สธ. พบผู้ป่วย 74 ราย ปฏิเสธเข้ารักษาโควิดในโรงพยาบาล พร้อมยกเคส 'ค่อม ชวนชื่น' แสดงอาการน้อย แต่ตอนนี้เข้าไอซียู ย้ำผู้ป่วยรอเตียงให้ 'แยกตัว-หมั่นล้างมือ-ใส่หน้ากาก' ส่วนกรณีแม่ติดโควิดยังให้นมบุตรได้ตามปกติ
...................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2564 นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวถึงการบริหารจัดการเตียงในสถานการณ์โควิดปัจจุบันว่า เจ้าหน้าที่กำลังเร่งนำผู้ป่วยเข้าระบบ โดยพบว่ามีผู้ป่วยติดต่อประสานขอเตียง 1,204 คน รับเข้าโรงพยาบาลแล้ว 627 คน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยจากการตรวจหาเชื้อทั้งแล็บ และในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเกณฑ์การแบ่งดูแลผู้ป่วยนั้น คัดแยกตามความหนักเบาของอาการ โดยจะให้ผู้ป่วยมีอาการน้อย ไม่รุนแรง หรือ ผู้ป่วยสีเขียว รับการรักษาในโรงพยาบาลสนามและฮอสพิเทล ส่วนผู้ป่วยอาการในระดับกลาง หรือผู้ป่วยสีเหลือง และผู้ป่วยมีอาการรุนแรง หรือผู้ป่วยสีแดง ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งเมื่อแยกผู้ป่วยออกจำแนกตามสี 148 คน พบผู้ป่วยสีเขียว 74 คน หรือร้อยละ 50 ปฎิเสธเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
"การจัดการเตียงที่ติดต่อไม่ได้ 74 ราย แต่ขอย้ำว่าเตียงยังมีว่างอยู่ แต่ 74 รายอาจมีความต้องการไม่ตรงกับสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขจัดให้ วันนี้จึงอยากขอความร่วมมือว่า หลักการของกระทรวงสาธารณสุขวันนี้ ขอย้ำว่าผู้ติดเชื้อทุกคนจะต้องนำเข้าสู่การรักษาทุกกรณีตามเกณฑ์เขียว เหลือง แดง เหตุผลที่จำเป็นต้องนำเข้าสู่ระบบ เพราะเราเป็นห่วงสุขภาพทุกคน ไม่มีใครรับประกันว่า หากท่านดื้อ ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการแล้วนอนอยู่บ้านจะเป็นอย่างไร หากเราไม่อยู่ในระบบการรักษาหรือการติดตามของแพทย์ หากมีอาการขึ้นมาเข้ารับการรักษาไม่ทันท่วงที สิ่งที่จะเกิดขึ้นอาจเกิดปัญหาถึงขั้นเสียชีวิตได้ ระบบจึงวางไว้สำหรับการดูแลผู้ป่วยทุกคน เราจึงขอร้อง เราเป็นห่วงสุขภาพของท่านและขอให้เข้าสู่ระบบเพื่อดูแลสุขภาพของท่าน" นายสาธิต กล่าว
พร้อมตัวอย่างเคสของ นายอาคม ปรีดากุล หรือ น้าค่อม ชวนชื่น ตอนแรกอาการไม่รุนแรง ยังสามารถพูดคุยโต้ตอบและมีเสียงหัวเราะ แต่วันนี้กลับต้องนอนไอซียู สถานการณ์ขณะนี้ไม่มีใครรับประกันได้ว่า คนที่ติดเชื้อไม่มีอาการจะไม่มีอาการรุนแรง ถ้าผู้ป่วยไม่อยู่ในระบบ อาจรักษาไม่ทัน หรืออาจเกิดปัญหาถึงขั้นเสียชีวิต แม้กฎหมายจะมีอำนาจบังคับใช้ แต่เราอยากขอร้องให้เข้าสู่ระบบ มีสถานพยาบาลให้เลือกหลายรูปแบบ การกักตัวอยู่บ้านอาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อจากขยะติดเชื้อ หรือการไม่เข้มงวดกักตัวได้
"ขณะนี้พบว่าแนวโน้มความรุนแรงของโรค จะพบว่าคนมีอายุน้อย มีปัญหาปอดอักเสบรุนแรง จึงเป็นสาเหตุที่ต้องทำให้พยายามนำกลุ่มคนที่ไม่มีอาการรุนแรงเข้าระบบ เพื่อให้เฝ้าระวัง หากมีอาการรุนแรงเมื่อไหร่จะได้รับการรักษาอย่างทันที พร้อมกันนี้ยังขอความร่วมมือกลุ่มคนที่รับการรักษาในโรงพยาบาลสนามให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อดูอาการ หากมีอาการรุนแรงจะได้รับการรักษาหรือให้ยาทันที" นายสาธิต กล่าว
@ ย้ำผู้ป่วยโควิดรอเตียง 'แยกตัว-หมั่นล้างมือ-ใส่หน้ากาก' ส่วนแม่ป่วย ให้นมบุตรได้
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มีคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรอเตียงรอรถมารับเพื่อเข้าระบบการรักษาพยาบาล โดยหากอยู่บ้านไม่ควรให้คนมาเยี่ยมบ้านและต้องหมั่นล้างมือบ่อย พยายามอยู่ห้องส่วนตัวเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ใส่หน้ากากตลอด และ อยู่ห่างผู้คนอย่างน้อย 1 เมตร ส่วนแม่ติดเชื้อสามารถให้นมลูกได้ เพราะเชื้อไม่แพร่ทางน้ำนม ระหว่างให้นมสวมถอดหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และไม่ควนใช้มือจับหรือสัมผัสใบหน้าลูก
พร้อมเน้นการแยกห้องน้ำ หรือใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย กรณีต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน และให้ทำความสะอาดฆ่าเชื้อทุกครั้งหลังใช้ สิ่งของส่วนตัวห้ามใช้ร่วมกัน ไม่ร่วมรับประทานอาหารกับผู้อื่น ขยะต้องแยกใส่ถุง 2 ชั้น หากระหว่างรอเตียง รอรถมารับพบอาการแย่ลง หอบเหนื่อยมีไข้สูงลอย ให้แจ้งโรงพยาบาลทันที ทั้งนี้การเดินทางมาโรงพยาบาลไม่อยากให้ใช้รถสาธารณะ หรือหากเดินทางมาเองต้องปิดแอร์ เปิดหน้าต่างในการเดินทาง เพื่อลดการแพร่กระจายโรค
@ ฟ้าทะลายโจรป้องกันโควิดแทนวัคซีนไม่ได้! แต่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันได้
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กล่าวยืนยันสมุนไพรฟ้าทะลายโจรไม่สามารถนำมาใช้เพื่อป้องกันการติดโควิดแทนวัคซีนได้ แต่สาร Andrographolide ในสมุนไพรฟ้าทะลายโจร มีฤทธิ์ฆ่าไวรัสและแบคทีเรีย ลดไข้ ลดอาการอักเสบ และส่งเสริมภูมิคุ้มกัน โดยมีผลวิจัยของโรงพยาบาล 9 แห่ง พบว่า การให้สมุนไพรฟ้าทะลายโจร จำนวน 180 มิลลิกรัมให้กับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด ที่มีอาการน้อยจำนวน 304 ราย กินต่อเนื่อง แบ่งเป็น 3 มื้อ เป็นเวลา 5 วัน มีอาการดีขึ้น และไม่มีอาการข้างเคียงรุนแรง
"ฟ้าทะลายโจรมีโอกาสเป็นข้อเสนอทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการเล็กน้อย ซึ่งขณะนี้อยู่ในข้อเสนอการใช้ในการดูแลผู้ป่วยด้วย" พญ.อัมพร กล่าว
อย่างไรก็ตาม การใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีข้อจำกัด ห้ามใช้กับผู้แพ้ยาฟ้าทะลายโจร หญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคตับโรคไต ผู้ป่วยที่มีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต เส้นเลือดหัวใจตีบ ความดันโลหิตสูง และผู้ที่กินยาลดการแข็งตัวของเลือด
พญ.อัมพร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้กำลังมีการศึกษาเกี่ยวกับการเพิ่มภูมิคุ้มกันจากกระชายที่มีผลลัพธ์คล้ายกับฟ้าทะลายโจร ซึ่งคงเป็นเรื่องขององค์ความรู้ในอนาคต
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage/