สายด่วน1668 วอนเห็นใจสายล้น เปิดเพิ่ม 20 คู่สาย เร่งระดมอาสาสมัครแพทย์-พยาบาลทั่วประเทศพูดคุย ประเมินอาการผู้ป่วย เพื่อจัดหาเตียง
........................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2564 นพ.สกานต์ บุนนาค ผอ.สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวชี้แจงว่า กรณีมีคนโทรเข้าแล้วสายว่าง แต่ไม่มีคนรับสายนั้น เดิมสายด่วน 1668 เป็นสายด่วนของโรงพยาบาลทรวงอก ที่ได้ถูกผันเปลี่ยนเพื่อช่วยการดำเนินงานบริหารจัดสรรเตียงให้กับประชาชนในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิดนี้ ในช่วงแรกนั้น เนื่องจากไม่ได้มีการเตรียมความพร้อม เพื่อรับสายในจำนวนมาก มีการดำเนินงานเพียง 4 คู่สาย และมีผู้รับสายไม่ถึง 10 คนในแต่ละผลัด จึงต้องขออภัยในความล่าช้า เนื่องจากเกิดปัญหาขึ้นจริง
อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้มีการเปิดเพิ่มเป็น 20 คู่สาย เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และรับอาสาสมัครพยาบาลและแพทย์ จากโรงพยาบาลกรมการแพทย์ทั่วประเทศมาช่วยรับสาย พูดคุยกับผู้ป่วยเพื่อจัดหาเตียง ซึ่งต้องใช้เวลาในการสอบถามข้อมูล ตรวจสอบแล็บ 1 คนใช้เวลาเฉลี่ย 15 – 30 นาที ก่อนจะส่งต่อไปให้อีกทีมเพื่อเคลียร์ข้อมูล กรณีพบข้อมูลซ้ำซ้อน และส่งต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการประเมินอาการและแบ่งอาการออกเป็นสีเขียว สีเหลือง สีแดง จากนั้นจะประสานหาเตียงให้ ระหว่างรอจะมีการโทรติดตามอาการ หากเป็นสีเขียวจะโทรวันเว้นวัน สีเหลืองจะติดตามวันละ 2 ครั้ง สีแดงจะโทรทุกๆ 4 ชั่วโมง เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนได้เตียง ถึงจะมีการตัดออกจากระบบ
"ทั้งนี้ แม้จะมีการเพิ่ม 20 คู่สาย แต่ยังมีประชาชนโทรเข้ามาเป็นจำนวนเยอะมาก เมื่อระบบมีสายล้น ระบบจะวนสายโทรศัพท์ไปเรื่อยๆ ประกอบกับการไม่มีการตั้งเสียงรอสายอธิบายว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังปฏิบัติงานเต็มทุกคู่สาย ซึ่งเป็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น จึงเกิดลักษณะเหมือนเสียงรอสาย แต่ไม่มีคนรับ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดเรื่องของการไม่รับสาย" นพ.สกานต์
@ ยันไม่ทิ้งปชช.รอเตียงอีก 442 ราย กรมการแพทย์ยังโทรถามอาการต่อเนื่อง
นพ.สกานต์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสายด่วน 1668 รับสายแล้ว 3,477 ครั้ง โทรเยี่ยมติดตามอาการ 3,277 ครั้ง โดยมีผู้ติดเชื้อได้รับเตียงแล้ว 1,733 ราย และยังรอเตียงอีก 442 ราย ซึ่งกรมการแพทย์ยังมีการโทรสอบถามอาการอย่างต่อเนื่อง จนกว่าผู้ป่วยจะได้เตียง
นพ.สกานต์ กล่าวอีกว่า เดิมสายด่วนทุกสายการทำงานไม่ได้ประสานกัน แต่ขณะนี้สายด่วนทุกสาย ได้มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกันเรียบร้อยแล้ว เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตามขณะนี้ทุกสายด่วนทุกสายจะโทรเข้ายากมาก ซึ่งมีอีก 1 ช่องทางที่ประชาชนสามารถลงทะเบียนจัดหาเตียงผ่านไลน์สบายดีบอตได้ เมื่อข้อมูลเข้าระบบสบายดีบอต จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปอย่างแน่นอน
"ดังนั้นขอให้ประชาชนคลายความกังวล โทรเพียงสายด่วนเดียว หรือลงทะเบียนผ่านสบายดีบอต ช่องทางใดช่องทางหนึ่ง เจ้าหน้าที่จะมีการประสานกันในการจัดหาเตียงให้ และขอให้เชื่อมั่นว่าทุกคนจะได้รับการจัดสรรเตียงแน่นอน ซึ่งการลงทะเบียนผ่านสบายดีบอตนั้น จะมีการตอบกลับภายในไม่เกิน 24 ชั่วโมง แต่ถ้าหากฉุกเฉินจริงๆ ขอให้โทรเข้า 1669" นพ.สกานต์ กล่าว
นพ.สกานต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับผู้ที่มีผลตรวจติดเชื้อ ประสานขอเตียง ต้องมีผลแล็บที่เป็นมาตรฐานติดตัวด้วยวิธี Swab หรือ PCR เท่านั้น เนื่องจากหลายคนไปตรวจจากแล็บเอกชน โทรแจ้งผลโดยไม่มีเอกสารผลตรวจยืนยัน ซึ่งกรณีตรวจเลือดหรือตรวจด้วยชุด rapid test ใช้ไม่ได้เนื่องจากอาจเป็นผลบวกลวง หากไม่ได้ติดเชื้อจริงเมื่อส่งตัวถึงโรงพยาบาลจะทำให้เสี่ยงติดเชื้อ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้เจ้าหน้าที่จะไม่กล้าจัดสรรหาเตียงให้ หากไม่มีผลตรวจยืนยัน ยกเว้นกรณีฉุกเฉินที่เจ้าหน้าที่จะรับตัวเข้ามาก่อน แล้วตรวจหาเชื้ออีกครั้ง
@ โต้ข่าวเท็จบุคลากรแพทย์ลำปางพบอาการคล้ายอัมพฤกษ์กว่า 40 ราย ยันเดินหน้าฉีดวัคซีนซิโนแวคต่อ
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีการพบอาการข้างเคียงไม่พึงประสงค์ หลังฉีดวัคซีนในโรงพยาบาลลำปาง 40 รายว่า ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง
เนื่องจากล่าสุดจากการตรวจสอบไปยังจังหวัดลำปาง ได้ทราบข้อเท็จจริง ระบุว่า มีเพียง 1 ราย เท่านั้นที่มีอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนรุนแรง ส่วนที่เหลือมีอาการแค่เล็กน้อย เช่น ชาที่ปลายมือ ปลายเท้า รู้สึกเมื่อยอ่อนเพลีย
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ยืนยันว่าขณะนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง และโรงพยาบาลต่างๆ ยังมีการฉีดวัคซีนโควิด ของซิโนแวคต่อ แต่ที่บอกว่ามีการหยุดชั่วคราวเพื่อตรวจสอบข้อมูลให้แน่ชัดก่อน ซึ่งหลังจากที่ทางส่วนกลางแจ้งไปว่าสามารถฉีดต่อไปได้ ไม่มีปัญหา จึงได้เริ่มดำเนินการฉีดต่อ อย่างไรก็ตามจากการติดตาม ยังไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติอะไรเกิดขึ้น ขณะนี้การฉีดวัคซีนยังเดินหน้าต่อไป ควบคู่กับการติดตามเฝ้าระวังใกล้ชิด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าวัคซีนที่ทำการฉีดในขณะนี้มีความปลอดภัย
@ สธ.สั่งจัดประเมินสุขภาพจิตก่อนฉีด หลังมีการตั้งข้อสังเกตอาการไม่พึงประสงค์-โยงความเครีด
นอกจากนี้ นพ.โอภาส กล่าวชี้แจงอีกว่า คำว่าเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีน หรือ AEFI เหตุการณ์นี้ไม่ได้แปลว่า แพ้วัคซีน ไม่ได้เกิดจากผลข้างเคียงจากวัคซีน แต่เป็นระบบเฝ้าระวัง ที่ใช้ติดตามหลังมีการใช้วัคซีนทุกชนิด โดยเฉพาะวัคซีนโควิด ที่เป็นเรื่องใหม่ จึงต้องมีระบบติดตาม ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 อย่าง กรณีเหตุการณ์ไม่รุนแรง เช่น เจ็บบริเวณฉีด บวมเล็กน้อย และกรณีเหตุการณ์รุนแรง เช่น มีอาการทางสมอง ผื่นขึ้นทั้งตัว หมดสติ ชัก ต้องเข้าโรงพยาบาล โดยเหตุการณ์ที่รุนแรงต้องนำเข้าสู่คณะกรรมการเพื่อพิจารณาทุกครั้ง ซึ่งกรรมการทั้งหมดล้วนทำงานเป็นอิสระ ไม่มีใครบังคับ โดยประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญวัคซีน ผู้เชี่ยวชาญโรคต่างๆ อย่างโรคทางสมอง ก็จะมีผู้เชี่ยวชาญทางสมองมาพิจารณาทั้งหมด
ทั้งนี้ คณะกรรมการจะวินิจฉัย 3 อย่าง หลักๆ คือ 1.อาการไม่เกี่ยวข้องกันวัคซีน 2.น่าจะเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน และ3.เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน ซึ่งในกรณีพบอาการคล้ายโรคหลอดเลือดในสมองหลังฉีดวัคซีนของจังหวัดระยองน่าจะเกี่ยวข้อง หรือเกี่ยวข้องกับวัคซีนจะพิจารณาแบ่งเป็นให้ฉีดวัคซีนต่อไป เนื่องจากหลักฐานข้อมูลชัดว่า มีประโยชน์มากกว่า แต่หากเหตุการณ์รุนแรงมาก และจะเป็นอันตราย โทษมีมากกว่าฉีดต่อ จะให้หยุดฉีดถาวร และอีกกรณี คือ หากมีเหตุการณ์ที่ไม่แน่ใจ สงสัย จะให้หยุดฉีดชั่วคราวก่อนเพื่อตรวจสอบสาเหตุ เป็นต้น
“ส่วนกรณีวัคซีนโควิดที่จังหวัดระยอง กรรมการพิจารณาว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด แต่ทุกรายอาการกลับมาปกติ ไม่มีรอยโรคใดๆปรากฏ แต่ต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด” นพ.โอภาส กล่าว
นอกจากนี้ มีคำหนึ่งที่องค์การอนามัยโลกบัญญัติ คือ Immunization Stress Related Response เป็นปฏิกิริยาที่เกี่ยวข้องกับความเครียดจากการฉีดวัคซีน เนื่องจากการฉีดวัคซีนเป็นเรื่องฝังใจของคน อย่างตอนเด็ก บางคนเมื่อรู้ตัวว่าจะต้องฉีดก็จะมือเท้าเย็น ทั้งที่ยังไม่ฉีด โดยเฉพาะการฉีดในคนหมู่มากก็สามารถเกิดขึ้นได้ จึงบัญญัติศัพท์นี้ขึ้นมา
ทั้วนี้ ส่วนที่เกิดขึ้นในหลายแสนคน และเกิดอาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมอง 6 คนนั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุไม่มาก เป็นกับวัคซีนหลายล็อต หรือหลายรุ่นการผลิต แสดงว่าไม่ได้มาจากกระบวนการผลิตครั้งใดครั้งหนึ่ง เกิดเร็วหลังฉีดวัคซีนบางคน 5 นาทียังเกิดได้ ซึ่งไม่ใช่จากเชื้อโรค เนื่องจากเชื้อโรคจะต้องมีระยะเวลาฟักตัว ส่วนการมีอาการระบบประสาท อาการจะหายเอง กลับมาเป็นปกติได้ บางรายได้รับรักษา บางรายไม่ต้อง ที่สำคัญภาคถ่ายเอ็กซเรย์ MRI ไม่พบความผิดปกติทางกายภาพ
“ในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ.เป็นประธาน สรุปให้ฉีดวัคซีนต่อไป แต่ต้องเคร่งครัดการฉีดวัคซีนตามมาตรฐาน ส่วนบางคนสังเกตว่า อาจเกี่ยวกับความเครียด หรือมีปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่ ก็แนะนำให้นำการประเมินสุขภาพจิตมาประกอบในการฉีดวัคซีน” นพ.โอภาส กล่าว
@ เปิด 3 แนวทางจัดหาวัคซีนเพิ่ม 35 ล้านโดส
สำหรับข้อสรุปจากคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโควิด ที่ได้มีการร่วมประชุมหารือกับนายกรัฐมนตรี ทั้งภาครัฐและเอกชนเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา ถึงการจัดหาวัคซีน 35 ล้านโดสนั้น นพ.โอภาส กล่าวว่า เป็นการจัดหาเพิ่มเติ่มจากที่มีอยู่ 65 ล้านโดส เพื่อให้ครอบคลุม แผนการฉีดประชากรในประเทศ
สรุปได้ 3 แนวทาง คือ
1. ให้ภาครัฐ โดยองค์การเภสัชกรรมไปจัดหาจัดซื้อเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้มีความก้าวหน้าในการพูดคุยหลายบริษัท
2. ทางภาคเอกชนโดยหอการค้าไทย ยินดีที่จะบริจาคเงินให้รัฐบาลไปซื้อวัคซีนมาฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมาย เช่น พนักงานในโรงงาน อีก 10 ล้านโดส
3. ทางโรงพยาบาลเอกชน เสนอจะขอจัดซื้อวัคซีนโควิดเอง เพื่อนำไปฉีดให้บริการกับประชาชนที่มาเข้ารับบริการในสถานพยาบาลเอกชน
แต่ทั้งนี้การฉีดวัคซีน จะอยู่ภายใต้กฎกติกาเดียวกันที่กรมควบคุมโรคดูแล และระบบการทำงานจะต้องมีการเชื่อมต่อกัน เช่นการออกหนังสือรับรองหลังจากการรับวัคซีน รวมถึงระบบติดตามอาการไม่พึงประสงค์หลังจากการฉีดวัคซีน
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage