ป.ป.ช. เผยแพร่ความคืบหน้าคดีกล่าวหา 'อนุวัติ วิชัยโย หรือณัฐวรรธน์ วิชยธรรมโม-สันติธรรม สีนวนสกุลณี' 2 วิศวกรโยธา เทศบาลตำบลท่าหลวง อยุธยา ปล่อยปละละเลยโครงการก่อสร้างสะพานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ถล่ม ตาย 4 ราย -บาดเจ็บ ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 พิพากษาลงโทษจำคุกคนละ 6 ปี รับสารภาพลดเหลือคนละ 3 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วน เอกชน -กก.ผู้จัดการ โดนปรับ 46,000 บาท จำคุก 3 ปี แต่ให้รอการลงโทษ
............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นายอนุวัติ วิชัยโย หรือนายณัฐวรรธน์ วิชยธรรมโม นายสันติธรรม สีนวนสกุลณี วิศวกรโยธาปฏิบัติการ เทศบาลตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และบริษัท ดีไนซ์ (2009) จำกัด หรือบริษัท ที.เอ็ม.ไอ.ดริล แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และ นายมนตรี เคหนาดี กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ กรณีปล่อยปละละเลยโครงการก่อสร้างสะพานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เป็นเหตุให้สะพานถล่มมีผู้เสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บ
ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตาม ป.อ. มาตรา 157 , 162 และ พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา
ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 มีคำพิพากษาดังนี้
นายอนุวัติ วิชัยโย หรือ นายณัฐวรรธน์ วิชยธรรมโม จำเลยที่ 1 และ นายสันติธรรม สีนวนสกุลณี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามมาตรา 157, 162 และพ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ประกอบ ป.อ.มาตรา 83 เป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด
จำคุกคนละ 6 ปี
บริษัท ดีไนซ์ (2009) จำกัด หรือ บริษัท ที.เอ็ม.ไอ.ดริก แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด จำเลยที่ 3 และนายมนตรี เคหนาดี จำเลยที่ 4 มีความผิดตามมาตรา 157 พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ประกอบมาตรา 86 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ความผิดตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ลงโทษ จำเลยที่ 3 ปรับ 12,000 บาท จำเลยที่ 4 จำคุก 2 ปี และปรับ 12,000 บาท ความผิดตามมาตรา 157 และ พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ประกอบมาตรา 86 เป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ประกอบมาตรา 86 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด
ลงโทษ จำเลยที่ 3 ปรับ 80,000 บาท จำเลยที่ 4 จำคุก 4 ปี และปรับ 80,000 บาท
จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง
คงลงโทษ จำเลยที่ 1 และ ที่ 2 จำคุก คนละ 3 ปี
ลงโทษจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 คนละสองกรรมรวมปรับจำเลยที่ 3 เป็นเงินรวม 46,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนดรวม 3 ปี และปรับเป็นเงินรวม 46,000 บาท โดยรอการลงโทษให้จำเลยที่ 4
ทั้งนี้ คดียังไม่สิ้นสุด จำเลยทั้งหมด มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
เบื้องต้น เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 162 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการดังต่อไปนี้ในการปฏิบัติการตามหน้าที่
(1) รับรองเป็นหลักฐานว่า ตนได้กระทำการอย่างใดขึ้น หรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ
(2) รับรองเป็นหลักฐานว่า ได้มีการแจ้งซึ่งข้อความอันมิได้มีการแจ้ง
(3) ละเว้นไม่จดข้อความซึ่งตนมีหน้าที่ต้องรับจด หรือจดเปลี่ยนแปลงข้อความเช่นว่านั้น หรือ
(4) รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้น มุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
อ่านประกอบ :
คุก 156 เดือน! อดีต นอภ.พุนพิน สุราษฎร์ฯ ออกใบอนุญาตซื้อปืน-เครื่องกระสุนมิชอบ
คุก 17 ปี! อดีต ผอ.อคส. เรียกรับเงินคู่สัญญาขายข้าวถุง ยุค 'ยิ่งลักษณ์'
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage