ผบ.ตร.ลงนามคำสั่งบันทึกภาพ-เสียง ตรวจค้น-จับกุม-สอบสวนคดีอาญา ให้หัวหน้าชุดมอบหมาย พนง.สอบสวนเป็นผู้ดำเนินการ แบ่งออก 6 ฐานความผิดอาชญากรรมร้ายแรง ทำลายได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุด-ขาดอายุความ หรือถ้าไม่สำคัญต้องรอให้ครบวงรอบ 5 ปี
..................................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ลงนามในคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ที่ 178/2564 เรื่อง การบันทึกภาพและเสียงการตรวจค้น จับกุม และการสอบสวนคดีอาญา โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา
ด้วย ตร.เห็นสมควรกำหนดแนวทางปฏิบัติในการบันทึกภาพและเสียง การตรวจค้น จับกุม และการสอบสวนคดีอาญา เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม กำหนดให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ และพนักงานสอบสวน จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (4) แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และแก้ไขเพิ่มเติมตามคำสั่งหัวหน้า คสช. เมื่อปี 2559 ออกคำสั่งนี้
คำสั่งดังกล่าวมีสาระสำคัญ เช่น ส่วนที่ 1 การบันทึกภาพและเสียงการตรวจค้นคดีอาญา ข้อ 3 การตรวจค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิดหรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด ให้ตำรวจผู้ตรวจค้นบันทึกภาพและเสียง โดยใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ทางราชการจัดหาให้ หรือสิ่งอื่นใดที่สามารถบันทึภาพและเสียงได้ เว้นแต่มีเหตุอันมิอาจดำเนินการได้ ให้บันทึกเหตุแหงการนั้นไว้ในบันทึกการตรวจค้นด้วย
ข้อ 4 การบันทึกภาพและเสียงการตรวจค้นในที่รโหฐาน แบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1.กรณีมีหมายค้นหรือคำสั่งศาล ให้หัวหน้าชุดตรวจค้นมอบหมายตำรวจผู้ร่วมตรวจค้นผู้ใดผู้หนึ่งรับผิดชอบในการบันทึกภาพและเสียง เว้นแต่มิอาจดำเนินการได้ ให้บันทึกเหตุแห่งการนั้นไว้ในบันทึกการตรวจค้น 2.กรณีเข้าเหตุยกเว้นการค้นโดยไม่มีหมายค้นหรือคำสั่งศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายอื่น หากสามารถดำเนินการบันทึกภาพและเสียงในขณะตรวจค้นได้ ให้ดำเนินการตามข้อกรณีที่ 1. โดยกรณีข้างต้นใช้ข้อความเดียวกับกรณีการจับกุมคดีอาญาในที่สาธารณะ และในที่รโหฐานด้วย
ส่วนที่ 3 การบันทึกภาพและเสียงการสอบสวนคดีอาญา แบ่งเป็น 6 กรณี ได้แก่ คดีความผิดต่อชีวิตหรือ่างกาย โดยมีผู้ถึงแก่ความตาย หรือได้รับอันตรายสาหัส คดีความผิดฐานชิงทรัพย์และมีผู้ถึงแก่ความตาย หรือได้รับอันตรายสาหัส คดีความผิดฐานปล้นทรัพย์ คดีที่มีความสำคัญ หรือเป็นที่สนใจของประชาชน เช่น คดีเรียกค่าไถ่ คดีที่ผู้กระทำผิดมีแผนประทุษกรรมเป็นที่น่าสนใจ หรือคดีโจรกรรมรถยนต์ที่ใช้วิธีการพิเศษ เป็นต้น คดีที่ไม่ปรากฏหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ หรือไม่อาจใช้วิธีการทางนิติวิทยาศาสตร์ในการแสวงหาพยานหลักฐานอื่นใดได้ นอกจากคำรับสารภาพของผู้ต้องหา คดีที่ผู้กระทำความผิดหรือผู้ต้องหาให้การเป็นประโยชน์อันเป็นข้อมูลสำคัญต่อการดำเนินคดีกับผู้บงการหรือตัวการสำคัญหรือพิสูจน์ความผิดของผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่นในข้อหาความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป
ส่วนการจัดเก็บนั้น ให้จัดเก็บแบ่งไว้ 2 ชุด นำไปประกอบสำนวนส่งให้พนักงานอัยการ 1 ชุด และเก็บไว้กับสำเนาการสอบสวน 1 ชุด โดยให้มีการผนึกสิ่งบันทึกภาพและเสียงดังกล่าวเพื่อป้องมิให้มีการทำลาย และห้ามมิให้ทำการเผยแพร่สิ่งบันทึกภาพและเสียง เว้นแต่เพื่อการสืบสวนและการสอบสวนคดีอาญา
ส่วนระยะเวลาในการรักษาหรือทำลายนั้น ให้เก็บรักษาไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือคดีขาดอายุความ หรือหากสิ่งบันทึกภาพและเสียงดังกล่าวไม่มีความจำเป็นต้องใช้เพื่อประกอบการสืบสวน และการอสบสวนคดีอาญา ให้เก็บรักษาไว้เป็นระยะเวลา 5 ปี ตามรอบปฏิทิน (ดูเอกสารประกอบ)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/