ครม.ไฟเขียวตั้ง 'กองทุนบำเหน็จแห่งชาติ' กำหนด 'ลูกจ้าง' ออมภาคบังคับ ให้จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 3-10% ของค่าจ้าง ส่วน 'นายจ้าง' ให้จ่ายสมทบในอัตราเท่ากัน หวังให้ลูกจ้างมีเงินบำเหน็จบำนาญใช้ในยามเกษียณ
.......................
เมื่อวันที่ 30 มี.ค. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ…. โดยสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ และมีสถานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ
สำหรับวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ จะทำหน้าที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ สำหรับแรงงานที่ในระบบทุกประเภททั้งลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวของราชการ พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่องค์กรมหาชน และพนักงานในรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งนี้ แรงงานที่เป็นสมาชิกกองทุนฯจะได้รับผลประโยชน์ในรูปของการจ่ายบำเหน็จหรือบำนาญ
ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดให้ลูกจ้างที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 60 ปี ที่ไม่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องเป็นสมาชิกของ กบช. และกำหนดให้ลูกจ้างและนายจ้างต้องส่งเงินสมทบแต่ละฝ่าย โดยกำหนดเพดานค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 6 หมื่นบาทต่อเดือน
ได้แก่ หากเป็นลูกจ้างช่วงปีที่ 1-3 ลูกจ้างและนายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 3% ของค่าจ้าง ส่วนปีที่ 4-6 ลูกจ้างและนายจ้างจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 5% ของค่าจ้าง ปีที่ 7-9 ลูกจ้างและนายจ้างจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 7 ของค่าจ้าง และปีที่ 10 เป็นต้นไป ลูกจ้างและนายจ้างจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 7-10% ของค่าจ้าง อย่างไรก็ตาม กรณีที่ลูกจ้างเงินเดือนน้อยกว่า 1 หมื่นบาท ให้นายจ้างส่งเงินสมทบเพียงฝ่ายเดียว
น.ส.รัชดา กล่าวว่า การรับผลประโยชน์จาก กบช. จะรับได้เมื่อสมาชิกมีอายุครบ 60 ปี โดยสามารถเลือกได้ว่าจะรับเป็นบำเหร็จหรือบำนาญรายเดือนเป็นเวลา 20 ปี ซึ่งกรณีเลือกบำเหน็จ จะได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินสะสมที่ลูกจ้างส่ง เงินสมทบจากนายจ้าง รวมผลตอบแทน ส่วนกรณีเลือกบำนาญ แล้วต้องการเปลี่ยนเป็นบำเหน็จก็สามารถทำได้ เช่น รับบำนาญแล้ว 5 ปี ต้องเปลี่ยนเป็นบำเหน็จ จะได้รับเงินเท่ากับเงินบำนาญ 15 ปีที่เหลือ
นอกจากนี้ กรณีที่ลูกจ้างทุพพลภาพหรือเจ็บป่วยจนใกล้ถึงแก่ชีวิตก่อนครบอายุ 60 ปีบริบูรณ์นั้น เมื่อออกจากงานแล้ว จะขอรับเงินสะสม เงินสมทบ บางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้
"แม้ว่าการจัดตั้ง กบช. จะทำให้รายได้รายเดือนของลูกจ้างลดลงและเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้นายจ้าง แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ลูกจ้างทำให้มีหลักประกันรายได้หลังเกษียณ ทำให้นายจ้างมีการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมแก่ลูกจ้าง และการออมภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการลงทุนภายในประเทศ อีกทั้งช่วยบรรเทาภาระงบประมาณการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุในอนาคต" น.ส.รัชดากล่าว
น.ส.รัชดา กล่าวว่า ครม.ยังเห็นชอบร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (คนบ.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ โดย คนบ.มีอำนาจหน้าที่จัดทำนโยบาย แผนแม่บท และแนวทางการพัฒนาระบบบำเหน็จบำนาญในภาพรวมของประเทศเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
"ปัจจุบันระบบบำเหน็จบำนาญทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่ในการกำกับดูแลของหลายหน่วยงาน จนเกิดความซ้ำซ้อนทั้งการดำเนินงาน งบประมาณ และบุคลากร จึงกำหนดให้มี คนบ. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่จัดทำนโยบาย แผนแม่บท และแนวทางการพัฒนาระบบบำเหน็จบำนาญในภาพรวมของประเทศ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน" น.ส.รัชดากล่าว
น.ส.รัชดา กล่าวว่า ครม.มีมติรับทราบสถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทยปี 2562 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ โดยพบว่า ประชากรสูงอายุของไทยหรือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวน 11.6 ล้านคน หรือคิดเป็น 17.5% ของประชากรทั้งประเทศ และในปี 2576 คาดว่าสัดส่วนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 28% ของประชากรทั้งประเทศ ขณะที่ปี 2562 มีเด็กเกิดใหม่ลดลงเหลือ 6.1 แสนคนเท่านั้น
ทั้งนี้ พม.มีข้อเสนอแนะว่า ในระยะยาวรัฐบาลควรทบทวนเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการของรัฐผ่านโครงการต่างๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนของงบประมาณ และปรับกระบวนทัศน์ของสังคมเกี่ยวกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้ที่มีอายุ 60 เท่านั้น แต่ต้องรวมถึงผู้ที่อยู่ในวัยทำงานด้วย
อ่านประกอบ :
ไขปริศนา! เหตุใดตัวเลขประชากรไทยลดลง 4 แสนรายในรอบ 16 ปี
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage