'คณะแพทยศาสตร์' จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ ชี้ความเห็นหมอธีระปมวัคซีนไทยมีคุณภาพต่ำ เป็นแค่ความเห็นส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวกับองค์กร ยันการนำเข้าวัคซีนของไทย จำเป็นต่อการ หยุดแพร่ระบาดของโรค ชี้เมืองไทยยังไม่พบอาการแพ้วัคซีน
................
สืบเนื่องจากที่ปรากฏเป็นข่าวว่า นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าวัคซีนต้านโควิดที่ไทยนำเข้ามา มีประสิทธิภาพต่ำ หรือคิดเป็น 2% ไปจนถึงการวิพากษ์วิจารณ์มาตรการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข จนทำให้เกิดประเด็นตอบโต้กันไปมา กับ นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นั้น (อ่านประกอบ:ขาดหลักวิชาการ สร้างความสับสน! โฆษก สธ.ฉะ'หมอธีระ'กล่าวหาวัคซีนไทยไร้ประสิทธิภาพ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า คณะแพย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภากาชาดไทย ได้ออกแถลงการณ์ในกรณีดังกล่าวว่า
"ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลทางการแพทย์เกี่ยวกับ สถานการณ์โควิด-19 รวมถึงเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง ทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอเรียนให้ทุกท่าน ทราบว่า ข้อมูลเหล่านั้นเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคลของอาจารย์ ท่านนั้นเพียงผู้เดียว มิใช่เป็นความเห็นทางวิชาการขององค์กรของ เรา และเรายังยืนยันที่จะเผยแพร่องค์ความรู้ทางวิชาการที่น่าเชื่อถือ จากผู้เชี่ยวชาญต่อสาธารณชน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้ คนไทยมีสุขภาพที่ดี ดังที่เราได้ปฏิบัติเสมอมาผ่านแหล่งข้อมูลหลัก ในนามองค์กรของเรา
ทั้งนี้เรายังสนับสนุนให้คนไทยทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีน ป้องกันโรคโควิด-19 โดยถ้วนหน้า เพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของ โรคโดยเร็วที่สุด"
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่าหลังจากที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ออกแถลงการณ์ออกมา ทางด้านของ นพ. ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร หน่วยโรคติดเชื้อ หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับ กรณีดังกล่าว และระบุถึงสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ณ เวลานี้ มีใจความว่า
วัคซีนเป็นอาวุธหนึ่งที่มนุษย์ใช้หยุดการระบาดของโรคติดเชื้อดังที่เห็นมาแล้วในปีพ.ศ. 2553 ที่มีการระบาดของ ไข้หวัดใหญ่2009 เป็นที่น่ายินดีว่ามีการคิดค้นผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพนําไปสู่ การเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรในประเทศต่างๆ เพื่อมุ่งหวังให้ลดอัตราการเจ็บป่วย การเสียชีวิตและนําไปสู่การควบคุม การระบาดของโรคนี้ได้ในอนาคตอันใกล้ ปัจจุบันมีวัคซีนหลายชนิดเมื่อผลจากการศึกษาในระยะที่ 3 พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อมากกว่าร้อยละ 50 ตามที่องค์การอนามัยโลกกําหนดได้ถูกอนุมัติให้นํามาใช้ในหลาย ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยก็มีการนําวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซเนก้าและซีโนฟารม์มาใช้ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกัน การติดเชื้อตามที่องค์การอนามัยโลกกําหนดและพบว่าผู้ที่รับการฉีดวัคซีนบางรายแม้มีการติดเชื้อก็พบว่าสามารถลด ความรุนแรงของโรคได้เช่น ลดการติดเชื้อรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้มากกว่าร้อยละ 90 แม้ว่าในปัจจุบัน เริ่มมีปัญหาการติดเชื้อจากเชื้อกลายพันธุ์ซึ่งกําลังเป็นปัญหาสําคัญของทั่วโลกเช่น สายพันธุ์ที่การระบาดในประเทศ อังกฤษ (เชื้อกลายพันธุ์ B.1.1.7)
วัคซีนที่ประเทศไทยนํามาใช้แม้ว่ามีความสามารถในการป้องกันโรคลดลงบ้างในการติด เชื้อชนิดกลายพันธุ์ดังกล่าวแต่ก็ยังมีประสิทธิภาพสามารถป้องกันโรคและการป่วยรุนแรงได้ ดังนั้นการเร่งการฉีดวัคซีนใน ประชากรกลุ่มเสี่ยง บุคลากรทางการแพทย์และคนทั่วไปโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการะบาดก็ยังต้องเร่งทําเพื่อนําไปสู่การหยุด การระบาดและลดจํานวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและลดการเสียชีวิต ส่วนปัญหาการแพ้จากการฉีด วัคซีนซึ่งพบได้มักเป็นการแพ้เฉพาะที่และไม่รุนแรง แม้มีรายงานการแพ้รุนแรงในต่างประเทศก็พบว่าน้อยมาก (พบน้อย กว่า 1-10 ต่อการฉีด 1,000,000 ครั้ง) และยังไม่มีรายงานพบในประเทศไทย ดังนั้นเมื่อพิจารณาถึงผลของประโยชน์ที่ได้ จากการฉีดวัคซีน เช่น ลดการติดเชื้อและการป่วยรุนแรงจากการติดเชื้อก็ยังมากกว่าความเสี่ยงจากการแพ้ที่เกิดขึ้น ดังนั้น ประชาชนควรเร่งเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกําหนดเพื่อช่วยหยุดการนํามาซึ่งการเจ็บป่วย จากการระบาดของโรคโควิด-19
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage