กทม. หารือคณะแพทย์ เคาะแจกยาฟาวิพิราเวียน์ 6 แสนเม็ด ให้ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง สีเหลือง และกลุ่มสีเขียวบางรายที่เสี่ยงโรคลุกลาม พร้อมเร่งตรวจคัดกรองเชิงรุกไม่ต่ำกว่า 4,500 คนต่อวัน
...........................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2564 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานจัดการประชุมหารือแนวทางการให้ยาฟาวิพิราเวียร์แก่ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด ร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสถาบัน และผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีมติเห็นชอบว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิดใน กทม. พบการระบาดและมีผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำเป็นต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นกว่าปกติ จึงได้กำหนดมาตรการเสริมเพิ่มเติม คือ การเร่งตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุกอย่างเข้มข้น โดยจะเพิ่มให้ตรวจอย่างต่ำ 4,500 คนต่อวัน
จากนั้นจะคัดกรองผู้ป่วยตามระดับอาการป่วย แบ่งเป็นสีเขียว เหลือง และแดง และนำส่งต่อระบบการรักษาพยาบาล ในส่วนของผู้ป่วยที่อยู่ระดับสีเขียวคือไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย รวมทั้งไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงของโรคจะได้รับการรักษาและติดตามอาการตามที่ กทม.กำหนด คือ การให้ยาฟาวิพิราเวียร์เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงของโรค จึงได้เตรียมแจกยาฟาวิพิราเวียร์ให้กับผู้ป่วยกว่า 600,000 เม็ด
โดยจะแจกให้กับผู้ป่วยกลุ่มสีแดง สีเหลือง และผู้กลุ่มสีเขียวบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงจะมีโรคลุกลามเท่านั้น ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวบางส่วนที่จะได้รับการรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์นั้น คือ ต้องอยู่ในเกณฑ์ตามการประเมินของแพทย์ที่กรุงเทพมหานคร เช่น เป็นผู้ป่วยที่มีปริมาณไวรัสในร่างกายมากกว่าผู้อื่นและเสี่ยงต่อการลุกลามของโรค ซึ่งแพทย์ได้ตั้งสันนิษฐานว่ากลุ่มคนเหล่านี้หากได้รับยาตั้งแต่แรกได้และรักษาต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5-10 วัน จะช่วยรักษาไม่ให้กลายเป็นผู้ป่วยระดับสีเหลือง หรือสีแดงในอนาคตได้ และกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวนี้ต้องให้ความยินยอมในการรักษาด้วย
ทั้งนี้ กทม.จะจัดให้มีระบบการจัดเก็บข้อมูลจากการรักษา รวมทั้งมีมาตรการป้องกันผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการรักษาที่เพื่อปกป้องผู้ที่เข้าร่วมการรักษา และต้องมีการประเมินผลว่า การดำเนินตามนี้จะมีผลดีต่อการรักษาด้วยยาอย่างไร หรือจะมีผลทำให้เกิดเชื้อดื้อยาในอนาคตหรือไม่ ซึ่งการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ครั้งนี้ จะเป็นไปภายใต้การควบคุมของแพทย์ มีการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล มีระบบการติดตามผลและประเมินผล ซึ่งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะร่วมให้คำแนะนำในการศึกษา ติดตามและประเมินผลครั้งนี้ด้วย หากพบว่าการรักษาตามที่กรุงเทพมหานครกำหนดครั้งนี้เกิดประโยชน์ อาจนำไปเพิ่มเติมในคำแนะนำในการดูแลรักษาระดับประเทศต่อไปในอนาคตได้
สำหรับในปัจจุบันนี้กรุงเทพมหานครมีผู้ป่วยสะสมในพื้นที่ 1,478 ราย ในระดับสีเขียว คืออาการเพียงเล็กน้อย กว่า 1,192 ราย ระดับสีเหลือง 199 ราย และระดับสีแดง 38 ราย ที่ยังไม่ได้รับยา ซึ่งจะได้รับยาต่อเมื่อเลื่อนระดับอาการเป็นสีเหลืองและแดง คือมีปอดอักเสบและอาการรุนแรง
@ ปรับแนวทางใช้'ฟาวิพิราเวียร์'
ขณะเดียวกัน กรมการแพทย์ได้ออกประกาศฉบับปรับปรุง ลงวันที่ 4 พ.ค.2564 สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ว่าด้วยแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัน ดูแลรักษา และการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล แบ่งตาม 4 กลุ่มอาการ ดังนี้
1. ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ แนะนำให้นอนโรงพยาบาลอย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ และให้จำหน่ายจากโรงพยาบาลได้หากมีอาการปรากฎขึ้นมาให้ตรวจวินิจฉัยและรักษาตามเหตุ รวมถึงให้รักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง และอาจได้รับผลข้างเคียงจากยา
2. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ ภาพถ่ายรังสีปอดปกติ ให้ดูแลรักษาตามอาการ ส่วนมากหายได้เอง แนะนำให้นอนโรงพยาบาล หรือในสถานที่รัฐจัดให้อย่างน้อย 14 วัน นับจากที่เริ่มมีอาการ หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้นอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง พิจารณาจำหน่ายผู้ป่วยได้ และให้ยาฟาวิพิราเวียร์ตามดุลยพินิจของแพทย์
3. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงแต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่มีปอดบวม (pneumonia) เล็กน้อย ซึ่งไม่เข้าเกณฑ์ข้อ 4 แนะนำให้นอนโรงพยาบาลอย่างน้อย 14 วัน หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น และให้ยาฟาวิพิราเวียร์ให้เร็วที่สุด ระยะเวลา 5 วัน หรือมากว่า ขึ้นกับอาการทางคลินิกตามความเหมาะสม หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้อาจพิจารณาให้ corticosteroid ร่วมกับ ฟาวิพิราเวียร์ ในกรณีที่มีผู้ป่วยมีอาการและภาพถ่ายรังสืปอดที่แย่ลง
4. ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดบวมที่มี hypoxia หรือมีภาวะลดลงของออกซิเจน ของค่าที่วัดได้คครั้งแรกขณะออกแรง หรือภาพรังสีทรวงอกมี progression ของ pulmonary infiltrates ซึ่งแนะนำให้ฟาวิพิราเวียร์ เป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก อาจพิจารณาให้ Lopinavir/ritonavir 5-10 วัน ร่วมด้วย ตามดุลยพินิจของแพทย์ รวมถึงอาจแนะนำให้ Corticosteroid
ส่วนการรักษาโควิดในกลุ่มผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปีนี้นั้น จะแบ่งอาการตาม 4 กลุ่ม ดังนี้
1. ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ จะแนะนำให้ดูแลรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์
2. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง จะแนะนำให้ดูแลรักษาตามอาการ พิจารณาให้ฟาวิพิราเวียร์เป็นเวลา 5 วัน
3. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง หรือมีอาการปอดบวม(pneumonia) เล็กน้อย ซึ่งไม่เข้าเกณฑ์กลุ่มที่ 4 จะแนะนำให้ฟาวิพิราเวียร์เป็นเวลา 5 วัน อาจให้นานกว่านี้ ได้หากอาการยังมาก โดยแพทย์พิจารณาตามความเหมาะสม
4. ผู้ป่วยยืนยันที่มีอาการปอดบวม หายใจเร็วกว่าอัตราการหายใจตามกำหนดอายุ จะแนะนำให้ฟาวิพิราเวียร์เป็นเวลา 5-10 วัน และ Corticosteroid
ทั้งนี้ มีข้อแนะนำอีกว่า การให้ยารักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ก่อนที่ผู้ป่วยจะมีอาการหนัก ภายใน 4 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการ จะช่วยลดปริมาณไวรัสได้เป็นอย่างดี ดังนั้นควรให้ยาฟาวิพิราเวียร์เร็วก่อนผู้ป่วยจะมีอาการหนัก โดยเฉพาะกลุ่มที่มีโรคร่วม ควรเริ่มให้ยาเร็วที่สุด
ส่วนการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์สำหรับหญิงตั้งครรภ์นั้น อาจมีโอกาสเกิดผลข้างเคียง จึงควรตรวจควรรภ์ก่อนให้ทานยาฟาวิพิราเวียร์ โดยหญิงตั้งควรรภ์ 1-3 เดือนที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ให้รักษาตามอาการ แต่หากมีปอดอักเสบอาจใช้ remdefivir ขณะที่หญิงตั้งครรภ์ 4 - 9 เดือน หากแพทย์พิจารณาว่าจะได้ประโยชน์จากยาฟาวิพิราเวียร์มากกว่าความเสี่ยง อาจพิจารณาให้ใช้ ร่วมกับการตัดสินใจของผู้ป่วยและญาติ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/