ละเอียด! เปิดผลไต่สวน ‘อานนท์ นำภา-พวก’ อ้างถูกคุกคามในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ศาลอาญาเชื่อเป็นการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จริง มีบุคลากรทางการแพทย์-พกอุปกรณ์ไปด้วย ไม่มีลักษณะข่มขู่ แต่เตือนต้องตรวจในเวลาเหมาะสม ขอให้ จนท.เรือนจำปฏิบัติด้วยความระมัดระวัง
...............................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2564 ศาลอาญา มีคำสั่งกรณีที่นายอานนท์ นำภา แกนนำคณะราษฎร ยื่นคำร้องขอไต่สวนเรื่องการคุ้มครองสิทธิในระหว่างที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
โดยประเด็นนี้ศาลเห็นว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 บัญญัติรับรองสิทธิบุคคลที่ยกบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิของรัฐธรรมนูญขึ้นอ้างในศาลได้ เป็นบทบัญญัติให้ศาลตรวจสอบคุ้มครองให้การคุมขังเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เมื่อผู้ร้อง (นายอานนท์) ในฐานะจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาเกี่ยวกับการถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และกฎหมายอื่น ถูกคุมขังตามหมายขังระหว่างการพิจารณา เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2564 โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว การขังระหว่างพิจารณาเป็นขั้นตอนกระบวนการพิจารณาคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 98
แม้ผู้ร้องกับพวกจะอยู่ภายใต้การคุมขังของเรือนจำพิเศษฯ โดย พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 กำหนดให้เรือนจำเป็นสถานที่ใช้ในการควบคุม ขัง หรือจำคุกผู้ต้องขัง เมื่อผู้ร้องเป็นจำเลยที่ขังตามหมายของศาล เจ้าพนักงานเรือนจำสามารถใช้อำนาจควบคุมผู้ต้องขังได้เพียงเท่าที่จำเป็น และเหมาะสมกับพฤติการณ์เพื่อจัดการบังคับให้เป็นไปตามหมายขังให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย เป็นกระบวนการหนึ่งของขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ศาลจึงมีหน้าที่ประการหนึ่งที่จะต้องดูแลผู้ต้องขังให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องดูแลผู้ต้องขังตามหมายของศาลให้ได้รับการคุ้มครอง สิทธิตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย หากศาลละทิ้งหน้าที่นี้ย่อมจะทำให้ขาดองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักนิติธรรม
ดังนั้นเมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องอ้างว่า อาจะได้รับอันตรายแก่ชีวิตและร่างกาย ศาลอาญาซึ่งเป็นผู้ออกหมายขังจำเลยไว้ระหว่างพิจารณา จึงสามารถรับคำร้องและดำเนินการไต่สวน รวมทั้งมีอำนาจเบิกตัวผู้ร้องและหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องอื่น มาดำเนินการไต่สวนให้ทราบถึงพฤติการณ์และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ตามคำร้องได้
ปัญหาที่ต้องพิจารณาประการต่อไปว่า ผู้ร้องถูกข่มขู่ คุกคาม อันอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและร่างกายตามร้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนผู้ร้อง นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) นายภาณุพงศ์ จาดนอก (ไมค์) รวมถึงนายอโนทัย ทั้งรักษ์ รักษาการผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และ นพ.วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ รวมถึงเอกสารประกอบ และมีการเปิดภาพเคลื่อนไหวที่บันทึกภาพและเสียงจากกล้องวงจรปิดบริเวณห้องขัง ได้ความว่า เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2564 เวลาประมาณ 18.00 น. เจ้าพนักงานเรือนจำย้าย ไผ่ ดาวดิน ไมค์ และนายปิยรัฐ จงเทพ (โตโต้) จากเรือนจำพิเศษธนบุรี มาคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตามคำสั่งศาลอาญา โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯนำบุคคลทั้ง 3 มาคุมขังไว้ที่ในแดน 2 ห้องขัง 27 รวมกับผู้ร้อง (นายอานนท์) และผู้ต้องขังอื่นอีก 9 ราย รวมทั้งสิ้น 16 ราย
นายอโนทัย ทั้งรักษ์ มีความเห็นว่า ไผ่ ดาวดิน ไมค์ และนายปิยรัฐ มาจากพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดของโควิด-19 ควรให้แยกกักกันโรคต่างหากจากผู้ต้องขังอื่น อันเป็นแนวทางปฏิบัติและมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของกรมราชทัณฑ์ จึงมีคำสั่งให้นำตัวบุคคลทั้ง 3 ไปคุมขังที่เรือนพยาบาล ต่อมาเวลา 21.30 น. มีการดำเนินการตามแนวทางว่าด้วยระเบียบของกรมราชทัณฑ์ แจ้งให้ผู้ร้องกับพวกทราบว่า จะนำไผ่ ดาวดิน ไมค์ และโตโต้ ไปแยกคุมขังไว้ที่เรือนพยาบาล แต่ผู้ร้องกับพวกไม่ยินยอม
กระทั่งเวลา 21.46 น. เจ้าพนักงานเรือนจำทั้งหมดกลับออกไป นายอโนทัยจึงรายงานให้ นพ.วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ทราบว่า ไม่สามารถแยกตัวบุคคลทั้ง 3 ไปกักโรคยังเรือนพยาบาลได้ และไม่ประสงค์จะดำเนินมาตรการในเชิงบังคับแก่บุคคลทั้ง 3
นพ.วีระกิตติ์ มีความเห็นให้นำวิธีทางการแพทย์เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 มาใช้เป็นมาตรการในการดำเนินการดังกล่าว โดยประสานงานไปยังโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ให้จัดทีมบุคลากรทางการแพทย์ และจัดหาอุปกรณ์ตรวจหาสารคัดหลั่งจากโพรงจมูก เพื่อหาเชื้อโควิด-19 มายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และสั่งให้เจ้าพนักงานเรือนจำในกลุ่มเรือนจำลาดยาว จัดทีมมาสนธิกำลังร่วมปฏิบัติการ โดยมีเจ้าพนักงานเรือนจำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 6 ราย แต่งกายด้วยเครื่องแบบสีกากี 4 ราย แต่งกายด้วยเสื้อคลุมสีดำ กางเกงสีกากี 2 ราย และทีมบุคลากรทางการแพทย์ 6 ราย แต่งกายด้วยเครื่องแบบสีขาว ชาย 2 ราย และหญิง 4 ราย
ต่อมาเวลาประมาณ 23.34 น. เจ้าพนักงานเรือนจำ และบุคลากรทางการแพทย์เดินทางมาถึงเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พร้อมกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปยังแดน 2 ห้องขังหมายเลข 7 แจ้งว่า จะขอตรวจเชื้อโควิด-19 จากผู้ร้องกับพวก โดย นพ.วีระกิตติ์ อำนวยการปฏิบัติงานอยู่ภายในห้องควบคุมการถ่ายทอดภาพเคลื่อนไหว จากกล้องวงจรปิดภายในแดน 2 กระทั่ง 23.34 น. แต่ผู้ร้องกับพวกไม่ยินยอม เจ้าพนักงานเรือนจำและบุคลาการทางการแพทย์ทั้งหมดจึงกลับออกไป
กระทั่งเวลา 00.05 น. ของวันที่ 16 มี.ค. 2564 เจ้าพนักงานเรือนจำและบุคลการทางการแพทย์ชุดเดิม กลับมายังห้องขังหมายเลข 7 อีกครั้ง พร้อมชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 และชุด PPE รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ แจ้งว่าให้ผู้ต้องขังภายในห้องขังที่ 7 ทุกราย เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ผู้ร้องกับพวกทั้ง 7 ยังคงปฏิเสธ โดยแจ้งว่าจะขอเข้ารับการตรวจในช่วงเช้า ส่วนผู้ต้องขังอื่นอีก 9 ราย ยินยอมเข้ารับการตรวจ
จากนั้นจึงนำตัวผู้ต้องขัง 9 ราย จัดเก็บสารคัดหลั่งโพรงจมูกเพื่อหาเชื้อโควิด-19 จนแล้วเสร็จเมื่อ 00.43 น. เจ้าพนักงานเรือนจำและบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมดกลับออกไป นพ.วีระกิตติ์ สั่งการเจ้าพนักงานเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเจ้าพนักงานเรือนจำกลุ่มลาดยาวที่มาสนธิกำลัง ให้ดำเนินการแยกตัวผู้ต้องขังทั้ง 9 ราย หาเชื้อโควิด-19 แล้วออกจากผู้ร้องกับพวก
ต่อมาเวลา 02.11 น. เจ้าพนักงานเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แต่งกายด้วยชุดเครื่องแบบสีกากี 6 ราย และเจ้าพนักงานเรือนจำกลุ่มลาดยาวแต่งกายด้วยชุดปฏิบัติการพิเศษสีกรมท่า 6 ราย กลับมายังห้องขังหมายเลข 7 อีกครั้ง แล้วแจ้งผู้ร้องกับพวกว่า จะนำตัวผู้ร้องกับพวกไปแยกคุมขังไว้ที่เรือนพยาบาล แต่ผู้ต้องขังทั้ง 7 รายไม่ยินยอม มีการเจรจาจนถึง 02.19 น. เมื่อไม่สามารถย้ายตัวผู้ร้องกับพวกไปคุมขังยังเรือนพยาบาลได้ เจ้าพนักงานเรือนจำจึงเปลี่ยนวิธีดำเนินการโดยนำตัวผู้ต้องขัง 9 รายที่ได้รับการตรวจหาเชื้อแล้วไปคุมขังยังอีกห้องอื่นในแดน 2 แทน นพ.วีระกิตติ์ พร้อมเจ้าพนักงานเรือนจำพิเศษกลุ่มลาดยาว จึงออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
ศาลเห็นว่า ช่วงเวลาดังกล่าว เจ้าพนักงานเรือนจำเข้าพูดคุยกับผู้ร้องและพวกอยู่หลายครั้ง ทุกครั้งต่างกระทำโดยมิได้มีท่าทีข่มขู่ คุกคาม หรือใช้ความรุนแรง ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ที่เดินทางไปพร้อมกับ นพ.วีระกิตติ์ ล้วนแต่งกายด้วยเครื่องแบบทางการแพทย์ และเป็นเพศหญิงถึง 4 ราย มีการจัดเตรียมชุดเก็บสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูก ชุด PPE อันเป็นอุปกรณ์ใช้หาเชื้อโควิด-19 เข้าไปภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
เชื่อว่า การอำนวยการปฏิบัติงานของ นพ.วีระกิตติ์ เป็นการดำเนินการเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 และต้องการแยกตัว ไผ่ ดาวดิน ไมค์ และโตโต้ ไปคุมขังในสถานที่อื่น โดยมิได้มีความมุ่งหมายจะข่มขู่ คุกคาม หรือทำอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของผู้ร้องกับพวก
อย่างไรก็ดีผู้ร้องกับพวกเป็นบุคคลที่ถูกคุมขังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี ถูกจำกัดเสรีภาพในร่างกายบางประการ มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้ผู้ต้องขังหลบหนี ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่ออันตรายประการอื่น ผู้ร้องกับพวกและผู้ต้องขังอื่นยังคงเป็นพลเมืองไทย ย่อมได้รับความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ คงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเป็นสิทธิที่ถือติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด ครบถ้วน สมบูรณ์ ทุกประการ อย่างเท่าเทียมเฉกเช่นเดียวกับปวงชนชาวไทยทั้งปวง การนอนหลับพักผ่อนเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งในการดำรงชีพและดำเนินชีวิตอันเป็นปกติของบุคคลทั่วไป
เมื่อเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีมาตรการปิดโทรทัศน์ในช่วงเวลา 21.30 น. อันเป็นสัญลักษณ์แห่งนัยยะว่าถึงช่วงเวลาในการพักผ่อน เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯจึงต้องยึดถือปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนที่ดำเนินมา โดยจัดให้ผู้ต้องขังได้มีช่วงเวลาพักผ่อนที่เหมาะสมเพียงพอ ไม่ถูกล่วงละเมิดเกินสมควร ผู้ร้องกับพวกในฐานะเป็นผู้ต้องขังคนหนึ่ง ย่อมต้องได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ต้องขังอื่น การเข้าตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นการกระทำโดยไม่คำนึงถึงสิทธิของผู้ต้องขังอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษยชนที่นานอารยประเทศให้การรับรองและคุ้มครอง การดำเนินการตรวจร่างกายผู้ต้องขัง หรือย้ายสถานที่คุมขัง หรือกระทำการใด ๆ กรมราชทัณฑ์จึงต้องดำเนินการในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม สมควร และเป็นไปตามระเบียบและแนวทางปฏิบัติ ไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิขั้นพื้นฐานในการใช้ชีวิตในฐานะผู้ต้องขัง
กล่าวโดยสรุป ศาลเห็นว่า การดำเนินการของเจ้าพนักงาน เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังอันกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องกับพวกเท่าที่ควร และเห็นควรให้เจ้าพนักงานเรือนจำ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่โดยใช้ความระมัดระวังเพื่อให้ผู้ร้องกับพวกได้รับการคุ้มครองตามสิทธิที่กฎหมายรับรอง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage