กทม.-ปริมณฑลใช้เตียงไอซียูแล้ว 273 เตียง เหลือเตียงว่าง 71 เตียง คิดเป็นอัตรา 80% ใกล้เต็มศักยภาพ เร่งเพิ่มห้องไอซียูรวม รองรับผู้ป่วยหนัก
..........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2564 นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดของประเทศขณะนี้ ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยใหม่ระดับประเทศ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเริ่มชะลอตัวลง แต่ยังมีจำนวนสูงอยู่
ขณะที่ผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักหรือรุนแรงกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้สถานการณ์การครองเตียงของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ห้องความดันลบ (AIIR-ICU) ทั้งหมด 344 เตียง ครองเตียง 273 เตียง เหลือว่าง 71 เตียง และห้องความดันลบดัดแปลง (Modified AIIR) ทั้งหมด 576 เตียง ครองเตียง 494 เตียง เหลือว่าง 82 เตียง ซึ่งเป็นเตียงสำหรับผู้ป่วยหนัก มีอัตราการครองเตียงกว่า 80% ขณะนี้กำลังเพิ่มจำนวนห้องไอซียูรวม (Cohort ICU) เพื่อรองรับผู้ป่วยหนักเพิ่มเติม
สำหรับห้องอื่นๆ ได้แก่ ห้องสามัญ (Cohort Ward) ทั้งหมด 4,209 เตียง ครองเตียง 3,315 เตียง เหลือว่าง 894 เตียง และฮอสพิเทล (Hospitel) ทั้งหมด 9,638 เตียง ครองเตียง 5,533 เตียง เหลือว่าง 4,105 เตียง มีอัตราการครองเตียงมีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่จัดเตรียมเพื่อให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น
นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดว่า การฉีดวัคซีนเป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้กับเชื้อโรค ในอดีตจะต้องใช้เวลาวิจัย 5-10 ปีก่อนนำมาใช้ แต่ในการระบาดโควิดใช้เวลาเพียง 1 ปี เป็นการอนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน จึงต้องเฝ้าระวังมากกว่าปกติ เช่น สังเกตอาการ 30 นาที หลังฉีดทันที และรายงานผลในช่วงวันที่ 1, 3, 7 และ 30 วันหลังฉีด
"ส่วนผลข้างเคียงจากวัคซีนที่ปรากฏในข่าวถึงอาการอัมพฤกษ์นั้น พบว่าเป็นผลข้างเคียงจากความวิตกกังวลที่ทำให้เกิดอาการทางกายได้ จึงเห็นได้ว่าทุกรายมีอาการเพียง 1-3 วันเท่านั้น แล้วก็หาย และเมื่อไปแสกนสมองก็ปกติหมด ทุกรายเป็นเพศหญิง และเป็นบุคลากรการแพทย์ทั้งหมด ซึ่งคาดว่าทุกรายอาจทำงานหนัก เมื่อลงไปฉีดวัคซีน อาจเกิดความวิตกกังวลได้ สำหรับแอสตร้าเซนเนก้า ผลข้างเคียงอาจเกิดได้คล้ายกับซิโนแวคแต่สูงกว่า 40-50% เช่น ปวด บวม แดง ร้อน แต่ทุกคนก็หายหมด ส่วนการเกิดลิ่มเลือดอุดตันนั้น จะเกิดขึ้น 4 ใน 1 ล้านโดส ทั้งนี้หากเป็นผู้ติดเชื้อโควิดและผู้สูบบุหรี่จัดจะพบเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า" นพ.ทวี กล่าว
@ ชี้ผลข้างเคียงคล้ายอัมพฤกษ์ โยงความเครียด
นพ.ทวี กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังมีวัคซีนชนิดอื่นเข้ามา แต่จะต้องผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยคณะผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 10 คน
นพ.ทวี กล่าวอีกว่า สำหรับประสิทธิภาพวัคซีนนั้น วัคซีนซิโนแวค ใช้เทคโนโลยีเชื้อตาย และใช้กระบวนการผลิตดั้งเดิม จึงมีความปลอดภัย ที่ยอมรับได้ ข้อมูลจากบราซิลตีพิมพ์ว่า หลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว 14 วัน สามารถป้องกันโรคได้เกือบ 50% และเมื่อฉีดเข็มที่ 2 ก็ป้องกันได้สูงขึ้นมากกว่า 60 % ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ใช้เทคโนโลยีไวรัลเวกเตอร์ (viral vecter) ใช้เชื้อไวรัสโควิดที่ตัดตอน ไม่สามารถแพร่ขยายจำนวนได้ ฝังเข้าไปให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน การศึกษาพบว่า การฉีดเข็มที่ 1 ครบ 3 สัปดาห์ จะเริ่มป้องกันโรคได้ ต่อจากนั้นอีก 12 สัปดาห์ จะป้องกันโรคได้ถึง 71% หลังจากนั้นก็จะค่อยๆ ลดลง
“วัคซีน 2 ชนิดที่ประเทศฉีดขณะนี้ ไม่ต่างกันมาก อยู่ในเกณฑ์ที่ทั่วโลกยอมรับ มีประสิทธิภาพที่ดี สำหรับคำถามว่าจะลองรับเชื้อกลายพันธุ์ได้หรือไม่ ประเทศจีนศึกษาวิจัยนำน้ำเหลืองของผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค วัคซีนซิโนฟาร์ม และน้ำเหลืองของผู้ป่วยที่หายแล้ว มาจัดการกับไวรัส ซึ่งสามารถทำได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่าไม่ดีเทียบเท่ากับเชื้อดั้งเดิม ส่วนวัคซีนแอสตร้าฯ กับสายพันธุ์อังกฤษที่ระบาดเยอะในบ้านเรา ก็สู้กับเชื้อได้ประมาณเกือบ 70 % แต่สู้ได้กับสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง 81% จึงสรุปได้ว่าวัคซีนที่เรามีอยู่ในมือ ยังรับมือเชื้อกลายพันธุ์ได้แต่อาจไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่ากับสายพันธุ์ดั้งเดิม” นพ.ทวี กล่าว
นพ.ทวี กล่าวว่า ทั่วโลกขณะนี้ มีวัคซีนที่ทดสอบในคนระยะที่ 3 สำเร็จและกำลังจดทะเบียน ประมาณ 13 – 15 ตัว ทุกตัวมีผลป้องกันการเสียชีวิต ป้องกันความรุนแรงของโรค ลดการนอนไอซียู และลดการใส่ท่อช่วยหายใจได้เกือบ 100% ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในประสิทธิภาพและประโยชน์ของวัคซีน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage