กรมการแพทย์จับคู่แล็บกับรพ.ในสังกัดเพื่อส่งข้อมูลการจัดการเตียงได้เร็วขึ้น ดึงเอกชนช่วยปรับ 1668 เป็น One Stop Service ด้าน สธ.ยันทุกรพ. รวมทั้ง รพ.สนาม ฮอสพิเทลมีมาตรฐาน เตรียมแจ้ง 191 หากผู้ป่วยปฏิเสธการรักษา
..........................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 3 พ.ค.2564 นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวถึงประเด็น ความร่วมมือการรักษาผู้ป่วยโควิดที่ตรวจหาเชื้อจากห้องปฏิบัติการเอกชน ในแถลงการณ์ข่าวสถานการณ์โควิด กระทรวงวสาธารณสุข ว่า ที่ผ่านมาการบริหารจัดการเตียงขัดข้อง เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดจำนวนมาก โดยเฉพาะช่องทางการตรวจพบเชื้อจากแล็บเอกชนตรวจที่ได้รับการอนุญาตจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ข้อจำกัดเมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อแต่ไม่สามารถหาโรงพยาบาลที่เข้าไปรักษาได้ แต่เดิมได้กำหนดให้แล็บที่เปิดตรวจหาเชื้อโควิดจับคู่กับโรงพยาบาล เพื่อรองรับสำหรับผู้ป่วยที่ผลตรวจเป็นบวก
นายสาธิต กล่าวว่า กรมการแพทย์ต้องการแก้ไขปัญหาผู้ป่วยที่มาจากการตรวจหาเชื้อจากแล็บที่จะให้เข้ารักษาตามโรงพยาบาล โดยได้เรียกประชุมผู้ประกอบการแล็บที่ได้รับอนุญาตในพื้นที่ กทม. เพื่อทำข้อตกลง และได้จับคู่กับแล็บและโรงพยาบาลในพื้นที่ กทม.ทั้งหมดแล้ว เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้มีเตียงรองรับเมื่อผลตรวจเป็นบวก และเพิ่มช่องทางการส่งข้อมูล จากเดิมเมื่อที่ต้องส่งผลตรวจไปยังสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) โดยเพิ่มการส่งข้อมูลไปยัง 1668 ที่จะเป็นฝ่ายประสานติดต่อเพื่อหาเตียงให้กับผู้ป่วยเพื่อเพิ่มประสิทธภาพและย่นระยะเวลาให้มากขึ้น
@ ปรับ 1668 เป็น One Stop Service
นายสาธิต กล่าวอีกว่า ส่วนการบริหารจัดการของสายด่วน 1668 เพื่อจัดหาเตียง ได้มีการปรับโฉมใหม่เป็น One Stop Service โดยให้เอกชนเข้ามาดูแล call center รับทุกสายและรับข้อมูลเพื่อส่งต่อให้หลังบ้านที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่จะดำเนินการต่อ รวมถึงให้คำแนะนำต่างๆ เพื่อที่จะให้การจัดการเตียงได้รวดเร็วที่สุด
@ ยัน รพ. รพ.สนาม ฮอสพิเทล มีมาตรฐานเท่ากัน
ด้าน นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด ว่า ที่ผ่านมามีการกำหนดนโยบายให้ผู้ป่วยติดเชื้อทุกรายต้องเข้ารับการรักษาและอยู่ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์ โดยการตรวจในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน หรือแล็บเอกชน หากพบผู้ติดเชื้อจะต้องรายงานมายังระบบของกรมควบคุมโรค ภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อประสานในเครือข่าย สำหรับการจัดหาเตียง แต่ในกรณีที่ตรวจพบเชื้อ แต่ไม่มีเตียงรองรับ หรือปัญหาเตียงไม่พอ จะแบ่งเป็น เมื่อตรวจพบเชื้อ หากตรวจจากแล็บเอกชนที่ได้รับการรับรอง กรมการแพทย์จะหาเตียงในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามให้ทุกราย หากตรวจกับแล็บเอกชน จะทำการส่งข้อมูลเข้าระบบสายด่วน 1668 และกรมการแพทย์จะประสานไปยังผู้ป่วย เพื่อจัดการหาเตียงให้อย่างเหมาะสมตามอาการ ทั้งนี้ ขอความร่วมมือผู้ป่วยว่า หากเจ้าหน้าที่ติดต่อไปแล้วอย่าปฏิเสธการรักษา เพื่อให้เข้าถึงระบบการรักษาอย่างปลอดภัยมากที่สุด ทั้งนี้ยืนยันว่า ไม่ว่าโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือฮอสพิเทล (Hospitel) ต่างมีมาตรฐานเท่ากันในการดูแลผู้ป่วยอย่างเท่าเทียม
@ ส่งต่อผู้ป่วยข้ามโซนได้
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวอีกว่า เมื่อตรวจพบเชื้อและมีอาการ ตามมาตรฐานจะแยกกลุ่มผู้ป่วยเป็นสีเขียว สีเหลือง และสีแดง แต่ขอให้เป็นการประเมินจากแพทย์ ส่วนปัญหาเตียงใน โรงพยาบาลไม่เพียงพอ อาจเกิดขึ้นบางจุด เช่น เตียงไอซียู ที่ค่อนข้างเต็ม แต่เตียงสำหรับผู้ป่วยสีเขียวยังมีเพียงพอรองรับได้ ทั้งนี้อยู่ที่การบริหารจัดการ ดังนั้น หากตรวจพบเชื้อแล้วขอให้เป็นการประสานจาก 1668 เพื่อประสานหาเตียงภายใต้ระบบดูแลตามโซนการรักษา ซึ่งสามารถส่งต่อข้ามโซนได้ ทั้งนี้ขอให้ผู้ป่วยที่ยังไม่มีเตียง โทรมาสายด่วน 1668 หากเป็นการขอเตียง จะมีทีมแพทย์ประเมินระดับของผู้ป่วย หลังจากนั้นก็จะจัดการเข้ารักษาในสถานพยาบาลตามความเหมาะสม เช่น ใกล้บ้าน ตรงตามสังกัดที่รักษา และจะส่งรายชื่อให้สถานพยาบาลปลายทาง ให้ติดต่อกลับไปยังผู้ป่วยใน 1 ชั่วโมง พร้อมมีรถจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินไปรับ
@ หากปฏิเสธการรักษา จะส่งต่อให้ตำรวจเชิญตัวมา
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวถึงกรณีผู้ป่วยปฏิเสธการรักษา หลังจากการติดต่อกลับไป เนื่องจากคิดว่าสามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้ ว่า สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการและอยู่บ้านภายใต้เงื่อนไขการดูแลตัวเองจากที่บ้านมากกว่า 7 วันแล้ว จะมีระบบติดตามจาก 1668 ลงทะเบียนกับทีมแพทย์ หรือ รพ. เพื่อติดตามอาการเป็นระยะจนกว่าจะพ้นระยะ 14 วัน
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีผู้ที่ปฏิเสธการรักษาตรวจพบเชื้อน้อยกว่า 7 วัน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการกักกันโรคเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อต่อ ก็จะประสานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 191 เพื่อเชิญผู้ป่วยที่ไม่ยินยอมเข้าสู่การรักษา มาเข้ากระบวนการรักษาให้ได้ เนื่องจากไม่อยากให้เกิดการแพร่โรคไปอยู่ในชุมชน เพราะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อให้ครอบครัวและเพื่อนบ้าน
@ ใส่เครื่องหายใจไม่ได้แปลว่าจะเสียชีวิตทุกราย
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวถึงประเด็นการแบ่งระดับอาการของผู้ป่วย ว่า แบ่งระดับอาการออกเป็น 4 ระดับ คือ ไม่มีอาการ มีอาการเล็กน้อย อาการปานกลาง และผู้ป่วยมีอาการหนักและรุนแรง กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหนักหรือรุนแรงที่มีจำนวนกว่า 900 รายนั้น ในส่วนหนึ่งประมาณ 200 กว่ารายเป็นผู้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ต้องอยู่ในห้องไอซียูความดันลบที่มีข้อจำกัดบ้าง แต่สำหรับผู้ป่วยหนักโดยทั่วไป มีการปรับระบบให้สามารถอยู่ในไอซียูที่ปรับมาตรฐาน มีความปลอดภัยแล้ว ขณะนี้มีการขยายเตียงไอซียูได้มากขึ้น โดยที่ไม่ต้องอยู่ในห้องความดันลบ ทั้งนี้ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจไม่ใช่ว่าจะเสียชีวิตทั้งหมด ตั้งแต่การระบาดของโควิดระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจกว่า 400-500 ราย แต่ตัวเลขเสียชีวิตยังอยู่ที่ 100 กว่ารายเท่านั้น
@ การรักษาโควิดในเด็กไม่ต่างจากผู้ใหญ่
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวถึงประเด็นการรักษาโควิดในเด็ก ว่า ในการระบาดของโควิดช่วงแรกพบผู้ติดเชื้อในกลุ่มเด็กน้อย แต่ในขณะนี้มีจำนวนมากขึ้นตามสัดส่วนของผู้ป่วยที่พบมากขึ้น โดยผู้ป่วยเด็กจะมีอาการรุนแรงหรือไม่ก็เป็นไปตามอาการหรือโรคประจำตัว ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นเด็กแล้ว อาการจะรุนแรง อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ยังอยู่ในผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่า
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวอีกว่า การรักษาเด็กที่ป่วยโควิด ก็ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ แต่จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ใช้เครื่องมือที่เฉพาะ แม้กระทั่งเครื่องช่วยหายใจที่ต้องมีขนาดเล็ก มีความดันที่เหมาะสม โดยผู้ป่วยเด็กที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หากในพื้นที่ กมม. สามารถรักษาได้ที่สถาบันสุขภาพเด็ก ซึ่งมีเตียงรองรับอย่างเพียงพอ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage