ผู้ป่วยใหม่ 965 ราย ติดเชื้อในประเทศ 956 ราย รวมสะสม 34,575 ราย ส่วนทั่วโลกป่วยสะสม 137.25 ล้านราย แจงติดเชื้อ กักตัวเองที่บ้าน เสี่ยงมีความผิด แจงมีเตียงเพียงพอ วัคซีนมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ป้องกันโรค พร้อมขอความร่วมมือ Work from Home ลดการติดเชื้อ
.....................................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขแถลงสถานการณ์โควิดประจำวันและประเด็นวัคซีน ว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ 965 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 956 ราย เกิดจากระบบเฝ้าระวังและระบบริการฯ 654 ราย เกิดจากการค้นหาเชิงรุกและพบการติดเชื้อในชุมชน 302 ราย และอีก 9 รายเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ รวมผู้ป่วยสะสม 34,575 ราย หายป่วยเพิ่ม 40 ราย
สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อ 965 ราย เป็นผู้ติดเชื้อตามพื้นที่ปัจจัยเสี่ยง แบ่งเป็น สถานบันเทิง 150 ราย แบ่งเป็น กทม. 34 ราย ปริมณฑล 19 ราย และจังหวัดอื่นๆ 97 ราย ตลาด ชุมชน ระบบขนส่ง 14 ราย ประกอบด้วย จังหวัดอื่นๆ 14 ราย ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ 801 ราย ประกอบด้วย กทม. 163 ราย ปริมณฑล 96 ราย และจังหวัดอื่นๆ 542 ราย และอยู่ระหว่างการสอบสวน 965 ราย ประกอบด้วย กทม. 197 ราย ปริมณฑล 115 ราย และจังหวัดอื่นๆ 653 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10 จังหวัดสะสมสูงสุด ระหว่างวันที่ 1-13เม.ย.2564 ประกอบด้วย กทม. 1,625 ราย เชียงใหม่ 880 ราย ชลบุรี 574 ราย สมุทรปราการ 408 ราย นราธิวาส 298 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 266 ราย สมุทรสาคร 165 ราย ปทุมธานี 122 ราย สระแก้ว 105 ราย และนครราชสีมา 84 ราย
ด้านผู้ป่วยรายใหม่ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย ประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ 1 ราย ปากีสถาน 1 ราย อินเดีย 1 ราย เยอรมนี 1 ราย และมาเลเซีย 5 ราย
ทั้งนี้มีผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มอีก 8,480 ราย แบ่งเป็น ผู้ได้รับเข็มที่ 1 จำนวน 6,424 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 2,056 ราย
@รัฐออกนโยบาย Work from Home ถึงสิ้นเดือน เม.ย.
นพ.โอภาส กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาด ว่า คาดการณ์ในอีก 1 เดือนข้างหน้า หากไม่มีการดำเนินมาตรการใดๆ จะมีผู้ติดเชื้อสูงขึ้นถึงวันละกว่า 9,000 ราย แต่ปัจจุบันมีมาตรการปิดสถานบันเทิง และมีมาตรการอื่นๆ ทำใด้ยอดผู้ป่วยเฉลี่ย 900 รายต่อวัน หากทุกคนช่วยกันลดกิจกรรมที่มีการรวมตัวกัน ก็จะสามารถลดได้ เหลือ 500-600 คนต่อวัน อีกทั้งหากมีการทำ Work from Home มากขึ้น จะลดได้เฉลี่ยไม่ถึงวันละ 400 คน และหากมีการล็อกดาวน์เฉพาะจุด ก็จะเหลือการติดเชื้อ วันละ 100 คนต่อวัน ทั้งนี้รัฐบาลได้กำหนดมาตรการให้ภาครัฐ และขอความร่วมมือภาคเอกชนนำมาตรการ Work from Home มาใช้แบบเต็มรูปแบบจนถึงสิ้นเดือน เม.ย.
@ติดเชื้อกักตัวที่บ้านเสี่ยงผิดกฎหมาย
นพ.โอภาส กล่าวชี้แจง กรณีที่เน็ตไอดอลเชิญชวนให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการให้รักษาตัวอยู่ที่บ้าน ว่า ไม่สามารถทำได้ อีกทั้งยังมีความผิดทางกฎหมาย เพราะว่าโรคนี้เป็นโรคติดต่ออันตราย ถ้าเจ้าหน้าที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อสั่งให้มารักษา แล้วไม่มารักษาก็จะมีความผิดตามกฎหมาย และหากติดเชื้อแล้วไม่ติดต่อเจ้าหน้าที่ ก็จะมีความผิดเช่นเดียวกัน เนื่องจากประการที่หนึ่ง ผู้ติดเชื้อถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการ แต่จำเป็นต้องมีแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขดูแลใกล้ชิด เพราะบางกรณีผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ แต่ต่อมามีอาการปอดบวม ลุกลามรุนแรงขยายตัวได้อยางรวดเร็ว ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าวันนี้ไม่มีอาการ ก็ไม่ได้หมายความว่า พรุ่งนี้จะไม่มีอาการแต่อย่างใด
นพ.โอภาส กล่าวว่า ประการที่สอง ผู้ติดเชื้อมีเชื้อแพร่ออกมาทางระบบการหายใจ เวลาไอ จาม หรือพูดคุยกับคนอื่น เพราะฉะนั้นมีความเสี่ยงที่แพร่กระจายเชื้อต่อได้ จึงต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดต่อตัวผู้ติดเชื้อเอง และควบคุมไม่ให้แพร่เชื้อต่อ
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ขอยืนยันว่าประเทศไทยมีเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยเพียงพอ มีอุปกรณ์ต่างๆ มียาเพียงพอ และมีบุคลากรเพียงพอ ไม่เหมือนกับหลายประเทศที่ผู้ติดเชื้อมาก จนดูแลไม่ไหว จึงต้องให้ไปดูแลรักษาตัวที่บ้าน
@วัคซีนมีประสิทธิภาพตามมาตราฐานตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลก
นพ.นคร เปรมศรี. ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึงประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค กรณีที่มีข่าวว่าวัคซีนสามารถการป้องกันโรคได้เพียงร้อยละ 50.4 ว่า มีการติดตามประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของวัคซีนมาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของวัคซีนซิโนแวค มีข้อที่น่าสังเกต คือ การวิจัยระยะ 3 ทำในกลุ่มบุคลากรทางด้านการแพทย์ประเทศบราซิล ที่ขณะนั้นมีการระบาดอย่างรุนแรง และเมื่อเทียบข้อมูล ณ เวลานี้ ที่ผ่านการทดสอบระยะ 3 หลายตัว มีเพียงตัวเดียวเท่านั้นที่ทดสอบในบุคลากรทางด้านการแพทย์ ซึ่งถือเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ
นพ.นคร กล่าวว่า วัคซีนมีการแสดงผลในการป้องกันเชื้อในกลุ่มที่สัมผัสเชื้อบ่อย อยู่ที่ร้อยละ 50.4 ถือว่าผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำขององค์การอนามัยโลก (WHO) และเมื่อพิจารณาถึงประสิทธิผลในการป้องกันในกลุ่มผู้ติดเชื้ออาการปานกลาง อาการรุนแรงมีผล ร้อยละ 83.7 และกลุ่มที่อาการไม่รุนแรงอยู่ที่ ร้อยละ 100
@ทั่วโลกป่วย 588,271 ราย สะสม 137.25 ล้านราย
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกพบผู้ป่วยเพิ่ม 588,271 ราย รวม 137,252,621 ราย อาการหนัก 103,909 ราย หายป่วย 110,433,163 ราย เสียชีวิต 2,958,629 ราย โดยสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยเพิ่ม 56,522 ราย รวม 31,990,143 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 460 ราย รวม 576,298 ราย อินเดีย พบผู้ป่วยเพิ่ม 160,694 ราย รวม 13,686,073 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 880 ราย รวม 171,089 ราย บราซิล พบผู้ป่วยเพิ่ม 38,866 ราย รวม 13,521,409 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1,738 ราย รวม 355,031 ราย ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 112 ของโลก
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage