'ปลัดสธ.' ประชุมทางไกล 'สธ.จังหวัด-ผอ.โรงพยาบาล' ทั่วประเทศ แจงแผนปูพรมฉีดวัคซีน รองรับการเปิดประเทศในเดือนต.ค.นี้ ขณะที่ 'ครม.' รับทราบแผนเปิดประเทศในพื้นที่นำร่อง 6 พื้นที่ 1 เม.ย.นี้
.....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้บริหาร ประชุมทางไกลนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ เรื่องแผนการกระจายวัคซีนป้องกันโรคโควิด โดยได้แจ้งว่า ขณะนี้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ได้เห็นชอบการเปิดประเทศภายในเดือนต.ค.2564
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การเปิดประเทศเป็นไปอย่างปลอดภัย จำเป็นจะต้องมีการฉีดวัคซีนโควิดให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในระดับจังหวัดให้ได้ 50-60% ของประชากร โดยเฉพาะจังหวัดเป้าหมายการเดินทางของชาวต่างชาติ และจังหวัดที่อาจจะมีชาวต่างชาติเดินทางไป
ทั้งนี้ นพ.เกียรติภูมิ ระบุว่า สำหรับวิธีการกระจายและฉีดวัคซีนนั้น จะนำใช้หลัก 'สามเหลี่ยมขับเคลื่อนวัคซีน' ได้แก่ 1.หลัก Area ซึ่งจะมีการจัดลำดับพื้นที่ โดยเน้นอำเภอที่เป็นจุดเสี่ยงระบาดและมีนักท่องเที่ยว และฉีดวัคซีนให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรด่านหน้า เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้ครอบคลุมมากที่สุดก่อน แล้วจึงกระจายไปยังอำเภออื่นๆลดหลั่นลงไป
2.หลัก Setting หรือ สถานที่ฉีด ซึ่งจะมีจัดหาพื้นเพิ่มเติม เช่น โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือการออกหน่วยบริการ เพื่อการฉีดวัคซีนมีความครอบคลุมมากขึ้น ทั้งนี้ จะมีการกำหนดขั้นตอนการฉีดตามมาตรฐาน และเน้นการสังเกตอาการผู้ได้รับการฉีดวัคซีน 30 นาทีหลังฉีด และมีทีมแพทย์ดูแลเรื่องความปลอดภัย และ 3.หลัก Data หรือ การจัดทำและส่งต่อข้อมูลผ่านระบบไลน์ 'หมอพร้อม'
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวถึงแผนการฉีดวัคซีนซิโนแวคจำนวน 8 แสนโดส ซึ่งจะกระจายไปท้่วประเทศว่า การฉัดวัคซีนดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการฉีดวันที่ 1 เม.ย.2564 โดยแผนการฉีดวัคซีน ประกอบด้วย
1.จังหวัดเป้าหมาย 22 จังหวัด 6.4 แสนโดส แบ่งเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เพื่อควบคุมการระบาดของโรค 6 จังหวัด 3.5 แสนโดส, พื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 8 จังหวัด 2.4 แสนโดส โดยเน้นกลุ่มพนักงานโรงแรม พนักงานขับรถสาธารณะ เป็นต้น และพื้นที่ชายแดนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 8 จังหวัด 5 หมื่นโดส เน้นผู้ที่ทำงานที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ปฏิบัติในสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และสถานกักตัว
2.จังหวัดอื่นๆที่เหลือ 1.6 แสนโดส ซึ่งตามแผนจะเริ่มซักซ้อมความพร้อมทุกจังหวัด ก่อนเริ่มฉีดวัคซีนจำนวนมากในช่วงเดือนมิ.ย.เป็นต้นไป โดยกระจายให้จังหวัดขนาดเล็กที่ประชากรน้อยกว่า 1 ล้านคน จำนวน 800 โดส, จังหวัดขนาดใหญ่ ประชากร 1 -1.5 ล้านคน จำนวน 1,000 โดส และจังหวัดขนาดใหญ่พิเศษมีประชากรมากกว่า 1.5 ล้านคน จำนวน 1,200 โดส โดยจะเน้นการฉีดในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าก่อน
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวด้วยว่า วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า 1 ขวด ตามปกติสามารถฉีดได้ 10 โดส โดสละ 0.5 มิลลิลิตร เนื่องจากผู้ผลิตได้บรรจุวัคซีนมาเผื่อ โดย 1 ขวดมีวัคซีนปริมาณ 6.5 มิลลิลิตร หากบริหารจัดการการฉีดอย่างดีอาจฉีดได้ 11-12 โดสต่อขวด จะทำให้ฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมประชาชนมากยิ่งขึ้น
ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม. รับทราบผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) โดยในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่่ยวนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2564 เป็นต้นไป ผู้ที่เดินทางไปยังภูเก็ต กระบี่ พังงา สมุย พัทยา และเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการฉีคซีนเรียบร้อยแล้วและมีใบรับรองการฉีดวัคซีน (vaccine certificate) จะต้องกักตัวอยู่ในโรงแรมเพียง 7 วันเท่านั้น จึงจะออกจากโรงแรมได้
ขณะที่ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2564 เป็นต้นไป สำหรับในพื้นที่จ.ภูเก็ต ผู้ที่ฉีดวัคซีนมาแล้ว 2 โดส หรือได้รับวัคซีนครบตามจำนวน จะไม่ต้องกักตัวในโรงแรม ส่วนในพื้นที่อื่นๆ คือ กระบี่ พังงา สมุย พัทยา และเชียงใหม่ ยังต้องกักตัวในโรงแรม 7 วัน จากนั้นตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2564 เป็นต้นไป ผู้ที่เดินทางไปยังพื้นที่ภูเก็ต กระบี่ พังงา สมุย พัทยา และเชียงใหม่ ไม่มีความจำเป็นต้องกักตัว
"เมื่อเริ่มต้นปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 เป็นต้นไป ใครที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย และมี vaccine certificate จะไม่ต้องเข้ากักตัวอีกต่อไป" นายอนุชากล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage