นายกฯ ยืนยัน ไม่ผลักดันชาวเมียนมากลับประเทศ หากยังเกิดการสู้รบกันภายใน พร้อมดูแลตามหลักมนุษยธรรม ขณะที่ ‘ดอน’ เผย เตรียมประชุมอาเซียนถกสถานการณ์เมียนมา เม.ย.นี้
-----------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีการทะลักเข้าประเทศของชาวเมียนมา หลังเกิดความรุนแรงสืบเนื่องจากเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา ว่า ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่การทะลักเข้ามา ส่วนที่มีภาพปรากฏออกมา เพราะสื่อบางคนเอามาเผยแพร่ ยืนยันว่ามีการเจรจาพูดคุย หลายคนเข้ามาในหลายหมู่บ้านนำร่อง เมื่อเข้ามาก็ต้องชี้แจงและสอบถามว่าเกิดปัญหาอะไรในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ ซึ่งเมื่อบอกว่าไม่มีปัญหาจึงมีการเจรจาให้กลับประเทศไป โดยไม่ใช่การเอาปืนผาหน้าไม้ไปจี้ไล่ให้เขาออกจากประเทศไป นี่คือเรื่องของมนุษยธรรม ที่จะต้องเดินหน้าแก้ไขไปด้วยกัน พร้อมระบุว่าประเทศไทยมีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวมาหลายปี และมีศูนย์อพยพ 9 ศูนย์ ซึ่งมีผู้อพยพกว่า 400,000 คน และอยู่มา 10 - 20 ปี ซึ่งวันนี้เหลืออยู่ 100,000 กว่าคนที่ต้องดูแล ทั้งนี้เดิมเคยมีการสัญญาว่าจะส่งตัวกลับประเทศแต่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น จึงต้องหยุดการส่งกลับไว้ก่อน พร้อมกับต้องเตรียมการรองรับผู้ที่จะอพยพเพิ่มเติม ซึ่งต้องดูแลไปตามหลักมนุษยธรรม
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ไม่สามารถผลักดันกลับประเทศได้ หากภายในประเทศเมียนมายังมีการสู้รบกันอยู่ ทั้งนี้การอนุญาตให้คนเข้าประเทศเป็นเรื่องของความมั่นคง จะไปป่าวประกาศว่าจะรับคนเข้าประเทศใช่เรื่องหรือไม่ แต่หากเข้ามาก็ต้องมีการเตรียมการต่อไป และหากจำเป็นเราก็ต้องดูแลเขา ขออย่าเปิดประเด็นในเรื่องนี้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้ำว่า เรื่องนี้เป็นความจำเป็นเนื่องจากเป็นเรื่องเขตแดนไทย-เมียนมา การจะเข้าประเทศต้องถูกกฎหมาย แต่สถานการณ์สู้รบ ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หรือหากเกิดภัยพิบัติ เกิดการบาดเจ็บล้มตาย แล้วเข้าประเทศมาก็ต้องหามาตรการรองรับ ซึ่งตนได้เตรียมเรื่องดังกล่าวไว้เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามไม่มีการผลักดันออกนอกประเทศหากกลุ่มคนเหล่านั้นได้รับความเดือดร้อนจริงๆ แต่การที่จะไปประกาศว่ายินดีรับใครเข้ามามันไม่ใช่ รวมไปถึงตนได้สั่งการผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงกลาโหม ซึ่งเขาก็มีวิธีการดำเนินการของเขา เรื่องอะไรที่อันตรายขออย่าเพิ่งกระพรือข่าว
ส่วนกรณีที่จะต้องมีการประสานกับ UNHCR หรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่าไม่ต้องมีการประสานเนื่องจากหน่วยงานดังกล่าวเข้ามาอยู่ในไทยอยู่แล้ว แล้วไม่สามารถผลักดันกลุ่มคนเหล่านั้นไปยังประเทศที่ 3 ได้
@ ประชุมอาเซียนถกสถานการณ์เมียนมา เม.ย.นี้
ขณะที่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า จะมีการประชุมอาเซียนอีกรอบในต้นเดือน เม.ย.และจะมีประชุมสุดยอดอาเซียนในเรื่องนี้ด้วย แต่ขอรอดูก่อนในเดือน เม.ย.นี้ก่อน ส่วนกรณีมีกระแสข่าวฝั่งไทยผลักดันชาวเมียนมากลับประเทศตามที่เป็นข่าวนั้น เป็นไปตามข่าวที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ ซึ่งตามมนุษยธรรม หากเดือดร้อนเมื่อเลยจากจุดนี้ไปแล้วก็ต้องกลับไป เพราะบ้านเราไม่สามารถรับคนได้มากมาย และทุกประเทศเป็นเช่นนี้ เราถือว่าประเทศใดก็ตามที่มีปัญหาในเรื่องของผู้ลี้ภัยเข้ามาก็อาจได้รับการดูแลในช่วงระยะหนึ่ง เมื่อผ่านพ้นความจำเป็นด้านมนุษยธรรมแล้วก็กลับบ้านเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ยืนยันว่าเรารับคนแต่ไม่ถึงกับตั้งศูนย์ขึ้นมาดูแล เป็นแค่การดูแลชั่วคราว ส่วนผู้ลี้ภัยจะมีจำนวนเท่าใดนั้น ต้องสอบถามจากในพื้นที่ แต่นี้คือหลักการ ทั้งนี้ ขอยกตัวอย่างประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของเมียนมาอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งอินเดียก็ปฏิเสธไม่มีใครเข้าไปเช่นกัน ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติของทุกประเทศ ไม่ใช่เฉพาะในบริเวณนี้เท่านั้น
นายดอน กล่าวยอมรับว่าได้มีการพูดคุยกับผู้ใหญ่ในเมียนมา หลังจากวันที่มีผู้ลี้ภัยเข้ามาและพูดคุยกันต่อ เพื่อหาทางให้เหตุการณ์ในบ้านเมืองของเขาเรียบร้อยโดยเร็ว เพราะสถานการณ์ที่เป็นอยู่มีหลายปัจจัยทำให้รุนแรง แต่เราก็พยายามพูดคุยบอกเขาไปว่าต้องลดความรุนแรง เพื่อลดปัญหาทั้งหมด ซึ่งทางเมียนมามาก็รับทราบ แต่จะทำได้แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ รวมถึงได้ประสานไปยังประธานอาเซียนคือประเทศบรูไนในหลายเรื่องรวมถึงการจัดการประชุมอาเซียนด้วย ซึ่งยังไม่ขอลงรายละเอียด เพราะพูดตอนนี้ไม่ได้ แต่ประเด็นหลักคือต้องหาทางทำให้เกิดสันติสุขในเมียนมาสู่ประชาชนเมียนมาและให้อาเซียนกลับมาเป็นภูมิภาคที่สงบ นี่คือเป้าหมายนี่คือเป้าหมายและกำลังดำเนินการตามนั้น
นายดอน กล่าวย้ำว่า ไม่กังวลที่จะแสดงสถานะทางการทูตฯของไทยต่อเมียนมา และเขาก็พยายามรับมือกับเหตุการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ แต่คงไม่สามารถลดความรุนแรงได้ในทันที ซึ่งเราก็รับทราบแต่ก็พยายามบอกเขาให้หาทางคลี่คลายความรุนแรง เพราะสิ่งที่ออกมาเป็นข่าวทั้งความเสียหายการล้มตายไม่เป็นประโยชน์ต่อทั้งเมียนมาและอาเซียน รวมถึงประเทศไทยด้วยเพราะจะบานปลายและเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าเราจะรับได้เราจะรับได้ และเหตุการณ์ในเมียนมาไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คนไทยยังสามารถเดินทางทางเครื่องบินได้อยู่ตราบใดที่ยังมีเที่ยวบิน
@ 'อนุพงษ์' ยันช่วยตามหลักสิทธิมนุษยชน
ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ได้ประสานกับฝ่ายความมั่นคงที่เตรียมรับสถานการณ์อยู่ในขณะนี้แล้ว โดยต้องช่วยเหลือขั้นต้นตามความเหมาะสม แต่ถ้าอยู่บริเวณชายแดนเมียนมาได้ก็ให้อยู่ตรงนั้นก่อน หากมีเหตุอะไรเกิดขึ้นก็ต้องดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชนไปก่อน และจะมีองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาช่วยดู
ส่วนต้องเฝ้าระวังพื้นที่จังหวัดอื่นที่มีชายแดนติดกับเมียนมาเพิ่มเติมหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีสั่งการไปแล้วให้กองกำลังตามแนวชายแดนดูแลอยู่ ส่วนประเทศไทยยังดูแลผู้อพยพเหล่านี้ได้หรือจะต้องประสานงานให้หน่วยงานต่างๆเข้ามาช่วยดูแลหรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในขั้นต้น เราต้องดูแลตัวเองก่อน จากนั้นดูสถานการณ์ในวันข้างหน้าว่าจะต้องประสานหน่วยงานอื่นหรือไม่
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage