'บิ๊กตู่' ตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ได้ 15 ล้านโดสต่อเดือน พร้อมลงนามคำสั่งยกเครื่อง 3 คณะทำงานแก้ปัญหาโควิด เสริมกำลัง ศบค. ส่งตัวเองนั่ง ผอ.ศูนย์คุมโควิด กทม.-ปริมณฑล มอบ เลขาฯ สมช.ดูชุดเฉพาะกิจบูรณาการด้าน สธ. มี 'อนุทิน-สาธิต' เป็นที่ปรึกษา พร้อมตั้งทีมแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิให้คำปรึกษารอบด้านมี 'นพ.ปิยะสกล' นั่งประธาน
-----------------------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด ว่า เรื่องการบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วย ได้สั่งการให้จัดระบบบูรณาการเรื่องเตียงและโรงพยาบาลสนามทั้งหมด จัดแบ่งกลุ่มผู้รักษาพยาบาลตามระดับอาการ 3 กลุ่มคือ สีเขียว เป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย จัดให้เข้าโรงพยาบาลสนาม สีเหลือง ผู้ป่วยอาการปานกลาง จัดให้เข้าโรงพยาบาลทั่วไป และสีแดง ผู้ป่วยอาการรุนแรง จัดให้เข้าโรงพยาบาลเฉพาะทาง โดยให้ปรับรูปแบบการคัดกรองผู้ป่วย ให้คัดกรองที่โรงพยาบาลสนามแทน เพื่อลดการแออัดที่โรงพยาบาลและรักษาเตียงว่างให้ผู้ป่วยที่จำเป็น โดยให้เพิ่มเติมผู้รับโทรศัพท์สายด่วน 1668 1669 และ 1330 ให้เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วย
@ ยืนยันปัจจุบันไม่มีผู้ป่วยรอเตียงเกิน 2 วัน
นอกจากนั้นได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์แรกรับและส่งต่อผู้ป่วยโควิด พร้อมสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กระทรวงกลาโหม เร่งเพิ่มโรงพยาบาลสนามให้ได้มากที่สุด โดยผลการดำเนินการขณะนี้ เราจัดการให้ผู้ป่วยรอเตียงเข้าสู่ระบบการรักษา ปัจจุบันไม่มีผู้ป่วยต้องรอเตียงเกิน 48 ชั่วโมง โดยศูนย์แรกรับและส่งต่อผุ้ป่วยอาคารนิมิบุตร ทำให้แยกตัวผู้ป่วยออกจากชุมชนได้ทันที นับจากวันที่จัดตั้งสามารถส่งต่อผู้ป่วยไปแล้ว 96%
@ เตรียมอิมแพคเมืองทองฯ ตั้ง รพ.สนาม หากจำเป็น
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ตอนนี้เรามีเตียงเพิ่มขึ้นจากช่วงสงกรานต์เกือบ 10,000 เตียง และมีเตียงว่างทั่วประเทศเกือบ 30,000 เตียง นอกจากนั้นยังเตรียมตั้งโรงพยาบาลสนามที่อิมแพค อารีนา เมืองทองธานี เพื่อรองรับผู้ป่วยในพื้นที่ กทม.
“เราอาจพูดได้ว่าเราสามารถแก้ปัญหาเรื่องสายด่วน เพื่อรับและส่งต่อผู้ป่วยให้เข้ารับการรักษาได้อย่างทันการ และการเตรียมเตียงสำหรับผู้ป่วย ขอขอบคุณทุกหน่วยงาน ทุกคน ที่ร่วมกันแก้ปัญหาไปในได้ระดับที่ดี”
@ ระดมคัดกรอง – ฉีดวัคซีนหยุดระบาด ‘คลัสเตอร์คลองเตย’
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีคลัสเตอร์คลองเตย ว่า สั่งการให้ทุกหน่วยงานระดมสรรพกำลังควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็วที่สุด ใช้ประสบการณ์จากการจัดการที่สมุทรสาครมาปรับใช้ โดยใช้โมเดลตรวจเชื้อ ติดต่อ คัดกรอง แยกตัว ส่งต่อ และรักษา เน้นไปที่การตรวจเชิงรุกที่ระดมตรวจกลุ่มเสี่ยงในชุมชนให้ได้อย่างน้อย 1,000 คนต่อวัน โดยจะทำให้ได้อย่างน้อย 20,000 คน จากนั้นจะแยกผู้ป่วยตามระดับอาการ ส่งตัวผู้ป่วยไปสถาพยาบลแรกรับ เพื่อจำกัดวงการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็ว รวมถึงฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันในพื้นที่เสี่ยง ล่าสุดได้รับรายงานว่ากระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม ร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย จัดพื้นที่ตรวจเชิงรุกให้กับประชาชนคลองเตยได้อีก 700 คนต่อวัน
ขณะที่การสำรองเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลยังมีเพียงพอ แต่เราไม่นิ่งนอนใจ ขยายเพิ่มเพื่อรองรับผู้ป่วยอาการหนักกรณีฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้เปิดโรงพยาบาลสนาม ที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ เพื่อรองรับผู้ป่วยอาการหนัก 432 เตียง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมีแผนบริหารจัดการผู้ป่วยอาการหนัก อำนวยความสะดวกให้บุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วยอย่างทั่วถึง ต้องทำทุกอย่างเพื่อลดการสูญเสียให้มากที่สุด นั่นคือหลักการสำคัญ
@ ย้ำสต๊อก ‘ฟาวิพิราเวียร์’ มีเพียงพอ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้ำว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ ที่ใช้รักษา แม้จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เราได้สำรองไว้แล้วอย่างเพียงพอ อยู่ในสต๊อก 1.5 ล้านเม็ด กระจายทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศและจะได้อีก 3 ล้านเม็ดภายในเดือนนี้ คงไม่ต้องกังวลมากนัก และมีการพิจารณาว่าจะให้ยาในขั้นตอนไหนเพิ่มขึ้นอีก นอกจากกลุ่มที่มีอาการหนัก ทางกระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาดำเนินการตรงนี้อยู่
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้เราจะมีผู้ป่วยยืนยันสะสมกว่า 7 หมื่นราย แต่เรารักษาหายกลับบ้านไปแล้วมากกว่า 4 หมื่นราย ถือเป็นตัวเลขสำคัญ เป็นความสามารถของทีมแพทย์ไทยที่อยู่ในเกณฑ์ระดับโลก รัฐบาลมีนโยบายดูแลคนไทยทุกคนในการรักษาโควิด รัฐจะออกค่าใช้จ่ายตามสิทธิรักษาของผู้ป่วย และในกรณีโรงพยาบาลเอกชนจะได้รับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 20% ทุกรายการ
@ ตั้งเป้าฉีดวัคซีนเดือนละ 15 ล้านโดส
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า อีกประเด็นที่สำคัญคือการจัดหาและฉีดวัคซีน ได้กำหนดเรื่องนี้เป็นมาตรการเร่งด่วน มีเป้าหมายสิ้นปี 2564 ต้องได้รับวัคซีน 70% หรือประชากร 50 ล้านคน ใช้วัคซีนทั้งสิ้น 100 ล้านโดส ปัจจุบันมีแล้ว 63 ล้านโดส แบ่งเป็น แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ที่จะเริ่มผลิตในไทยและส่งมอบในเดือน มิ.ย. ที่จะเริ่มฉีดให้กลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว 16 ล้านคน นอกจากนั้น พ.ค.จะได้ซิโนแวคนอกเหนือจากแผนอีก 3.5 ล้านโดส ระดมฉีดให้กับบุคลากรด่านหน้า และผู้ที่อยู่พื้นที่เสี่ยงให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขเสนอแผนจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ 5-20 ล้านโดส และวัคซีนสปุตนิค วี , จอห์นสันแอนด์จอนห์สนั และ ซิโนแวค อีกบริษัทละ 5-10 ล้านโดส รวมถึงชนิดอื่นที่จะมีการขึ้นทะเบียนในอนาคต
“เรามีแผนการกระจายและฉีดวัคซีนอย่างเป็นระบบ ผ่านระบบหมอพร้อม ที่มีประชาชนมาลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนแล้วมากกว่า 1 ล้านคน รวมทั้งผ่านทางเครือข่ายโรงพยาบาล ทั้งรัฐและเอกชน รวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล และเครือข่าย อสม. ทั่วประเทศ โดยใช้แผนบริการการฉีดวัคซีนตามหลักการสาธารณสุขและการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจและสังคม จัดลำดับกลุ่มเสี่ยง และพื้นที่เร่งด่วนและพื้นที่เศรษฐกิจ โดยได้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการเพิ่มจุดบริการการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าว่าต้องฉีดวัคซีนให้ได้เดือนละ 15 ล้านโดส เพื่อเอาชนะสงครามกับโควิดในครั้งนี้ให้ได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
@ ยกเครื่องคณะทำงาน 3 ชุด แก้โควิดเสริมทัพ ศบค.
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดการสถานการณ์แพร่ระบาดในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ มีโครงสร้างบริหารแตกต่างจากพื้นที่อื่น จึงจำเป็นต้องมีศูนย์บูรณาการเพื่อจัดการทรัพยากรต่างๆ เพื่อสนับสนุน กทม.ให้ควบคุมและแก้ไขสถานการณ์อย่างเร่งด่วน จึงได้จัดตั้งศูนย์ดังกล่าวขึ้น โดยตนเองจะเป็นผู้อำนวยการศูนย์ โดยมีหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในพื้นที่เป็นกรรมการ นอกจากนี้จะเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อื่นต่อไป
นอกจากนั้นเพื่อให้การจัดการในภาพรวมเป็นไปได้อย่างดียิ่งขึ้น ได้จัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข และ นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เป็นที่ปรึกษา มีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธาน มีหัวหน้าหน่วยงานด้านสาธารณสุข มหาดไทย และกลาโหม เป็นกรรมการ เพื่อให้เกิดการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานสาธารณสุข หน่วยงานฝ่ายปกครอง ในการบูรณาการด้านบุคลากรและทรัพยากร ไม่ว่าจะจัดตั้ง รพ.สนาม หรือ จุดคัดกรอง เพื่อให้เกิดการแก้ไขสถานการณ์ในภาวะฉุกเฉินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น
โดยทั้ง 2 คณะและ ศบค.ทุกชุดจะมีคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขใน ศบค.คอยให้คำปรึกษา ซึ่งมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน รวมทั้งมีอาจารย์แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่นเป็นกรรมการ เพื่อให้ข้อเสนอแนะตามหลักวิชาการ เชื่อมประสานกับโรงพยาบาลต่างๆได้เป็นอย่างดี
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage