นัดฟังคำพิพากษา 8 มิ.ย. คดี ‘วรเจตน์ ภาคีรัตน์’ ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ศาลแขวงดุสิตอ่านคำวินิจฉัยศาล รธน.ชี้คำสั่งเรียกขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ม.29 วรรคหนึ่ง
...................................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2564 ที่ศาลแขวงดุสิต ศาลนัดอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คดีหมายเลขดำที่ อ2074/2562 ของศาลแขวงดุสิต และคำวินิจฉัยที่ 30/2563 ของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีที่พนักงานอัยการคดีศาลแขวง 3 (แขวงดุสิต) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการด้านกฎหมาย และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เป็นจำเลย ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 5/2557, 57/2557 (เรียกชื่อให้มารายงานตัว) และประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557, 41/2557 (กำหนดโทษคนไม่มารายงานตัว) กรณีนายวรเจตน์ไม่ไปรายงานตัวต่อ คสช. หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ต่อมาภายหลังโอนคดีจากศาลทหารมาศาลแขวงดุสิต อย่างไรก็ดีจำเลยได้ยื่นคำร้องขอศาลแขวงดุสิตให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เกี่ยวกับประกาศดังกล่าวที่ใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
โดยศาลแขวงดุสิตอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยไว้แล้วตามเรื่องที่ 30/2563 สรุปได้ว่า บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 บัญญัติรับรองสถานะของประกาศและคำสั่งของ คสช. ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย ประกาศ คสช. ทั้งสองฉบับจึงยังมีผลเป็นกฎหมายต่อไปแม้ คสช. จะสิ้นสภาพไปแล้ว และรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (1) บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ซึ่งรวมถึงประกาศ คสช. ทั้งสองฉบับด้วย ขณะที่ประกาศใช้กฎหมายทั้งสองฉบับนี้ เป็นช่วงที่ คสช. กระทำการยึดอำนาจปกครองแผ่นดินสำเร็จ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 มีความต้องการให้ประชาชนอยู่ในความสงบ ไม่ก่อความวุ่นวายและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ จึงจำเป็นต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนบางประการ
อย่างไรก็ดี เมื่อยามที่บ้านเมืองปกติสุข การใช้ชีวิตของปัจเจกบุคคลย่อมแตกต่างไปจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 รัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลไว้ตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง โดยบุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในเวลานั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ฯ ซึ่งเป็นหลักการสากล ทั้งนี้ การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองคุ้มครองไว้ ต้องเป็นไปตามมาตรา 26 ต้องคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรแก่กรณี เพื่อมิให้ตรากฎหมายขึ้นบังคับใช้แก่ประชาชนตามอำเภอใจ
ประกาศ คสช. ทั้งสองฉบับ เป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล การกำหนดโทษทางอาญาจึงต้องพิจารณาว่ามีความเหมาะสม เมื่อเทียบเคียงกับกรณีการนำตัวบุคคลที่ยังมิได้กระทำความผิด เพียงแต่มีเหตุอันควรสงสัย มีการกำหนดวิธีการเพื่อความปลอดภัย ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 46 แทนการกำหนดโทษทางอาญา นอกจากนี้ เมื่อเทียบเคียงการไม่รายงานตัวฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. กับกรณีบุคคลขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามกฎหมายอื่น การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศ คสช. ยังมิใช่การกระทำอันมีผลร้ายแรง ถึงขนาดต้องกำหนดโทษทางอาญาให้จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อีกทั้งยังมีมาตรการทางกฎหมายอื่น ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 วรรคหนึ่ง ที่เป็นมาตรการลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงาน โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 5 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อันเป็นความผิดลหุโทษที่เหมาะสม จำเป็นและพอสมควรแก่กรณี ดังนั้น ประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557, 41/2557 ไม่มีความเหมาะสมกับลักษณะของการกระทำผิด ไม่เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรแก่กรณี จำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และขัดต่อหลักนิติธรรม จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26
นอกจากนี้ การออกคำสั่งเรียกให้มารายงานตัวก่อนแล้วออกประกาศกำหนดโทษของการกระทำดังกล่าวในภายหลัง เป็นการกำหนดโทษทางอาญาให้มีผลย้อนหลัง ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง เมื่อวินิจฉัยว่าประกาศ คสช. ทั้งสองฉบับขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ประกาศทั้งสองฉบับเป็นอันใช้บังคับมิได้ วินิจฉัยว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557, 41/2557 เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และเฉพาะประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง ด้วย
ทั้งนี้ภายหลังศาลแขวงดุสิต อ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้อัยการ จำเลย และทนายความจำเลยฟังแล้ว ศาลสอบถามคู่ความทั้ง 2 ฝ่ายว่า ประสงค์จะแถลงข้อเท็จจริงหรือทำคำแถลงการณ์เพิ่มเติมอีกหรือไม่ โดยคู่ความทั้ง 2 ฝ่าย แถลงว่า ไม่มีข้อเท็จจริงใดหรือคำแถลงใดที่จะแถลงต่อศาลเพิ่มเติม
ศาลจึงเห็นควรกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 8 มิ.ย. 2564 เวลา 09.00 น. เหตุที่นัดเกิน 3 วัน เนื่องจากต้องส่งร่างคำพิพากษาไปสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 ตรวจก่อนอ่าน ตามระเบียบ
ขณะที่นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของนายวรเจตน์ กล่าวภายหลังศาลนัดฟังคำพิพากษาว่า คำวินิจฉัยนี้ส่งผลให้บุคคลที่ถูกคำสั่งเรียกรายงานตัวที่ยังไม่มารายงาน และเกรงกลัวความผิดจากการขัดคำสั่งเรียกรายงานตัว สามารถกลับเข้ามาในประเทศได้ แต่ต้องไม่มีความผิดฐานอื่น
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายวรเจตน์ จาก https://www.naewna.com/
อ่านประกอบ : ‘วรเจตน์’ชนะ! ศาล รธน.ชี้คำสั่ง คสช. 29/57-41/57 เรียกคนรายงานตัวขัดรัฐธรรมนูญ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage