นายกฯ โชว์แพคเกจเยียวยาเศรษฐกิจ 2 ระยะ ครม.เห็นชอบวันนี้ ลดค่าน้ำ ค่าไฟ เดือน พ.ค.-มิ.ย. และปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำรายละ 1 หมื่นบาท ส่วนสัปดาห์หน้าเคาะอีก 85,500 ล้านบาท เติม 1,000 บาท 2 สัปดาห์ ใส่ 'เราชนะ - ม.33 เรารักกัน' ส่วนหลัง ก.ค.-ธ.ค. มีอีก 4 โครงการ มีเติมเงินบัตรคนจน-คนละครึ่งเฟส 3 คาดเงินหมุนเวียนทั้งระบบ 4.73 แสนล้านบาท
------------------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในการแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด โดยเฉพาะมิติด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีผลกระทบรุนแรงกับประชาชนทั้งประเทศ ทำให้มีความกังวลเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคนมีรายได้น้อย คนหาเช้ากินค่ำ ผู้ประกอบการอื่นๆ ที่เป็นห่วงโซ่สำคัญในระบบเศรษฐกิจไทย ที่ผ่านมาจึงได้จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ (ศบศ.) พิจารณาความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ มีมาตรการออกมาเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นโครงการเราชนะ โครงการ ม.33เรารักกัน และมาตรการทางการเงินต่างๆ ซึ่งการระบาดระลอกนี้ได้มีคำสั่งปิดสถานที่ต่างๆ จึงได้สั่งให้กระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณามาตรการช่วยเหลือเยียวยาเร่งด่วน สรุปได้ดังนี้
ระยะที่ 1 มี 3 มาตรการหลักสามารถดำเนินการได้ทันที
1.มาตรการด้านการเงิน มี 2 มาตรการ
สินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท เพิ่มสภาพคล่องให้ประชาชน โดย ผู้ประกอบการ และเกษตรกร โดยธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้สินเชื่อรายละ 10,000 บาท ดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน ระยะเวลา 3 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนแรก
พักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ให้ขยายระยะเวลาพักชำระหนี้เงินต้นให้แก่ลูกหนี้ถึงสิ้นปี 2564
2.มาตรการด้านการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย โดยรัฐจะลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนและกิจการขนาดเล็กทั่วประเทศช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.2564 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย
3.มาตรการต่อเนื่องช่วยเหลือเยียวยาประชาชน 2 โครงการ วงเงิน 85,500 ล้านบาท ดังนี้
เพิ่มวงเงินโครงการเราชนะ สัปดาห์ละ 1,000 บาท 2 สัปดาห์ สิ้นสุดเวลาการใช้จ่ายเดือน มิ.ย.2564 รวมวงเงิน 67,000 ล้านบาท
เพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ประกันตนโครงการ ม.33 เรารักกัน สัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ สิ้นสุดการใช้จ่ายเดือน มิ.ย.2564 รวมวงเงิน 18,500 ล้านบาท
นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า มาตรการระยะที่ 1 นี้ ครม.มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการทั้งในส่วนมาตรการด้านการเงินทั้ง 2 เรื่อง และเห็นชอบให้ดำเนินมาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟแล้ว ส่วนโครงการเราชนะ และโครงการ ม.33 เรารักกัน หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการจะเร่งนำเสนอโครงการให้พิจารณาตามขั้นตอน ซึ่งกำหนดให้นำเข้า ครม.ในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้มีมาตรการต่อเนื่องอื่นๆ เช่น การช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. ขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมสู้ภัยโควิดออกไปถึงสิ้นปี 2564 และลดอัตราดอกเบี้ย 0.01% ซึ่งมีผู้ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ 3 ล้านคน รวมทั้งชดเชยผู้ประกันตนตาม ม.33 ที่ต้องกักตัวหรือต้องหยุดทำงาน
ระยะที่ 2 เป็นมาตรการในช่วงเดือน ก.ค. - ธ.ค.2564 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้ำว่า ถ้าร่วมมือกันเพื่อจำกัดการระบาดอย่างเต็มที่ สถานการณ์น่าจะคลี่คลายลงจนอยู่ในระดับที่สามารถดำเนินมาตรการในระยะต่อไป แบ่งเป็น 2 มาตรการ 4 โครงการ กรอบวงเงิน 140,000 ล้านบาท ดังนี้
1.มาตรการลดภาระค่าครองชีพ 2 โครงการ
โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 เพิ่มเงินเดือนละ 200 บาท 6 เดือน ตั้งแต่ ก.ค. - ธ.ค.2564 ครอบคลุมประชาชน 13.6 ล้านคน
โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท 6 เดือน ตั้งแต่ ก.ค. - ธ.ค.2564 ครอบคลุมประชาชนประมาณ 2.5 ล้านคน
2.มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยกระตุ้นกำลังซื้อประชาชนกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง และรายได้สูง 2 โครงการ
โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 โดยเป็นการสานต่อโครงการเดิม ที่ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากได้โดยตรง
โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โดยภาครัฐสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) ให้ผู้ที่ได้รับสิทธิโครงการ เมื่อชำระเงินผ่าน g-Wallet ในแอปพลิเคชันเป๋าตัง กับผู้ประกอบการร้านค้าและบริการที่จดทะเบียนและติดตั้งแอปพลิเคชันถุงเงิน โดยโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ผ่านผู้ที่มีกำลังซื้อสูงให้นำเงินออกมาใช้จ่ายและสนับสนุนผุ้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
“มาตรการระยะที่ 2 รวม 4 โครงการ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 51 ล้านคน คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 473,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้มีโอกาสขายสินค้าและบริการได้มากขึ้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า มาตรการระยะที่ 2 ครม.ได้รับทราบในหลักการ และหน่วยงานที่รับผิดชอบจะเร่งดำเนินการขออนุมัติจากที่ประชุมต่อไป
“ทั้งหมดนี้คือการดำเนินการอย่างเต็มที่ของรัฐบาล และ ศบค. ในการบริหารจัดการแก้ปัญหาวิกฤตโควิด ทั้งด้านการควบคุม ป้องกัน และการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผมในฐานะนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการ ศบค. จะไม่มีวันท้อถอยหรือท้อแท้ ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาใดๆ และจะไม่หยุดในการคิดและทำเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทุกคนให้ปลอดภัย และให้ประเทศไทยที่รักของเราทุกคน ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงแข็งแรง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ด้าน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID – 19 เพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตให้แก่ผู้มีรายได้ประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกรรายย่อยหรือลูกจ้างภาคการเกษตร โดยธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อวงเงินแห่งละ 10,000 ล้านบาท รวม 20,000 ล้านบาท ให้สินเชื่อรายละ 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกิน 0.35% ต่อเดือน โดยไม่ต้องมีหลักประกัน พร้อมปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี
ทั้งนี้จะต้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย อายุครบ 20 ปีขึ้นไป ไม่เป็นผู้ที่มีรายได้จากภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติเห็นชอบถึงวันที่ 31 ธ.ค. 64 โดยการดำเนินมาตรการดังกล่าว รัฐบาลจะใช้วงเงินงบประมาณ 10,000 ล้านบาท เพื่อชดเชยความเสียหาย กรณีที่เกิดหนี้เสีย หรือ NPLs 100%
นอกจากนี้ ครม. รับทราบการขยายระยะเวลามาตรการพักชำระหนี้ของ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ในส่วนของเงินต้น จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 64 ตามความสมัครใจ เพื่อนำเงินงวดที่จะต้องชำระหนี้ไปใช้เสริมสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูงก่อน
นายอนุชา กล่าวอีกว่า ที่ประชุม ยังเห็นชอบมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ในส่วนของค่าน้ำ และค่าไฟ ช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.2564 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ค่าไฟฟ้า สำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ดังนี้
1.ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก
2.ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า ดังนี้
กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือน เม.ย.2564 คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริง
กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้ามากกว่าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือน เม.ย.2564 คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ ดังนี้
1) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือน เม.ย.2564
2) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 500 - 1,000 หน่วยต่อเดือน ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือน เม.ย.2564 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ในอัตรา 50%
3) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 1,000 หน่วย คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือน เม.ย.2564 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าส่วนเกินจาก เม.ย.2564 ในอัตรา 70% ให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
ส่วนกรณีผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็ก ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก
สำหรับ ค่าน้ำประปา ให้ลดลง 10% เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเป็นระยะเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปาประจำเดือน พ.ค.-มิ.ย.2564
ทั้งนี้ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค จะได้รับการสนับสนุนแหล่งเงินเพื่อดำเนินตามมาตรการ ภายใต้กรอบวงเงินรวมไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ตามขั้นตอนของพระราชกำหนดฯ ต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage