คลัสเตอร์สถานบันเทิง ติดเชื้อรวม 1,477 ราย กระจาย 55 จังหวัด ประเมิน 5 สถานการณ์ หากไม่คุมเข้มมาตรการคุมโรค อาจพบผู้ป่วยสูงสุดถึง 2.8 หมื่นรายต่อวัน ด้าน'หมอยง' ย้ำวัคซีนไทยมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม แม้เจอสายพันธุ์อังกฤษ
..........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2564 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโควิดภายในประเทศว่า ไทยพบการติดเชื้ออย่างรวดเร็ว แพร่กระจายไปหลายจังหวัด โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีความเชื่อมโยงกับคลัสเตอร์สถานบันเทิง ผับ บาร์ และคาราโอเกะ
จากการสอบสวนโรคผู้ติด เชื้อเชื่อมโยงคลัสเตอร์สถานบันเทิง จำนวน 1,477 ราย พบเป็นชาวไทย 96.41% ชาวญี่ปุ่น 1.62% และอื่นๆ 1.97% ที่มีอายุอยู่ระหว่าง 20-29 ปีมากที่สุด และพบผู้ติดเชื้อกระจายไปยัง 55 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ตาก นครสวรรค์ พิจิตร สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี นนทบุรี ปทุมธานี ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ขอนแก่น มหาสารคาม หนองคาย เลย สกลนคร นครราชสีมา ชัยภูมิ หนองคาย เลย สกลนคร นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร ชุมพร สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ สงขลา และกรุงเทพมหานคร
ขณะเดียวกัน ในช่วง 2 วันที่ผ่านมานี้ จังหวัดเชียงใหม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเร็วมากด้วยเช่นกัน จากการสอบสวนโรคพบว่า มีผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากทม.หรือจังหวัดพื้นที่เสี่ยงอื่นๆ จำนวน 9 ราย ไปใช้บริการสถานบันเทิงหลายแห่งภายในจังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้เกิดการระบาดจำนวนมาก
@ สธ.คาดหากไม่มีมาตรการคุมโรคใน 1 เดือน ผู้ป่วยอาจสูงถึง 2 หมื่นราย
นอกจากนั้น นพ.โสภณ ได้คาดการณ์จำนวนผู้ป่วยใหม่รายวัน ระยะ 1 เดือนข้างหน้า ดังนี้
กรณีที่ 1 หากไม่มีมาตรการใดๆ คาดพบผู้ติดเชื้อต่อวัน ตั้งแต่ 1,308 - 28,678 ราย ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 9,140 ราย
กรณีที่ 2 ปิดสถานบันเทิงในจังหวัดเสี่ยง คาดพบผู้ติดเชื้อต่อวัน ตั้งแต่ 817 - 7,244 ราย ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2,996 ราย
กรณีที่ 3 ปิดสถานบันเทิงในจังหวัดเสี่ยง และเน้นปรับพฤติกรรมส่วนบุคคล คาดพบผู้ติดเชื้อต่อวัน ตั้งแต่ 476 - 1,589 ราย ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 934 ราย
กรณีที่ 4 ปิดสถานบันเทิงในจังหวัดเสี่ยง และเน้นปรับพฤติกรรมส่วนบุคคล และลดกิจกรรมการรวมตัวกัน คาดพบผู้ติดเชื้อต่อวัน ตั้งแต่ 378 - 857 ราย ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 593 ราย
กรณีที่ 5 ปิดสถานบันเทิงในจังหวัดเสี่ยง และเน้นปรับพฤติกรรมส่วนบุคคล ลดกิจกรรมการรวมตัวกัน และทำงานที่บ้าน คาดพบผู้ติดเชื้อต่อวัน ตั้งแต่ 303 - 483 ราย ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 391 ราย
"เมื่อมีมาตรการหลายๆ อย่างมารวมกัน จะช่วยควบคุมการแพร่เชื้อและการระบาดภายในประเทศไทยได้ ดังนั้นขอให้ทุกคนร่วมมือกัน โดยมีมาตรการสังคม คือ ลดการรวมตัว หลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามจังหวัด และร่วมค้นหาติดตามผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง มีมาตราการสาธารณสุข คือ คัดกรองเชิงรุก ดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างทั่วถึง และให้วัคซีนกับประชาชน มีมาตรการส่วนบุคคล คือ หมั่นล้างมือ สวมใส่หน้ากากอนามัย แสกนไทยชนะหมอชนะ เว้นระยะห่าง ส่วนบุคคลที่ไปในพื้นที่เสี่ยงให้กักกันตัวเองอย่างเคร่งครัด และมีมาตรการองค์กร คือ ทำงานที่บ้าน จัดประชุม หรือการเรียนแบบออนไลน์" นพ.โสภณ กล่าว
@ วัคซีนที่ไทยนำเข้ายังมีประสิทธิภาพเท่าเดิม แม้เจอสายพันธุ์อังกฤษ
ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่ไทยนำเข้ามาว่า วัคซีนซิโนแวค และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ต่างมีประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของโรคและป้องกันการเสียชีวิต 100% เหมือนกับสหรัฐอเมริกาที่ฉีดวัคซีนโมเดอร์นา และวัคซีนไฟเซอร์ รวมถึงวัคซีนชนิดอื่นๆ ทั่วโลก ที่มีประสิทธิภาพในอัตรา 100% เช่นเดียวกัน ดังนั้นขอให้ประชาชนมั่นใจในวัคซีนที่ไทยนำเข้ามาใช้ได้
สำหรับการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ถึงแม้ว่าเชื้อโควิดกลายพันธุ์ สายพันธ์อังกฤษ หรือ B.1.1.7. จะเป็นที่กังวลสำหรับทั่วโลก เนื่องจากเป็นการกลายพันธุ์ในส่วนที่จับกับพื้นผิวของเซลล์มนุษย์ โดยเฉพาะที่ Receptor ที่เรียกว่า ACE2 ทำให้เกิดการแพร่พันธุ์ได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งไม่มีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน
นอกจากนี้ ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า สายพันธุ์ที่อาจมีผลต่อประสิทธิภาพวัคซีน หนีไม่พ้นสายพันธุ์แอฟริกาใต้ และสายพันธุ์บราซิล เนื่องจาก 2 สายพันธุ์นี้ มีการเปลี่ยนแปลงของกรดอะมิโนในตำแหน่งสำคัญ โดยเฉพาะตำแหน่ง 484 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว จะทำให้ภูมิคุ้มกันที่เกิดกับวัคซีนเกาะและจับได้น้อยลง จึงอาจทำให้ประสิทธิภาพลดลงบ้าง แต่ยังป้องกันได้ จะเห็นได้ว่าวัคซีนที่มีการทดสอบใหม่ทดสอบในแอฟริกาใต้ อย่างวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน หรือ วัคซีนโนวาแวค เมื่อทดสอบในแอฟริกาใต้มีประสิทธิภาพจะลดลงเช่นกัน แต่ยังป้องกันความรุนแรงของโรคได้
"อย่างไรก็ตาม เราไม่อยากให้โควิดสายพันธุ์กลายพันธุ์เข้ามา เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญ คือ เราทุกคนต้องร่วมมือกัน อย่าการ์ดตก และเมื่อเรามีวัคซีน เราสามารถเคลียร์สายพันธุ์พื้นบ้านหรือสายพันธุ์อังกฤษออกไปได้หมดแล้ว หากเกิดมีใครติดเชื้อขึ้นมา เราจะตรวจง่ายขึ้นว่าเป็นสายพันธุ์ที่หลุดรอดมาหรือไม่ ซึ่งจะช่วยกำจัดหรือช่วยกันทำให้หมดไปได้" ศ.นพ.ยง กล่าว
ขณะที่สถานการณ์การฉีดวัคซีนทั่วโลก ศ.นพ.ยง กล่าว
ว่า ขณะนี้ฉีดไปแล้วมากกว่า 700 ล้านโดส ซึ่งถือว่ายังไม่เพียงพอ เนื่องจากประชากรทั่วโลกมีมากกว่า 7 พันล้านคน หากจะฉีดให้เพียงพอจะต้องฉีดให้ได้มากกว่า 1 หมื่นล้านโดส หรือครอบคลุมให้ได้ 5 พันล้านคน
"ปัจจุบันทั่วโลกฉีดได้ประมาณ 15 ล้านโดสต่อวัน ซึ่งต้องใช้เวลาในการฉีดถึง 650 วัน หรือ 2 ปี ถึงจะครบเป้าหมาย แต่ขณะนี้มีแนวโน้มทั่วโลกกำลังเร่งการฉีดเพิ่มเป็นวันละ 30 ล้านโดส ดังนั้นคาดว่าจะใช้เวลา 325 หรือประมาณ 1 ปี จะถึงเป้าหมาย" ศ.นพ.ยง กล่าว
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ฉีดมากที่สุด คือ อเมริกา และจีน แต่ประเทศที่ฉีดมากในประชากรหมู่บ้าน ได้แก่ ประเทศอิสราเอล โดยใช้วัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งฉีดไปมาก จนทำให้อุบัติการณ์การป่วยในประเทศลดลงมาก มีจำนวนคนไข้ต่อวันเหลือน้อยมากๆ และอัตราการเสียชีวิตลดลงเหลือไม่ถึงวันละ 10 ราย จากที่เคยสูงสุดมากกว่าวันละ 60 คน
ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า นั้น ถูกฉีดมากที่สุดที่อังกฤษ โดยเริ่มให้วัคซีนในระยะแรกในปริมาณมาก จนขณะนี้อังกฤษกำลังจะเปิดประเทศแล้ว ขณะที่ฝรั่งเศสและเยอรมัน แม้ฉีดวัคซีนหลายตัว แต่เมื่อได้ข่าวอาการข้างเคียงของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า พบว่ามีการหยุดฉีด ทำให้เห็นได้ชัดว่า ฝรั่งเศส และเยอรมันกำลังเกิดระลอกที่สาม
"ทุกอย่างมีความเสี่ยงหมด การฉีดวัคซีนอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้ มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดต่างๆได้ แต่จะเกิดน้อยมาก และมักเกิดในผู้มีอายุน้อยกว่า 55 ปี เพศหญิงที่อาจรับประทานยาเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน อังกฤษเขาจึงมองว่า ประโยชน์ที่ได้จากวัคซีนมีมากกว่าความเสี่ยงจากวัคซีน ดังนั้นในระดับหมู่มาก หากต้องการควบคุมโรคนี้ให้ได้ และต้องการลดอัตราการเสียชีวิต ลดการนอนในโรงพยาบาล จนผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล ซึ่งจะกระทบกับผู้ป่วยปกติ ด้วยเหตุนี้วัคซีนที่ใช้ในมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง เราต้องเดินหน้าฉีดวัคซีนต่อไปให้ได้มากที่สุด" ศ.นพ.ยง กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage