สธ.เผยมีผู้ป่วยตกค้าง 2,554 ราย แอดมิทแล้ว จำนวน 1,039 ราย ส่วนที่เหลือเร่งทยอยรับผู้ป่วย ยืนยันทุกคนจะได้รับการรักษา พร้อมเตรียมสร้างโรงพยาบาลแรกรับ คัดกรองผู้ป่วยตามความหนักเบาของอาการ หากมีอาการน้อย จะมีเตียงรองรับ 500 เตียง ซึ่งคาดว่าจะจัดตั้งได้สำเร็จสัปดาห์หน้า
………………………………......
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2564 นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการบริหารจัดการเตียงรูปแบบใหม่สำหรับผู้ป่วยตกค้างว่า จากการตรวจสอบ 4 ฐานข้อมูล ได้แก่ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) สายด่วน 1668 สายด่วน 1330 และสบายดีบอต คาดการณ์มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อในระบบ ที่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าได้โรงพยาบาลแล้ว จำนวน 2,554 ราย
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวอีกว่า จากการเริ่มปฏิบัติการลดผู้ป่วยตกค้างเมื่อวันที่ 24 เม.ย.2564 เป็นต้นมา พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยได้รับแอดมิทแล้ว 1,039 ราย และรอเข้าแอดมิทวันนี้ 814 ราย โดยในจำนวนนี้กว่า 400 ราย จะนำเข้าสู่กระบวนการคัดกรองในกทม. 3 จุด ได้แก่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน และฮอสพิเทลของกรมการแพทย์ ซึ่ง 3 จุดคัดกรองนี้ จะทำหน้าที่คัดกรองผู้ป่วยเป็นสีเขียว เหลือง และแดง โดยจะคัดกรองผู้ป่วยสีเขียว เข้าสู่โรงพยาบาลสนาม หรือฮอสพิเทล ส่วนผู้ป่วยสีเหลืองและแดงจะถูกคัดกรองเข้าสู่โรงพยาบาล และอีกประมาณ 400 รายจะเข้าสู่โรงพยาบาลตามนัดหมายของแพทย์ ทั้งนี้มีผู้ปฏิเสธ 80 ราย ติดต่อไม่ได้ 116 ราย และอื่นๆ ได้แก่ ผลตรวจแล็บเป็นลบ กักตัวครบ 14 วันแล้ว เคสซ้ำ จำนวน 505 ราย
"สรุปว่า วันนี้มีผู้ป่วยประมาณ 400 ราย ที่เข้าสู่กระบวนการคัดกรองของกรุงเทพมหานครทั้ง 3 จุดแล้ว อีกประมาณ 400 ราย จะเข้าสู่โรงพยาบาลตามนัดหมายของคุณหมอแล้ว ดังนั้นจะไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงแล้วว่า ประชาชนที่เคยบอกว่าเมื่อ 3-4 วันที่ผ่านมาไม่มีเตียงนั้น จะได้เข้ารับการติดต่อเข้าสู่โรงพยาบาลทั้งหมด" นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ หากประชาชนที่ต้องการเตียง ที่ยังไม่ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ภายในวันจันทร์ที่ 26 เม.ย.2564 ขอให้ติดต่อ 1668 และระหว่างการรอเตียงอยู่ที่บ้าน ขอให้ผู้ป่วยติดเชื้อปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าจะสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ รักษาระยะห่าง และไม่ควรออกไปยังพื้นที่สาธารณะ แต่หากมีภาวะฉุกเฉินให้โทร 1669 จะมีรถพยาบาลไปรับเข้าสู่โรงพยาบาลก่อน
อย่างไรก็ตาม นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวรายงานว่า ในวันนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข จะไปตรวจสนามกีฬาอินดอร์สเตเดียมหัวหมาก เพื่อตรวจดูสถานที่ในการตั้งโรงพยาบาลแรกรับ หรือสถานที่ที่ผู้ป่วยติดเชื้อทุกรายที่อยู่ระหว่างการรอเตียง สามารถไปคัดกรองความหนักเบาของอาการป่วยได้ ซึ่งคาดว่าจะมีเตียง 500 เตียงในการรองรับผู้ป่วยที่มีภาวะสีเขียว หรือสีเหลืองอ่อนๆที่ไปใช้บริการ และภายในสัปดาห์หน้าน่าจะมีการจัดตั้งได้สำเร็จ
@ สธ.ชงขยายวันกักตัวผู้เดินทางเข้าไทย เพิ่มเป็น 14 วัน เสนอศบค.เร็วๆนี้
ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึง สถานการณ์การระบาดทั่วโลก พบว่า ผู้ป่วยสูงสุดในโลก ทำสถิติต่อวันอยู่ที่ประมาณ 300,000 คนต่อวัน และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะชะลอตัวลง กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีข้อเสนอไปยังศบค.ชุดเล็ก และมีการประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศว่า ช่วงนี้ขอให้ชะลอการออกหนังสือเดินทางเข้าประเทศ โดยเฉพาะกับคนที่เดินทางมาจากอินเดียให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แต่ในสายการบินเรายังไม่มีการชะลอให้สายการบินเข้ามาเนื่องจากยังมีคนไทยต้องการเข้ามา รวมถึงจะพยายามไม่ให้กระทบกับการส่งสินค้า หรือเวชภัณฑ์ต่าง ๆ เนื่องจากอินเดียเป็นแหล่งเวชภัณฑ์รายใหญ่ที่ไทยอาจจำเป็นต้องใช้
อย่างไรก็ตาม คนที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ต้องบอกว่าการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของไวรัสมีตลอด ฉะนั้นในที่ประชุมของกระทรวงสาธารณสุข มีมติให้ขยายเวลาในการกักตัวของผู้เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย จากเดิมที่ตั้งไว้ 10 วัน บางราย 14 วัน บางรายขั้นต่ำ 7 วัน ในช่วงนี้จะเพิ่มเป็น 14 วัน และประการต่อมา คนที่อยู่ในสถานกักกันของรัฐ ห้ามออกจากนอกห้องพักเด็ดขาด เป็นมาตรการชั่วคราวจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือสถานการณ์จะมีความชัดเจนขึ้น ซึ่งทั้งหมดจะนำเข้าสู่ศบค.ชุดเล็กต่อไป
“จากเดิมที่ศบค.มีกำหนดกักตัว 10 วัน จะเพิ่มเป็น 14 วันเหมือนเดิม และมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 3 ครั้ง จนกว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลง ส่วนที่เรามีมาตรการผ่อนคลายสำหรับคนกักตัวที่มีผลตรวจแล็บเป็นลบ ที่บอกว่าสามารถออกมาข้างนอกได้บ้างแต่มีเงื่อนไขนั้น กรณีนี้ก็ต้องงดก่อน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ถ้าเกิดมีการเปลี่ยนแปลงก็จะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง” นพ.โอภาส กล่าว
@ โต้ข่าวเท็จเศรษฐีอินเดียแห่เช้าเครื่องบินเหมาลำหนีโควิด มีเพียงคนไทยขอกลับบ้าน
นพ.โอภาส กล่าวถึงกระแสข่าวที่มีการรายงานว่า มีเศรษฐีอินเดียแห่เช่าเครื่องบินเหมาลำหนีโควิดเข้าไทยว่า ข่าวลือนี้ไม่เป็นความจริง จากการตรวจสอบไม่มีเครื่องบินจากอินเดียมาลงที่สนามบินนานาชาติใดๆ ไม่ว่าจะสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินภูเก็ต หรือสนามบินเชียงใหม่ แต่มีรายงานว่ามีคนไทยที่อาศัยในอินเดียจะขอกลับบ้าน ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะมาในต้นเดือนพ.ค. เนื่องจากสถานการณ์การ ระบาดที่อินเดียค่อนข้างน่าเป็นห่วง ประชาชนชาวไทยที่อยู่ที่อินเดียจึงอยากกลับบ้าน
@ หวั่นระบาดหนัก เลื่อนฝึกทหารใหม่ไปเดือน ก.ค.2564
นอกจากนี้ นพ.โอภาส กล่าวถึงกรณีที่จะมีการฝึกทหารใหม่ปี 2564 ในวันที่ 1 พ.ค.2564 ว่า เมื่อช่วงเช้ากระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมร่วมกับกระทรวงกลาโหม มีมติเห็นชอบว่าสถานการณ์การระบาดยังน่าเป็นห่วง อีกทั้งกลุ่มทหารใหม่ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่จะเกิดขึ้นในคนหนุ่มสาวที่มีกิจกรรมเยอะ ซึ่งการนำคนที่มีความเสี่ยงมาอยู่รวมกัน อยู่อย่างหนาแน่นในค่ายทหาร ถือเป็นความเสี่ยงสูง นอกจากนี้การรักษายังต้องใช้บุคลากรในการรักษาจำนวนมาก และอาจทำให้สถานการณ์แย่ลงได้ จึงเห็นว่าควรจะเลื่อนไปสัก 2 เดือน โดยไปเริ่มในเดือน ก.ค.2564 น่าจะเป็นช่วงที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม จะมีวัคซีนเข้ามาอีกครั้งปลายเดือน มิ.ย.2564 ถ้าสามารถฉีดให้ทหารใหม่ได้ก่อนการไปฝึก ก็จะมั่นใจได้ว่าการแพร่ระบาดน่าจะมีน้อยและปลอดภัย ซึ่งจะมีการหารือกันอีกครั้งหนึ่ง
@ เตรียมกระจายวัคซีนซิโนแวค 5 แสนโดส คาดอีก 3 สัปดาห์ บุคลากรแพทย์จะได้รับครบตามเป้าหมาย
ส่วนความคืบหน้าในการกระจายวัคซีนนั้น นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้ภาพรวมใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ฉีดวัคซีนแล้ว 90% และภายในสัปดาห์หน้าจะเก็บตกฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนและคลินิก ส่วนการนำเข้าวัคซีนซิโนแวคล็อตที่ 4 จำนวน 5 แสนโดสนั้น หากผ่านกระบวนการตรวจสอบคุณภาพและรุ่นการผลิต จะแจกจ่ายให้บุคลากรการแพทย์ภายใน 3 สัปดาห์ให้ครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งหมด นอกจากนี้จะมีข่าวดีเดือน พ.ค.2564 ไทยจะได้รับวัคซีนเพิ่มอีก 1 ล้านโดส
@ ยันฟาวิพิราเวียร์เพียงพอ สั่งเพิ่มอีก 2 - 3 ล้านเม็ด
นพ.โอภาส กล่าวยืนยันว่า ยารักษาโควิดหรือยาฟาวิพิราเวียร์ มีเพียงพอสำหรับประชาชนทุกคนแน่นอน โดยจากการตรวจสต๊อก พบมีกว่า 100,000 เม็ด ขณะที่มีการใช้ 10,000 -20,000 เม็ดต่อวัน ทั้งนี้ช่วงดึกจะมาอีก 2 ล้านเม็ด และนายอนุทินได้สั่งให้จองเพิ่มอีก 2-3 ล้านเม็ด เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโควิดด้วย
@ ขอปชช.ร่วมมือยุติการกลายพันธุ์ไวรัส คุมเข้มมาตรการ-รณรงค์ฉีดวัคซีน
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการระบาดภายในประเทศว่า การระบาดรอบนี้ 98% เป็นสายพันธุ์อังกฤษ ส่วนสายพันธุ์ที่พบใน จ.สมุทรสาคร แทบไม่พบอีกแล้ว ขณะที่สายพันธุ์เบงกอล หรือสายพันธุ์อินเดีย ยังไม่พบในประเทศไทย และยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าทำให้การติดเชื้อง่ายขึ้น แต่ในทางทฤษฎีการกลายพันธุ์ที่พบใน 2 ตำแหน่ง จะทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลง
ทั้งนี้ การติดเชื้อจำนวนมาก อาจทำให้เกิดการกลายพันธุ์ได้ ดังนั้นเพื่อยับยั้งการกลายพันธุ์เพิ่ม ทำได้ด้วยการฉีดวัคซีนให้เร็ว พร้อมยืนยันว่าวัคซีนซิโนแวคทั่วโลกใช้ไปแล้วเกือบ 100 ล้านโดส เมื่อฉีดครบ 2 เข็ม ตรวจภูมิต้านทานจะพบภูมิคุ้มกัน 98% ซึ่งมีภูมิคุ้มกันสูงเทียบเท่าคนติดเชื้อโควิด จึงกล้าพูดได้ว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาด
อย่างไรก็ตาม วิกฤตครั้งนี้ใหญ่โตพอสมควร จำเป็นที่คนไทยต้องร่วมมือกันทั้งประเทศ สิ่งสำคัญที่สุดคือระเบียบวินัย ขอให้เชื่อในกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่วางไว้ เมื่อถึงคิวต้องฉีดวัคซีน ขอให้ช่วยกันไปรับการฉีดวัคซีน พร้อมขอให้คลายความกังวลระหว่างฉีดวัคซีน เนื่องจากผลการวิจัยผู้ที่มาฉีดวัคซีนโดยส่วนใหญ่ เมื่อวัดความดันโลหิตจะพบความดันสูงกว่าปกติ ซึ่งอาจส่งผลต่อกระบวนการให้วัคซีนของแพทย์ได้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/