อย.แถลงยืนยัน ไม่พบการนำเข้า 'วัคซีนไฟเซอร์' ในประเทศไทย แต่บริษัทเตรียมขอขึ้นทะเบียนเร็วๆ นี้ ส่วน 'โมเดอร์นา' คาดผ่านการพิจารณา พ.ค.นี้
------------------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2564 นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงชี้แจงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า มีการนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์เข้ามาในประเทศไทย ว่า อย.ขอยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการนำเวัคซีนไฟเซอร์เข้ามาในประเทศไทยแต่อย่างใด ทั้งนี้การนำวัคซีนเข้ามาในประเทศไทย บริษัทไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ต้องนำเข้ามาผ่านกลไกของ อย. ขณะนี้ได้ตรวจสอบทั้งในส่วนของ กองยา และ ด่านอาหารและยา ไม่พบว่ามีการนำเข้าแต่อย่างใด
นพ.ไพศาล กล่าวย้ำว่า อย.ได้สอบถามเรื่องนี้ไปยังบริษัทไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ก็ได้รับคำยืนยันว่า ยังไม่ได้มีการยื่นคำขอขึ้นทะเบียน ขณะเดียวกันบริษัทมีนโยบายที่จะขายวัคซีนให้กับภาครัฐ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในช่วงของเจรจาเท่านั้น คาดว่าจะมีการยื่นขอขึ้นทะเบียนเร็วๆนี้ ทั้งหมดเป็นคำตอบของบริษัท ดังนั้นเขาไม่สามารถนำเข้ามาได้
"เรื่องที่ปรากฎเป็นข่าวคงไม่ได้เป็นข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้าง ขอเตือนว่าถ้าวัคซีนหรือยาตัวใดนำเข้ามาโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย. มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 5,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นโทษตามพระราชบัญญัติยา ส่วนเรื่องวัคซีน ขอให้ประชาชนติดตามความคืบหน้าและข้อเท็จจริงผ่านเว็บไซต์ของ อย.ต่อไป" นพ.ไพศาล กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านบางเว็บไซต์โดยระบุพื้นที่ว่า ประเทศไทยมีการอนุญาตให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ได้ในภาวะฉุกเฉิน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า เท่าที่สอบถามบริษัท สิ่งที่ปรากฎดังกล่าวไม่ได้เป็นข้อมูลของบริษัท และบริษัทยืนยันว่าเขาไม่ได้มีเว็บไซต์ในลักษณะอย่างนั้น ซึ่งคาดว่าทางบริษัทจะมีการแถลงข่าวชี้แจงเรื่องนี้อีกครั้ง
สำหรับความคืบหน้าการขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิดในประเทศไทย ขณะนี้มีวัคซีนผ่านการขึน้ทะเบียนกับ อย.ทั้งหมด 3 ราย คือ แอสตร้าเซนเนก้า นำเข้าโดยบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด , ซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม (อก.) และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน นำเข้าโดยบริษัทแจนเซ่น-ซีแลก จำกัด
นอกจากนี้มีวัคซีนอยู่ระหว่างดำเนินการในขั้นตอนการประเมินขอขึ้นทะเบียน คือ โมเดอร์นา นำเข้าโดยบริษัทซิลลิคฟาร์มา จำกัด ซึ่งยังไม่ได้มีการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนในเวลานี้
ทั้งนี้มีอีก 2 ยี่ห้อที่มาขอขึ้นทะเบียน แต่อยู่ในขั้นตอนการเตรียมเอกสาร คือ โคแวคซิน (Covaxin) ของ บารัต ไบโอเทค ของอินเดีย (Bharat Biotech) ที่นำเข้าโดยบริษัทไบโอเจเนเทค จำกัด และ สปุตนิก วี ที่นำเข้าโดยบริษัทคินเจน ไบโอเทค จำกัด
นพ.ไพศาล กล่าวยืนยันว่า ในส่วนของวัคซีนโมเดอร์นา คาดว่าจะมีขึ้นทะเบียนได้ภายในเดอน พ.ค. ทั้งนี้ขอชี้แจงว่า การขึ้นทะเบียนมีเอกสารที่ต้องพิจารณาเป็นหมื่นแผ่น ต้องระดมผู้เชี่ยวชาญทั้ง อย. และผู้เชี่ยวชาญภายนอก มาดูหลายเรื่องทั้งคุณภาพ ความปลอดภัย ประสิทธิผล หากมีความคืบหน้าประการใดก็จะรีบแจ้งให้ทราบทันที อย่างไรก็ตามการพิจารณา แม้จะใช้เวลา 30 วัน แต่เป็นการดำเนินการตามมาตรฐานสากล เราทราบดีว่า วัคซีนมีการทดสอบและประเมินจากต่างประเทศมาแล้ว แต่ข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยเป็นข้อมูลโดยละเอียดที่มีลักษณะเหมือนเป็นสัญญาระหว่างกัน ซึ่ง อย.ต้องตรวจสอบเพื่อจะได้บอกประชาชนได้ว่ามีอาการไม่พึงประสงค์อะไรบ้างที่พบบ่อย ทั้งนี้ขอให้เข้าใจว่าเราต้องติดตามและต้องมีการขึ้นทะเบียนในส่วนของ อย. อีกครั้งเพราะเหตุนี้ ยืนยันว่าเราก็ทำด้วยความรวดเร็ว และตามมาตรฐานสากล
นพ.ไพศาล ยังกล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่าโรงพยาบาลเอกชนเปิดให้จองวัคซีนด้วยว่า ขณะนี้มีวัคซีนอยู่ 2 ส่วนในโรงพยาบาลเอกชน ส่วนแรกคือเขามาช่วยภาครัฐฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มโรค ส่วนที่สองที่มีข่าวว่าวัคซีนโมเดอร์นาจะนำเข้ามานั้น บริษัทเองมีนโยบายที่จะขายให้กับภาครัฐ คาดว่าบริษัทจะกระจายวัคซีนมาให้องค์การเภสัชกรรม และโรงพยาบาลเอกชนจะเข้าไปดำเนินการร่วมกันอีกที ทั้งนี้ต้องสอบถามไปยังบริษัทผู้นำเข้าว่า วัคซีนโมเดอร์นาจะมาเมื่อไร ซึ่ง อย.ไม่ทราบ เพราะรับผิดชอบแค่เฉพาะขึ้นทะเบียน อย่างไรก็ตาม หากมีการจองวัคซีนในลักษ ที่เป็นชื่อเลย ถือเป็นการโฆษณา ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ยา ซึ่งเราเคยดำเนินการไปแล้ว เคยมีโทษไปปรับแล้ว จึงอยากประชาสัมพันธ์ว่าขอให้ดูให้ดีว่า การจองวัคซีนนั้นเป็นส่วนไหน และมีรายละเอียดอย่างไร
@ ไฟเซอร์ออกแถลงการณ์ ยันยังไม่มีวัคซีนโควิดเข้าไทย
ขณะเดียวกัน ล่าสุด ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ออกหนังสือ กรณีมีข่าวการนำเข้าวัคชีนโควิดของไฟเซอร์-ไบโอเอนเทคในประเทศไทย จากหลายแหล่งข่าว และสื่อออนไลน์หลายแห่ง โดยขอซี้แจงเกี่ยวกับข้อเท็จจริง และการดำเนินงานรวมถึงจุดยืนบริษัท ดังนี้
- ไฟเซอร์มุ่งมั่นและยืนหยัดที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในประเทศต่างๆ เพื่อให้คนทั่วโลกรวมถึงประชาชนชาวไทยได้สามารถเข้าถึงวัคซีนโควิดของเราได้อย่างเท่าเทียมกัน
- ในภาวะของการระบาด ณ ขณะนี้ ไฟเซอร์จำเป็นต้องมุ่งจัดลำดับความสำคัญโดยมุ่งเน้นการส่งมอบวัคซีนผ่านหน่วยงานรัฐบาลแห่งชาติเท่านั้น
- ในขณะนี้ ไฟเซอร์อยู่ระหว่างการทำงาน และหารืออย่างต่อเนื่องกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเตรียมการจัดหาวัคซีนโควิดให้กับประชาชนชาวไทย
- ขอรับรองว่าไฟเซอร์-ไบโอเอนเทคไม่มีนโยบายจัดจำหน่ายวัคซีนโควิด ผ่านตัวแทนหรือตัวกลางใดๆ ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบันไม่เคยมีการนำเข้าวัคซีนโควิด ผ่านสำนักงานในประเทศไทย แต่อย่างใดทั้งสิ้น
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage