สธ.แจงอยู่ระหว่างตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิต หญิง 24 ปี จ.อ่างทอง หลังมีประวัติฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ด้าน สบส. เผยมีคลินิกตรวจโควิดที่ผ่านการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จำนวน 279 แห่ง มี 14 แห่งใน กทม.ผ่านมาตรฐาน
.................................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2564 นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กล่าวถึงกรณีมีผู้เสียชีวิตเป็นหญิง อายุ 24 ปี จ.อ่างทอง หลังรับวัคซีนโควิดประมาณ 2 วัน ที่โรงพยาบาลแถวปทุมธานี ในแถลงสถานการณ์โควิด กระทรวงสาธารณสุข ว่า หลังจากการรับวัคซีน การเฝ้าเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์นั้น มีการดำเนินการอย่างเต็มที่ โดยระยะเวลาการเฝ้าสังเกตุอาการคือ 30 นาที ส่วนใหญ่อาการน่าสงสัยว่าแพ้วัคซีน มักเกิดขึ้นเวลาสั้นๆ หลังฉีดไม่นาน แต่ในกรณีนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดล่าช้าข้ามวันและอาจจะถึงวันที่ 2 แต่ทั้งนี้ยังไม่มีการตัดประเด็นเรื่องการแพ้วัคซีนออก ฉะนั้นจะต้องมีการชันสูตรศพ เพื่อพิจารณารายละเอียดต่างๆ รวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อหาสาเหตุข้อเท็จจริงต่อไป ขณะนี้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้ประสานหารือกับทางญาติ ล่าสุดยินยอมให้มีการตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริงเรื่องนี้
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า คนเราร่างกายแข็งแรง บางคนวิ่งมาราธอน อยู่มาวันหนึ่งมีอาการป่วยฉับพลันก็เป็นไปได้ ดังนั้น หลังฉีดวัคซีนมีอาการเกิดขึ้น อาจเป็นเหตุการณ์ที่บังเอิญจากโรคภัยไข้เจ็บ หรือเกิดจากวัคซีนจริง ก็ต้องเอาข้อมูลมาประกอบกัน โดยสิ่งที่ต้องนำมาประกอบคือ ต้องพิจารณาประวัติการฉีดวัคซีน ล็อตไหน และการเจ็บป่วย ทราบว่าก่อนเสียชีวิตได้รับการรักษา และต้องนำประวัติการรักษาจากสถานพยาบาลมาประกอบพิจารณา ร่วมกับการผ่าศพชันสูตร ร่วมกับการตรวจแล็บต่างๆ เพิ่มเติม ก่อนจะสรุปผลสาเหตุการเสียชีวิตได้
ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวถึงคลินิกห้องปฏิบัติการเอกชน ว่า กำลังของภาครัฐไม่เพียงพอในกระบวนการตรวจหาเชื้อโควิด จึงได้มีการสนับสนุนภาคเอกชน คลินิกแล็บ รวมถึงโรงพยาบาลต่างๆ สามารถพัฒนาเพื่อสาหารถตรวจหาเชื้อได้ โดยปัจจุบันมีคลินิกตรวจโควิดที่ผ่านการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จำนวน 279 แห่ง เป็นภาครัฐ 176 แห่ง เป็นเอกชน 103 แห่ง โดยอยู่ใน พื้นที่ กทม.และปริมณฑล 109 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นเอกชนที่ประชาชนนิยมไปตรวจถึง 14 แห่ง
นพ.ธเรศ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการออกประกาศของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพถึงแนวทางให้คลินิกต่างๆ ดำเนินการ โดยคลินิกที่ผ่านการรับรอง ก่อนจะตรวจคนไข้ที่สงสัยว่าติดเชื้อโควิด และต้องให้คำแนะนำประชาชนอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพราะถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องตรวจ และเมื่อพบว่าผลบวก ต้องรีบแจ้งประชาชน พร้อมทั้งแจ้งหน่วยควบคุมโรคทันทีภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อจะได้ควบคุมโรคได้ทันถ่วงที และจะต้องแจ้งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อลงข้อมูลในระบบ ทั้งนี้ในประกาศของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพฉบับใหม่ ระบุว่า คลินิกแล็บทุกแห่ง ต้องมีการทำข้อตกลงสัญญากับสถานพยาบาลเพื่อส่งต่อผู้ป่วยได้ เพื่อจะเป็นหลักประกันให้คนไข้ได้ หากเตียงเต็มก็ต้องเร่งประสานเตียงต่อ แต่หากไม่ได้ก็ต้องรายงานต่อผู้อนุญาตแต่ละพื้นที่
นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า จากการประกาศดังกล่าว ทาง สบส.ได้จัดทีมลงไปสำรวจตรวจเยี่ยม ตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยตรวจคลินิกทั้ง 14 แห่งใน พื้นที่ กทม. โดยพบว่า มีคลินิก 11 แห่งมีคู่สัญญากับสถานพยาบาลแล้ว และอีก 3 แห่ง อยู่ระหว่างการกำลังดำเนินการ เพื่อเป็นหลักประกันให้ประชาชนว่า หากพบเชื้อจะมี รพ.รองรับส่งต่อ สำหรับคลินิกทั้ง 14 แห่งใน กทม.ที่ผ่านการรับรองสามารถเข้าไปดูรายชื่อได้ทางเว็บไซต์ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
นพ.ธเรศ กล่าวถึงประเด็นร้องเรียนกรณีคลินิกแล็บ หรือสถานพยาบาลเอกชน ว่า ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการเสร็จไปแล้ว 12 แห่ง ใน 3 ประเด็นหลัก คือ การไม่ส่งต่อผู้ป่วยโควิดหลังพบเชื้อ ไม่พบรายงานผู้ป่วยในระบบของกรมควบคุมโรค หรือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมีการโฆษณาเรื่องการตรวจโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ ได้สั่งให้แก้ไขปรับปรุง และระงับการกระทำดังกล่าวแล้ว และหากไม่ดำเนินการปรับปรุงก็จะมีการพักใช้ หรือยุติการตรวจโควิด ระงับการโฆษณาต่อไป จนไปถึงการบังคับใช้ทั้งโทษปรับและจำคุกต่อไป อย่างไรก็ตาม หากมีประเด็นร้องเรียนเกี่ยวกับคลินิกหรือสถานพยาบาลเอกชนให้ติดต่อมายังสายด่วนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โทร 1426 ในวันและเวลาราชการ
นพ.ธเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้มีการประสานงานให้ทางอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เดินเคาะประตูบ้าน ตรวจเยี่ยมประชาชนมากขึ้น ขอให้ให้ความร่วมมือ โดย อสม.จะให้คำแนะนำในเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด การลงทะเบียนผ่านไลน์ 'หมอพร้อม'
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage