถึงในระดับเขต ที่เรียกว่าศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดประจำเขตต่างๆ เพื่อให้การทำงานประสานสอดคล้องครบถ้วนสมบูรณ์ ให้สามารถป้องกันการแพร่ระบาดด้วยตัวเอง โดยระบบนี้ใช้มาแล้ว 2 วันคาดว่าจะนำไปใช้ใน 50 เขตทั้ง กทม.
เมื่อถามว่าหากถึงวันที่ 14 พ.ค.2564 สถานการณ์ผู้ติดเชื้อยังทรงตัวเหมือนปัจจุบันจะทำอย่างไร พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า เราจะฟังข้อเสนอจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก เขาจะวิเคราะห์ต้นเหตุการแพร่ระบาดแต่ละครั้งเพื่อหาสาเหตุ สำหรับระลอกนี้เกิดจากสถานบันเทิง ดังนั้นเมื่อออกมาตรการไปแล้ว เมื่อใกล้ครบ 14 วันก็จะมาประเมินดูว่ายังมีสาเหตุใดที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดอยู่ ส่วนเรื่องล็อกดาวน์หรือเคอร์ฟิว เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีห่วงใยมาก ท่านให้นโยบายว่า ให้ ศบค.พิจารณาอย่างรอบคอบในการกำหนดมาตรการ ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด ดังนั้นมาตรการล็อกดาวน์หรือเคอร์ฟิวจะเป็นมาตรการสุดท้ายหากสถานการณ์หยุดยั้งไม่ได้จริงๆ ดังนั้นจึงยังไม่มีความคิดเรื่องเหล่านี้
พล.อ.ณัฐพล กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้ฝ่ายความมั่นคงเข้มงวดตามแนวชายแดนไม่ให้มีการลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ส่วนกรณีที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมายก็ให้เพิ่มความเข้มงวดในการคัดกรองให้มากยิ่งขึ้น ส่วนการกักกันตัวแม้จะขยายเวลากลับมาเป็น 14 วัน แต่ยังได้เพิ่มมาตรการในการติดตามตัว รวมถึงขอความร่วมมือผู้ที่เพิ่งเข้ามาหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่นอีกอย่างน้อย 14 วัน เพื่อความรอบคอบในการป้องกันการติดเชื้อ
ส่วนแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางเข้ามาในประเทศนั้น พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ศบค.จะพยายามทำให้เป็นไปได้ แต่ต้องประเมินสถานการณ์ตามห้วงเวลานั้นอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ย้ำว่าวัคซีนที่จะทยอยเข้ามาภายในเดือนนี้จะเร่งฉีดพื้นทีเศรษฐกิจและพื้นที่แพร่ระบาดเป็นลำดับแรก
สำหรับการดำเนินการเรื่องวัคซีนในพื้นที่คลองเตย กรณีที่มีกระแสข่าวว่ามีหัวคะแนนฝ่ายการเมืองออกมาจัดคิวให้ประชาชนบางกลุ่ม พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ในขั้นต้นได้รับทราบข้อมูลลักษณะนี้เหมือนกัน แต่ได้สอบถามหน่วยงานในพื้นที่ก็ไม่พบว่าเป็นเช่นนั้น อย่างไรก็ตามได้มีการเน้นย้ำให้หน่วยงานในพื้นที่ ทั้งเขตและหน่วยงานด้านสาธารณสุข ขอให้เพ่งเล็งเรื่องนี้เป็นพิเศษ มองเรื่องความเสี่ยงและด้านสาธารณสุขเป็นลำดับแรก หากในอนาคตมีปัญหาเช่นนั้นอีกจะให้ฝ่ายความมั่นคงจะเข้าไปช่วยสนับสนุนในการดำเนินการต่อไป
พล.อ.ณัฐพล กล่าวในช่วงท้ายว่า นายกรัฐมนตรีให้นโยบายว่าต้องฉีดวัคซีน 50 ล้านคนภายในปี 2564 ซึ่งเหลือเวลา 8 เดือน จึงเห็นว่าในช่วง 4 เดือนแรกต้องฉีดเข็มแรกให้ได้ ในพื้นที่ กทม.มีประชากรในพื้นที และประชากรแฝง ดังนั้นสมควรที่จะฉีดใน กทม.ประมาณ 6 ล้านคน คาดว่า 4 เดือนแรกประมาณการสมควรที่จะต้องฉีดให้ได้วันละ 60,000 คน ซึ่งเป็นกรอบที่วางแผนให้ กทม. ที่จะต้องไปวางแผน 50 เขตว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/