'อังกฤษ' เผยผลเปรียบเทียบวัคซีน พบแอสตร้าเซนเนก้าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ในกลุ่มผู้สูงอายุได้ดีกว่าวัคซีนไฟเซอร์เมื่อฉีดเข็มแรก เชื่อผลการวิจัยเป็นข้อบ่งชี้ว่าถ้าเว้นระยะห่างระหว่างโดสแรกนานขึ้นถึง 12 สัปดาห์ วัคซีนจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น
...............
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานสถานการณ์วัคซีนโควิด-19 ว่า ที่ประเทศอังกฤษมีการศึกษาและเปรียบเทียบข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 พบว่าวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดนั้นพบว่าสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในระดับเซลล์หรือเซลล์ทีได้ดีกว่าวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์และบริษัทไบโอเอ็นเทค
โดยข้อมูลจากการศึกษาใหม่นี้จัดโดยสมาคมภูมิคุ้มกันวิทยาโคโรนาไวรัสแห่งประเทศอังกฤษร่วมกับมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม พบว่าการตอบสนองของทีเซลล์หรือเซลล์ภูมิคุ้มกันในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเพียงเข็มเดียวนั้นอยู่ที่ 31 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์เพียงเข็มเดียวพบว่าอยู่ที่ 12 เปอร์เซ็นต์ โดยตัวเลขอัตราดังกล่าวนั้นคาดว่าจะพุ่งสูงขึ้นถ้าหากมีการฉีดวัคซีนโดสที่ 2 ซึ่งจะต้องมีการทบทวนรายละเอียดการวิจัยกันต่อไป เพราะก่อนหน้านี้นั้นมีข้อมูลออกมาว่ากลุ่มผู้ที่มีอายุเกิน 80 ปีที่ได้รับวัคซีนของไฟเซอร์ 2 โดสนั้นจะมีภูมิคุ้มเซลล์ทีกันอยู่ที่ 63 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ นพ.พอลล์ มอส ผู้นำสมาคมกล่าวว่าระบบภูมิคุ้มกันในระดับเซลล์นั้นช่วยในการป้องกันโรคที่มีอาการร้ายแรงและอาจจะช่วยทำให้ร่างกายได้จดจำไวรัสในสายพันธุ์อื่นๆ
“เซลล์ทีนั้นจะมีความอ่อนแอ และง่ายต่อการสูญเสียการรับรู้ภูมิคุ้มกันสายพันธุ์ไวรัสมากกว่าระบบสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี ผมคิดว่าคนทั่วไปจะสูญเสียระบบภูมิคุ้มกันไปมากกว่าแอนติบอดีซึ่งจากเดิมที่คนทั่วไปเข้าใจกันว่าจะเสียภูมิคุ้มกันไปในอัตรา 10-20 เปอร์เซ็นต์ แต่ผมเชื่อว่าว่าอัตราการสูญเสียการจดจำภูมิคุ้มกันในระดับเซลล์มีอัตราสูงกว่านั้นมาก” นพ.มอสกล่าว
โดยเอกสารดังกล่าวนั้นแสดงหลักฐานให้เห็นไปในทิศทางว่าการเว้นระยะห่างระหว่างโดสวัคซีน โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างประมาณ 12 สัปดาห์ แทนที่จะเป็น 3-4 สัปดาห์ตามที่หลายประเทศได้ดำเนินการนั้นนั้นน่าจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า และจะส่งผลต่อการดำเนินแผนงานของประเทศอังกฤษในการทำให้ประชาชนได้รับวัคซีนโดสแรกให้ได้มากที่สุดเพื่อที่จะสร้างภูมิคุ้มกันในหมู่ประชากร
สำหรับผลการศึกษานั้นพบว่าการเว้นระยะห่างจากโดสแรกเป็นระยะเวลาประมาณ 5-6 สัปดาห์ พบว่าผู้รับวัคซีนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นกลุ่มทดลองสูงอายุจำนวนกว่า 165 คน จะมีการตอบสนองเพื่อที่จะพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ดีกว่าผู้รับวัคซีนในช่วงอายุที่น้อยกว่า ที่มีแนวโน้มจะพัฒนาสารภูมิคุ้มกันแทน
เรียบเรียงจาก:https://www.ft.com/content/4492746e-6a14-4993-9c21-cd9c9f37eca4
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/